×

กสศ. เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ชี้โควิด-19 ทำครอบครัวยากจนส่งผลต่อนักเรียน เสนอ 5 กุญแจปลดล็อกความยากจนข้ามชั่วคน

โดย THE STANDARD TEAM
16.03.2021
  • LOADING...
รายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

วันนี้ (16 มีนาคม) ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ในปีการศึกษา 2/2563 เพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีการศึกษา 1/2563 ซึ่งในปีการศึกษา 2/2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เข้ามา จำนวน 195,558 คน โดยยอดรวมตั้งแต่เริ่มเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาคเมื่อปีการศึกษา 2/2561 ครบ 3 ปีการศึกษา กสศ. ให้การช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษแล้ว 1,173,752 คน 

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดพบว่า รายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีอัตราลดลง 5% โดยในภาคการศึกษา 2/2563 อยู่ที่ 1,021 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 34 บาทต่อวัน ลดลงจากภาคการศึกษา 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ 1,077 บาทต่อเดือน โดยแหล่งที่มาของรายได้ยังมาจากเงินเดือนและค่าจ้าง สวัสดิการจากรัฐ/เอกชน และการเกษตร ขณะที่สมาชิกครัวเรือนอายุ 15-65 ปีว่างงาน ที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษาอยู่ที่ 31.8% และเป็นผู้ปกครองที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 32%  

 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับคุณครูทั่วประเทศกว่า 4 แสนคนในสถานศึกษา 3 สังกัด คือ สพฐ. อปท. และ ตชด. เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเด็กนักเรียนเป็นรายบุคคลทำให้ กสศ. มีข้อมูลเชิงลึกของครัวเรือนที่ยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กับหน่วยงานรัฐ ทั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ​กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินมาตรการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการนำข้อมูลไปให้หน่วยงานต้นสังกัดที่ดูแลนักเรียน ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อปท. และ ตชด. ใช้ในการพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวมากกว่า 1.7 ล้านคน

 

“ด้วยข้อมูลเชิงลึกรายภาคเรียนการศึกษาที่ กสศ. จัดเก็บทำให้สามารถจับชีพจรวัดความเหลื่อมล้ำรายพื้นที่ พร้อมทั้งมีข้อมูลเชิงลึกถึงระดับตำบลหมู่บ้านที่หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาฟื้นฟูประเทศหลังผลกระทบจากโควิด-19 ตลอดจนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศในเชิงโครงสร้าง ด้วยการรู้ถึงรายละเอียดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นจุดสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การช่วยเหลือที่ไม่ใช่แค่ตัวเด็กนักเรียน แต่เริ่มนำร่องให้การช่วยเหลือถึงครอบครัวผู้ปกครอง เพื่อขจัดความยากจนข้ามชั่วคน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของ กสศ. เนื่องจาก กสศ. มีงบประมาณจำกัด แต่เรามีข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จะได้มีโอกาสใช้ข้อมูลเพื่อลดผลกระทบต่างๆ ได้” ดร.ไกรยส กล่าว  

 

ขณะที่ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์​ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์โควิดดิสรัปชัน (COVID Disruption) ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง โดยผลกระทบของเด็กนอกจากเรื่องการเรียน แล้วยังกระทบเรื่องสภาพจิตใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายไปเรียน ไม่มีหน้ากากอนามัย โรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ผลกระทบฝั่งของผู้ปกครองจากการสำรวจพบว่า 60% ของผู้ปกครองมีรายได้ลดลง รวมทั้งมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแลมากขึ้น และจำนวนมากต้องออกจากงาน นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้ปกครองที่สามารถปรับตัวได้ยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ได้ ต้องกลับภูมิลำเนา ​ที่ผ่านมา กสศ. ได้เข้าไปช่วยเหลือภายใต้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการ เกิดการรวมกลุ่ม ทำให้เขามีรายได้ที่สูงขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้นจากหลักสูตร แต่เริ่มจากให้กลับไปสำรวจในหมู่บ้านว่ามีฐานทรัพยากรอะไร มีศักยภาพอะไร แล้วค่อยพัฒนาส่งเสริมในสิ่งเหล่านั้น โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน 

 

“ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ตำบลหนองสนิท จังหวัดสุรินทร์ ที่ทาง อบต. ลงไปเก็บข้อมูล ดูต้นทุนในพื้นที่ และยกระดับอาชีพ พบว่า การเกษตรที่ใช้สารเคมีเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เราชวนเขามาทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านไป 6 เดือน เขาสามารถขายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต แม้ในช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบก็ขยับไปทำเดลิเวอรีเสริม ด้านหนึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเอง 1,800 บาท อีกด้านก็ช่วยเพิ่มรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน” ธันว์ธิดากล่าว

 

การดำเนินโครงการยังพบว่า การที่พ่อแม่มีรายได้สูงขึ้นช่วยทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย จากกลุ่มตัวอย่างที่หนองสนิท 100 คน เป็นพ่อแม่ของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ 30 คน จากเดิมที่ครอบครัวยากลำบาก ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น การช่วยเหลือจึงต้องช่วยทั้งสองด้าน ทั้งช่วยพ่อแม่และช่วยเด็กๆ โดยขณะนี้ทาง กสศ. กำลังจะพัฒนาโมเดลช่วยเหลือเด็กออกจากความยากจน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายต่อไป

 

จากการประมวลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาล่าสุดยังพบว่า ประเด็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขจากผลกระทบของการปิดเรียนจากภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยรองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เด็กไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ ม่านกั้นการเรียนรู้ (Pandemic Wall) หรือภาวะที่ต้องเจอโรคระบาด เด็กจะเริ่มรู้สึกเหนื่อย เบื่อ จากการที่ชีวิตถูกดิสรัปต์โดยโควิด-19 พร้อมกับเกิดภาวะสมองเต็ม หรือ Cognitive Overload ซึ่งเกิดจากสมองส่วน Working Memory เต็ม เพราะความเครียดเกิดการเบื่อ ขาดสารอาหาร พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้สมาธิหาย เรียนไม่รู้เรื่อง หลายคนจึงมีปัญหาเรื่องการจัดการตัวเอง โดยไม่รู้จะสื่อสารความรู้สึกกดดันและวิตกกังวลออกมาอย่างไร ปัญหานี้ผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยพูดคุยกับเด็กๆ ถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และควรเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่าถึงความรู้สึก ความกังวล ของตัวเด็กที่เกิดขึ้นได้ 

 

ในขณะที่ตอนนี้คือช่วงโค้งสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์จะถึงการสอบและปิดเทอมใหญ่ ช่วงเวลานี้เด็กจะต้องรับเนื้อหาการเรียนที่หนักและเยอะกว่าปกติ มีทั้งการสอบปลายภาคและการสอบในระดับที่สูงกว่านั้น ในภาวะที่เด็กต้องเผชิญปัญหาม่านการเรียนรู้อย่างนี้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ท้ายที่สุดเด็กจะมีภาวะความเครียดเกินกว่าจะรับได้ เกินกว่าที่ผู้ปกครองจะรับได้ แล้วจะมีผลต่อการจัดการอารมณ์และความวิตกกังวลต่อไปในระยะยาว ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต้องสร้างพื้นที่ให้เขาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาวะตรงนี้ แล้วช่วยให้เด็กเยาวชนของเรามีโค้งสุดท้ายของปีการศึกษา 2563 ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถทำให้เด็กบริหารจัดการความเครียดและเนื้อหาวิชาที่ต้องรับเข้าไปในช่วงนี้ให้ได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้ในที่สุด

 

ในเทอม 2/2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มของนักเรียนยากจนพิเศษและยากจนยังเพิ่มขึ้นอยู่ในประเทศไทย แม้ว่าเป็นอัตราเพิ่มที่ลดลงแล้ว แต่ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ รายได้ครัวเรือน อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ ปัญหาโควิด-19 ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะเชิงคุณภาพที่การเปิดผลวิจัยทำให้เราเห็นว่าปรากฏการณ์ COVID-19 Slide หรือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ มีอยู่จริงในประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย เราจึงต้องนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาร่วมกันคิด และหาทางออกว่าเราจะช่วยให้เด็กและเยาวชนของไทยเกือบ 10 ล้านคน ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากในปีการศึกษานี้ไปได้อย่างไรที่จะไม่มีผลกระทบในระยะยาวต่อตัวเด็กและครอบครัว

 

ด้าน พอล คอลลาร์ด นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต และนักปฏิรูปการเรียนรู้ระดับโลก ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์หลังเปิดเรียนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องปิดเรียนไปเกือบ 3 เดือนเต็ม ดังนั้นการศึกษาจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้โรงเรียนและผู้เรียนได้ร่วมกันมองหาวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม โดยอาจมีทั้งการสอบหรือการวัดผลด้วยวิธีอื่นร่วมกัน เช่น การประเมินจากผลงานของนักเรียน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางเลือกไหนที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องช่วยหาทางออกสำหรับเด็กทุกกลุ่มร่วมกัน 

 

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรารู้ว่ามีเด็กมากมายที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ดังนั้นการจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เด็กอาจยังไม่เข้าใจวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง เนื่องจากเขาไม่เคยได้รับการเตรียมตัวให้พร้อมมาก่อน ทำให้เรามองเห็นโอกาสอีกมากที่จะได้มองและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า วิชาการหรือสิ่งที่เรียนรู้ในหลักสูตรเหล่านี้มีความจำเป็นต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน เราจำเป็นต้องเรียนจริงๆ หรือไม่ และบทเรียนที่สำคัญเราได้เรียนรู้จากโควิด-19 ก็คือการปฏิรูปบ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองในการเรียนรู้ให้ได้

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. มีความตั้งใจจะนำบทเรียนนี้มาสู่การบูรณาการการทำงานทั้งครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ ได้แก่ 

 

  1. บูรณาการข้อมูลสถานการณ์ความยากจนรายครัวเรือนระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจนในระยะยาว

 

  1. บูรณาการงบประมาณและทรัพยากรระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความยากจน ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทยมากกว่า 40 มาตรการ ที่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน 

 

  1. แก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ครัวเรือนเป็นฐาน (Household-Based Anti-Poverty Intervention) ในการดำเนินการมาตรการต่อเนื่อง 5-10 ปี 

 

  1. แก้ไขปัญหาภาวะ COVID Slide และ Pandemic Wall ในประเทศไทย เพื่อป้องกันผลกระทบของโควิด-19 ต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนในระยะยาว 

 

  1. Build Back Better ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยกลับมาสู่เส้นทางของการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising