×
SCB Omnibus Fund 2024

EIC แนะ จับตา ‘6 ปัจจัยเสี่ยง’ กดดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยอมรับ GDP ไตรมาส 4/63 ดีกว่าคาด จากการบริโภคภาคเอกชน

15.02.2021
  • LOADING...
EIC แนะ จับตา ‘6 ปัจจัยเสี่ยง’ กดดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยอมรับ GDP ไตรมาส 4/63 ดีกว่าคาด จากการบริโภคภาคเอกชน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.​) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2563 หดตัว 4.2% และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลาดปี 2563 หดตัวที่ 6.1% ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในรอบ 22 ปี 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2563 ที่หดตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) นับเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ขณะที่ EIC คาดการณ์ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสดังกล่าวจะอยู่ที่ 5.4% 

 

สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปรับตัวดีกว่าการคาดการณ์ เกิดจากการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน เป็นต้น

 

ขณะที่การฟื้นตัวของภาคส่งออกก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นชัดเจน โดยในไตรมาส 4 การผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวเพียง 0.9% และยังส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกปรับตัวดีขึ้นด้วย จึงมีส่วนทำให้การลงทุนเอกชนในภาพรวมหดตัวเพียง 3.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึง 10.6% 

 

นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 หดตัวน้อยกว่าคาด โดยสินค้าคงคลังสำคัญที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ ข้าวเปลือก ทองคำ และสินค้าเพื่อการผลิตคอมพิวเตอร์

 

สำหรับในปี 2564 ทาง EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังมีความเสี่ยงหลายประการ โดยประมาณการล่าสุดของ EIC คาดไว้ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.2% เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งมีข้อจำกัดสำคัญตามการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดย EIC คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเพียง 3.7 ล้านคนในปีนี้ 

 

ขณะที่กำลังซื้อในประเทศคาดว่า จะมีการฟื้นตัวช้าเช่นกัน จากการระบาดรอบใหม่ในช่วงต้นปีที่จะไปซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจที่มีอยู่ ได้แก่ การปิดกิจการและการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อภาคประชาชน

 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ โดยล่าสุดภาครัฐได้อนุมัติโครงการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 40 ล้านคน วงเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง 

 

นอกจากนี้ภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวดีกว่าคาด ตามข้อมูลการส่งออกล่าสุดของหลายประเทศที่ทยอยออกมา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม 

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ 

 

1. ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ 

 

2. ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย 

 

3. แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น 

 

4. ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน 

 

5. ภัยแล้งจากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 

 

6. ค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising