×

ย้อนดูนโยบายสวัสดิการผู้สูงวัยที่พรรคการเมืองหาเสียงเอาไว้ หลังรัฐปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพ

15.08.2023
  • LOADING...

กลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมทันทีหลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุให้ “ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

 

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยทำให้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว พร้อมขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น

 

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เคยออกมาเปิดเผยในช่วงก่อนหน้านี้ว่า หนึ่งในแผนการตัดรายจ่ายเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว คือการตัดงบผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจไม่มีความจำเป็น ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า

 

ที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีละ 5 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณเพิ่มเป็น 9 หมื่นล้านบาท โดยจากตัวเลขวงเงินงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี เชื่อว่าอีกไม่เกิน 1-2 ปี วงเงินงบประมาณจะทะลุ 1 แสนล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางลดต้นทุนปรับลดค่าใช้จ่าย ซึ่งหากตัดงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไปจะช่วยลดงบประมาณได้มาก

 

การแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุดังกล่าวของรัฐบาลรักษาการ ทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่ 11 ล้านคน และไม่เห็นด้วยกับการจะใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจนในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ครอบคลุม และจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น อีก 6 ล้านคนจะถูกรัฐลอยแพ

 

วิโรจน์กล่าวอีกว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการที่ไม่ควรทำ พร้อมขอให้ประชาชนจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อจะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้

 

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวคัดค้านระเบียบดังกล่าว โดยชี้ว่าจะเป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักสากล เป็นระบบที่รัฐบาลเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือหรือแบ่งคนรวยคนจน ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว

 

ล่าสุด พล.อ. อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงถึงการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ว่า เดิมมีการยกร่างระเบียบเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ต่อมากรมบัญชีกลางแจ้งมาว่าผู้ที่ได้รายได้อื่น เช่น เบี้ยบำนาญ รับเบี้ยผู้สูงอายุไม่ได้ ต้องเรียกคืน ทำให้มีปัญหา และสุดท้ายรัฐบาลก็ได้เรียกจ่ายเงินคืนประชาชน

 

พล.อ. อนุพงษ์กล่าวว่า จากนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากนั้นกระทรวงได้ส่งระเบียบดังกล่าวให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งกฤษฎีกาตีความว่าระเบียบที่ออกมาไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าประชาชนคนไทยจะต้องมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ที่รัฐบาลจะต้องดูแลเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจะระบุว่าให้ใครหรือไม่ให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องออกระเบียบใหม่

 

พล.อ. อนุพงษ์กล่าวต่อว่า ในระเบียบใหม่มีการกำหนดว่าการให้เบี้ยผู้สูงอายุจะต้องทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะต้องเป็นผู้กำหนด และส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจ เพราะผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ก่อนจะยืนยันว่าเราได้ทำหนทางไว้ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม จะมากหรือน้อยไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลนี้

 

“ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาลตอนนี้ก็ยังคงได้รับเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่ครบอายุใหม่ก็ยังสามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ถ้าเขายังไม่ออกกำหนดออกมา ประชาชนก็ยังรับเบี้ยอย่างที่ผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์​เดิม ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะหากดูสถานการณ์ที่พูดกันตอนนี้ ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์ อย่างน้อยจะต้องทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญและเป็นธรรม และต้องมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด หนทางเราเตรียมไว้แล้ว จะออกทางไหนก็ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ และหากฟังจากเสียงที่ออกมาพูดกันทุกพรรค ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์” พล.อ. อนุพงษ์กล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุราว 12 ล้านคน แต่บ่งชี้สัดส่วนผู้สูงอายุที่ร่ำรวยได้ยาก แต่ถ้าพิจารณาจากกลุ่มที่ไม่มีเงินออมเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จะมีประมาณ 7.2-9.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 60-80%

 

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising