×

ทำหัวใจให้ยิ่งใหญ่ แต่ใช้ชีวิตให้เล็ก บทเรียนจากอาจารย์เฉลิมชัยและผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์

15.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคืออุทิศให้กับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง แต่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ

เรามักจะคิดว่าคนที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เขาต้องมีชีวิตที่ใหญ่ตามไปด้วย แต่แท้จริงแล้วมันอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทยสองคนซึ่งผมคิดว่าเป็นคนที่ยิ่งใหญ่มาก คนแรกคือผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้นำที่ปฏิบัติภารกิจถ้ำหลวงได้อย่างสุดยอดจน Walton College สถาบันด้านการจัดการและบริหารระดับโลกยกเป็นเคสตัวอย่างให้ทั่วโลกได้ศึกษา ส่วนคนที่สองคือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้ก่อตั้งวัดร่องขุ่นที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ

 

แม้ทั้งคู่จะมีบุคลิกและความถนัดต่างกันคนละขั้ว คนแรกจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ เก่งด้านการบริหารจัดการ คิดเป็นระบบตรรกะ อีกคนอารมณ์ศิลปิน เป็นเลิศด้านจินตนาการ งานฝีมือ และความละเอียดอ่อน แต่เชื่อไหมครับว่าพอผมได้เจอตัวเป็นๆ กลับพบว่าทั้งสองคนมีจุดร่วมที่เหมือนกันมาก

 

สิ่งนั้นคือหัวใจที่ยิ่งใหญ่ แต่ใช้ชีวิตให้เล็กที่สุด

คนเราจะแสดงออกว่ามีความสุขผ่านดวงตามากกว่าคำพูด และทุกครั้งที่มีชาวบ้านมองผมด้วยสายตาแบบนั้น คุณจะต้องการอะไรอีกในชีวิตนี้

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์เริ่มต้นทำงานราชการเพราะเป็นความต้องการของคุณแม่ และอยากตอบแทนทุนที่ได้รับจากรัฐบาล เขาได้รับการติดต่อจากบริษัทเอกชนหลายแห่ง เงินเดือนสูงมาก แต่ก็ปฏิเสธไป สิ่งที่เขาคิดคือ “ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนเก่งเข้ามาทำงานราชการ”

 

ผ่านไป 30 ปี เขาถูกย้ายงาน 26 ครั้ง ทุกการย้ายงานคือไปเพื่อแก้ปัญหา ในแต่ละปีมี 365 วัน เขาทำงาน 360 วัน ภรรยากับลูก 2 คนก็ไม่ค่อยได้เจอ ทำงานหนักจนผู้ช่วยที่ใกล้ชิดรู้สึกว่าท่านควรพักผ่อน ออกกำลังกาย และมีชีวิตด้านอื่นบ้าง

 

วันที่เขาเปิดจวนผู้ว่าฯ ให้ผมไปเยี่ยม เวลา 21.30 น. หลังสัมภาษณ์กันเสร็จ เขายังคงปฏิบัติภารกิจสุดท้ายคือการเซ็นเอกสาร (พร้อมจิบชากับทุเรียน) หลังจากแต่ละวันต้องปฏิบัติภารกิจไม่น้อยกว่า 10 อย่างตั้งแต่เวลา 7.00 น.

 

เรียบง่าย สมถะ ไม่ได้ต้องการลาภยศใดๆ จวนผู้ว่าฯ ที่ใหญ่โตก็ไม่มีของใช้หรูหราฟุ่มเฟือย ห้องทำงานโอ่โถงก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะบริเวณที่ใช้บ่อยที่สุดคือโต๊ะยาวกลางบ้านที่ใช้งานอเนกประสงค์ ทั้งกินข้าว ประชุม ทำงาน และดูหนัง

 

ทุกวันนี้ชื่อเสียงจากการบริหารภารกิจถ้ำหลวงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติสนใจอยากได้ตัวเขาไปร่วมงาน ผลตอบแทน 6-7 หลัก แต่ผู้ว่าฯ ก็ไม่ไป

 

แม้เขาจะถ่อมตัวว่าไม่ได้เป็นคนเสียสละ แค่ทำหน้าที่ของตัวเองในแต่ละวันให้ดีที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจับใจความได้และคิดว่าเป็นความสุขของเขาคือประโยคที่ว่า

 

“คนเราจะแสดงออกว่ามีความสุขผ่านดวงตามากกว่าคำพูด และทุกครั้งที่มีชาวบ้านมองผมด้วยสายตาแบบนั้น คุณจะต้องการอะไรอีกในชีวิตนี้”

 

เป็นความสุขส่วนตัวเล็กๆ แต่สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก

มันไม่มีอะไรได้มาง่าย มึงวาดรูปวันละยิบๆ ย่อยๆ แล้วไปเที่ยวก็เป็นแค่ไอ้กระจอก ถ้ามึงจะยิ่งใหญ่ มึงต้องทุ่มเทชีวิตให้กับศิลปะ ต้องเข้าใจว่าศิลปะยืนยาวกว่าชีวิตของมึง ศิลปะยิ่งใหญ่กว่าชีวิตมึง มึงถึงจะสำเร็จ

 

วันถัดมา ผมยืนมองดวงตาของรูปปั้นจ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวง ความสูง 4 เมตร ที่แล้วเสร็จไปประมาณ 50% หลังจากฝนห่าใหญ่เพิ่งขาดเม็ดได้ไม่นาน อาจารย์เฉลิมชัยก็ปรากฏตัวพร้อมกับรถกอล์ฟที่ขับมาจากบ้านด้วยตัวเอง

 

บารมี ความน่าเกรงขาม และวาจาที่โผงผาง พร้อมด่า พร้อมฉะ ทำให้สื่อหลายคนประหม่า ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะกว่า 20 นาทีที่ได้พูดคุย ผมเองก็โดนด่า ห่า! เหี้ย! โง่! ควาย! ไป 10 กว่าครั้ง โดนถีบไป 1 ที (ฮา)

 

แม้จะต้องตั้งสติกับสไตล์การตอบที่ดุดันและดังกังวาน แต่ถือเป็นการคุยที่สนุกและได้ข้อคิดมาก เอาเข้าจริง พอไม่ได้อยู่ต่อหน้ากล้องและถอดไมค์ออกก็ดูเหมือน ‘องค์’ ที่ลงจะหายไป อาจารย์เฉลิมชัยกลายเป็นผู้ใหญ่ใจดี น่ารัก แกยังบอกผมเองว่า “คุณถามอะไร คนอื่นก็ใจดีตอบคุณไปเรื่อย ต้องโดนด่าบ้างจะได้เก่งขึ้น กลัวเบื่อ”

 

ผมถามถึงความตั้งใจของการสร้างงานศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมที่จะนำไปจัดวางหน้าถ้ำหลวง อาจารย์บอกว่าเพื่อประกาศศักดาว่าคนไทยก็เก่งไม่แพ้ใคร “มันเป็นการประกาศศักยภาพว่าคนไทยเก่ง นี่คืองานศิลปะของชาติ คือความงามที่เข้าถึงมนุษยชาติ”

 

ผมถามต่อว่าแล้วจะทำให้เป็นงานระดับโลกได้อย่างไร มีคำแนะนำให้กับศิลปินคนอื่นไหม แกก็นิ่งๆ มองหน้าเหมือนจะหาเรื่องแล้วตอบเสียงดังว่า

 

“โว้ย! มึงไม่ต้องไปคิดว่าจะทำงานระดับโลก ถ้าทำเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด เดี๋ยวโลกยกย่องเอง อย่างน้อยที่สุด หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ประเทศของมึงก็ต้องยกย่อง ขึ้นอยู่ที่งานของมึงทรงคุณค่าและสากลขนาดไหน งานมึงต้องมีอัตลักษณ์และคุณค่า”

 

ผมกล้าได้กล้าเสียถามต่อว่าแล้วจะหาอัตลักษณ์ให้ตัวเองได้อย่างไร คราวนี้เหมือนแกจะของขึ้น จึงตะโกนตอบเสียงสูงด้วยความเมามันว่า

 

“มึงนึกว่าง่ายเหรอ หาตัวเอง เขาต้องเรียนกันมาเท่าไร เริ่มจากความชอบ เรียนรู้งานศิลปะของศิลปินทั้งโลก ทำความเข้าใจทุกลัทธิ ค่อยๆ หาตัวตน สไตล์ เทคนิค กระบวนความคิดที่เป็นของตัวเอง มันคือการเรียนรู้เพื่อค้นหาความพิเศษในตัวเอง

 

มันไม่มีอะไรได้มาง่าย มึงวาดรูปวันละยิบๆ ย่อยๆ แล้วไปเที่ยวก็เป็นแค่ไอ้กระจอก ถ้ามึงจะยิ่งใหญ่ มึงต้องทุ่มเทชีวิตให้กับศิลปะ ต้องเข้าใจว่าศิลปะยืนยาวกว่าชีวิตของมึง ศิลปะยิ่งใหญ่กว่าชีวิตมึง มึงถึงจะสำเร็จ”

 

อาจารย์เฉลิมชัยแนะนำว่าถ้าอยากยิ่งใหญ่ ให้ทำสิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียว

 

“เวลาทำอะไรให้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียว อย่าทำร้อยชิ้น กระจอกงอกง่อย กูทำวัดร่องขุ่นของกูแล้วก็ตาย กูทำศิลปะเพื่อโชว์ความยิ่งใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อเงิน ถ้ามึงอยากยิ่งใหญ่ ใจมึงต้องใหญ่ อุทิศทั้งชีวิต”

 

ความยิ่งใหญ่ของอาจารย์ไม่ใช่การสร้างงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการ ‘ให้’ อีกด้วย คนรอบข้างอาจารย์พูดตรงกันกับผมว่าอาจารย์เฉลิมชัยคือ ‘ผู้ให้’ อย่างแท้จริง ทั้งเงินทุนและความรู้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

 

“ตอนเป็นเด็ก ไม่เห็นผู้ใหญ่จะช่วยกูเลย เป็นบาดแผลตั้งแต่เด็ก พอกูมี กูก็อยากจะให้เขาบ้าง ให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ทอดทิ้ง ช่วยส่งเสริมวงการศิลปะ”

 

ใจใหญ่ งานศิลปะใหญ่ สร้างวัดพันล้าน แต่เชื่อไหมครับว่าบ้านของอาจารย์กลับเล็กนิดเดียว ตกแต่งธรรมดามาก หลังคาสังกะสี อยู่กลางทุ่ง ห้องอาบน้ำเปิดโล่งไว้มองพระจันทร์ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดร่องขุ่น อาจารย์บอกผมว่าชีวิตไม่ต้องการสิ่งใดอีกต่อไป ได้ทำทุกอย่างที่ต้องการแล้ว ตอนนี้มีความสุขทุกลมหายใจ และรอแค่ความตาย

 

“การเขียนรูปโดยไม่ปรารถนาสิ่งใดคือความสุข”

 

ภาพผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ยืนกินทุเรียน ดูหนังจากเคเบิลทีวีในจวนโล่งๆ และภาพอาจารย์เฉลิมชัยขับรถกอล์ฟกลับบ้านเล็กๆ กลางทุ่งสอนผมว่า

 

‘ทำสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ แต่ใช้ชีวิตให้เล็กที่สุด’

 

 

ภาพ: นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ และทรงพล จั่นลา

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising