×

จะมีผลกระทบอะไรกับอังกฤษบ้าง หากเกิด No-deal Brexit

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2020
  • LOADING...
จะมีผลกระทบอะไรกับอังกฤษบ้าง หากเกิด No-deal Brexit

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • หากท้ายที่สุดแล้วสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ทันเส้นตายวันที่ 31 ธันวาคม (ซึ่งมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น) จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ โดยอาจทำอังกฤษสูญงาน 300,000 ตำแหน่งในปี 2021 และดันราคาอาหารพุ่ง ซึ่งนี่เป็นเพียงผลกระทบส่วนหนึ่งเท่านั้น  

ในขณะที่การเจรจาข้อตกลงการค้าหลัง Brexit เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ต้องตัดสินใจว่าจะยังคงยึดมั่นกับการทวงอธิปไตยคืนให้กับอังกฤษตามที่เขาเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ หรือจะยอมละทิ้งอุดมการณ์ และอาจหมายรวมถึงศักดิ์ศรีของตนเอง เพื่อรักษาตำแหน่งงานและเศรษฐกิจอังกฤษให้อยู่รอด

 

การเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) ส่อแววล่มอีกครั้ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถแก้ไขปมขัดแย้งที่สำคัญ 3 จุด ได้แก่ สิทธิในการทำประมง ความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับภาคธุรกิจ และวิธีการการระงับข้อพิพาท ซึ่งจอห์นสันจะต้องตัดสินใจว่าการยืนกระต่ายขาเดียวเพื่อรักษาอธิปไตยของอังกฤษในทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวนั้น คุ้มค่าหรือไม่กับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่จะตามมาหากการเจรจาการค้าล้มเหลว และอังกฤษต้องออกจาก EU ไปแบบไม่มีข้อตกลง หรือที่เรียกว่า No-deal Brexit

 

บริษัทของอังกฤษจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะออกจากสหภาพยุโรปแบบมีหรือไม่มีข้อตกลง แต่การออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงการค้าจะเลวร้ายกว่าจนอาจถึงขั้นหายนะ เพราะจะทำให้อังกฤษต้องเสียภาษีสินค้าและบริการ ตลอดจนเผชิญอุปสรรคอื่นๆ ในการทำการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยจำนวนประชากรรวมกันราว 450 ล้านคน

 

บริษัทอังกฤษซึ่งย่ำแย่อยู่แล้วจากสถานการณ์โควิด-19 จะสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงตลาด EU แบบปลอดภาษีและปลอดโควตา โดยในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมดของอังกฤษ เกือบครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกไปยัง EU ขณะที่สินค้านำเข้าก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน 

 

สำหรับสหภาพยุโรปนั้น อังกฤษมีความสำคัญน้อยกว่า โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัย Ifo Institute ของเยอรมนี เผยว่า อังกฤษมีสัดส่วนคิดเป็นเพียง 4% ของการส่งออกของ EU ในปี 2019 และ 6% สำหรับการนำเข้า 

 

“Brexit ไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย แต่อังกฤษจะสูญเสียมากกว่ามาก” ลิซานดรา ฟลาช ผู้อำนวยการ Ifo Center for International Economics กล่าวในแถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

  • กระทบหนัก เสี่ยงตกงานนับแสน

การลงประชามติเลือกถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2016 ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากในแง่ของอนาคตทางการค้ากับสหภาพยุโรป ทำให้การลงทุนเข้าสู่อังกฤษลดลง และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไปอีกนานหลายปี 

 

สำนักงบประมาณของอังกฤษ หรือ Office for Budget Responsibility (OBR) ซึ่งเป็นหน่วยงานคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับรัฐบาล ประมาณการในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า แม้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ แต่คาดว่าความสัมพันธ์ทางการค้าหลัง Brexit จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอังกฤษในระยะยาวที่ราว 4% เมื่อเทียบกับการอยู่ใน EU 

 

แต่การออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลงจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่า โดยจะทำให้ GDP ลดลงไปอีก 2% ในปี 2021 หรือราว 4 หมื่นล้านปอนด์ (5.3 หมื่นล้านดอลลาร์) และอาจเป็นเหตุให้ประชาชนมากกว่า 300,000 คนต้องตกงานภายในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า จากการคาดการณ์ของ OBR

 

สถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมอังกฤษ ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตแรงงานอยู่แล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจยังประสบกับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 300 ปีอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

“ผลกระทบระยะยาวของ No-deal Brexit จะใหญ่กว่าผลกระทบระยะยาวของโควิด-19” แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวต่อรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้ว 

  • ผู้ผลิตรถยนต์และเกษตรกรอ่วม

การสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่านในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 อาจส่งผลให้การดำเนินงานและซัพพลายเชนหยุดชะงัก โดยสมาคมค้าปลีกอังกฤษเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า ความล่าช้าในการส่งออกอาหารข้ามพรมแดนหลักนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลัง Brexit

 

แม้อังกฤษและ EU จะบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ในที่สุด แต่ถึงกระนั้นสินค้าต่างๆ จะต้องผ่านกระบวนการทางศุลกากรที่ยุ่งยาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของอังกฤษคิดเป็นมูลค่า 7.5 พันล้านปอนด์ (1.05 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อปี ในการสำแดงสินค้านำเข้าและส่งออก 

 

กระบวนการทางศุลกากรยังอาจทำให้การข้ามพรมแดนล่าช้า ซึ่งจะทำให้ซัพพลายเชนอาหารและการผลิตประสบกับความวุ่นวาย และสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจหลายพันรายที่พึ่งพาการส่งสินค้าแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Times) ดังนั้น เพื่อไม่ให้ขัดขวางการจัดส่งสินค้าที่จำเป็น รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบที่ด่าน แต่บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมก็ยังคงออกมาเตือนถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา 

 

โดยความล้มเหลวในการเจรจาและบรรลุข้อตกลงการค้า อาจทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้ว ยิ่งแย่ไปกันใหญ่

 

สมาคมผู้ผลิตและผู้ค้ายานยนต์ของอังกฤษประเมินว่า หากไม่มีการทำข้อตกลง ผู้ผลิตรถยนต์ของอังกฤษจะต้องเสียภาษีรถยนต์สูงถึง 10% ซึ่งอาจคิดเป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านปอนด์ (6.24 หมื่นล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และอาจทำให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เช่น Nissan และ Honda ต้องคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับการดำเนินงานในอังกฤษ หากอังกฤษไม่ได้เป็นประตูสู่ตลาดยุโรปอีกต่อไปแล้ว

 

ด้านผลิตภัณฑ์อาหารของอังกฤษจะเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ย 22% โดยผู้ผลิตเนื้อแกะจะเจอภาษีสูงถึง 40% ในการส่งออกไปยังตลาด EU

 

ขณะที่ราคาอาหารที่นำเข้ามายังอังกฤษก็จะสูงขึ้นเช่นกัน โดยรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม จอร์จ ยูสติซ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ LBC ว่า ภาษีนำเข้าอาจทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นเกือบ 2%

 

ทั้งนี้ ประมาณ 70% ของมูลค่าอาหารและเครื่องดื่มที่อังกฤษนำเข้ามาในประเทศนั้น มาจากสหภาพยุโรป ซึ่ง Marks & Spencer หนึ่งในเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ออกโรงเตือนเมื่อเดือนที่แล้วถึงความเป็นไปได้ที่ราคาอาหารจะแพงขึ้นหากไม่มีการทำข้อตกลงการค้ากับ EU

  • ตลาดการเงินปั่นป่วน

นอกจากนี้ คาดว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจรจาข้อตกลงการค้าที่ประสบภาวะชะงักงันได้ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงราว 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2020 

 

“มีแนวโน้มที่เงินปอนด์จะอ่อนค่าลงไปทดสอบระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ หากไม่มีการทำข้อตกลง” นักวิเคราะห์จาก Societe Generale กล่าว

 

ด้านดัชนีหุ้นมิดแคป FTSE 250 ปรับตัวลง 1.25% ในวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งเป็นสัญญาณว่าบริษัทอังกฤษที่เน้นทำธุรกิจในประเทศ ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการ Brexit แบบไม่มีข้อตกลง ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกัน พบว่าหุ้นของบริษัทที่เน้นการส่งออก ซึ่งได้ประโยชน์จากเงินปอนด์ที่อ่อนค่านั้น ปรับตัวขึ้นและเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนี FTSE 100 ขยับขึ้นได้เล็กน้อย

  • ด่านชายแดนวุ่นวาย

ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น เตรียมเจอกับความวุ่นวาย เนื่องจากระบบใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ที่ด่านชายแดนในวันที่ 1 มกราคม 2021 นี้ อาจส่งผลให้สินค้าที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อังกฤษ จะไม่ได้ออกจากคลังสินค้าในยุโรปง่ายๆ จากการเปิดเผยของสมาคมขนส่งสินค้าทางบก

 

“สินค้าอาจมาไม่ถึงซัพพลายเชนของโรงงานด้วยวิธีการแบบที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าโรงงานจะไม่สามารถดำเนินการผลิตได้” ร็อด แม็กเคนซี หัวหน้าฝ่ายนโยบายและสาธารณกิจ กล่าวกับ CNN Business นอกจากนี้ “ยังอาจเหลือที่ว่างบนชั้นวางสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย”

 

“สิ่งที่เรากำลังมองดูอยู่คือสถานการณ์ที่อาจมีตั้งแต่ร้ายแรงน้อยสุดอย่างความวุ่นวาย ไปจนถึงหนักสุดคือหายนะ” เขากล่าว

 

ด้านสภาหอการค้าอังกฤษเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลหรือตอบคำถาม 24 ข้อจากทั้งหมด 35 ข้อที่ถูกถามบ่อยที่สุดจากภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพิกัดศุลกากร (Tariff Codes) และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ไปจนถึงการเคลื่อนย้ายของสินค้า (Movement of Goods)

 

“ในขณะที่เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ ภาคธุรกิจต้องการคำตอบ และพวกเขาต้องการมันเดี๋ยวนี้” อดัม มาร์แชลล์ ประธานหอการค้าอังกฤษระบุในแถลงการณ์ “โปสเตอร์และโฆษณาทางโทรทัศน์ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียด และไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ภาคธุรกิจต้องการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่าน”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising