×

นักเศรษฐศาสตร์เตือนเงินเฟ้อไทยอาจพุ่งแตะ 10% ในไตรมาส 3 กดดันแบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด

05.07.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

นักเศรษฐศาสตร์ไม่เซอร์ไพรส์ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ 7.66% ชี้ยังไม่ถึงจุดพีค และมีโอกาสพุ่งแตะระดับ 10% ในไตรมาส 3 เผยเริ่มเห็นสัญญาณกระจายตัวมายังฝั่งอุปสงค์ จับตาแบงก์ชาติถูกกดดันต้องใช้ยาแรงขึ้น

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนที่บวกเพิ่มขึ้น 7.66% ไม่ถือเป็นตัวเลขที่เกินความคาดหมายของตลาด ที่มองว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นตามราคาพลังงานและอานิสงส์ของการเปิดเมืองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อาจทำให้ตลาดแปลกใจบ้างคือราคาอาหารที่ปรับลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนว่าเงินเฟ้ออาจเริ่มมีการกระจายตัวมาในฝั่งอุปสงค์

 

“อีกประเด็นที่น่ากังวลคือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนว่าเงินเฟ้อยังเร่งตัวต่อเนื่องและยังไม่ถึงจุดพีค โดยจุดพีคน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นทำให้เงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์กลับมา โดยขณะนี้เราประเมินว่าเงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นไปถึง 8-9% หรืออาจสูงถึง 10% ในกรณีที่ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นอีก” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวอีกว่า ในกรณีที่ตัวเลขเงินเฟ้อในไตรมาส 3 พุ่งขึ้นไปแตะเลขสองหลักจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มข้นขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งในการประชุมที่เหลือในปีนี้ และในการประชุมบางรอบอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยในช่วงปลายปีนี้จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% เป็นอย่างน้อย

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนที่เร่งตัวขึ้นไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อยก็ยังไม่ได้สร้างความกังวลมากนัก อย่างไรก็ดี ประเด็นที่อาจต้องจับตาต่อคือการที่ดัชนีราคาผู้ผลิตยังออกมาสูงกว่าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนว่าการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตมายังผู้บริโภคยังไม่หมดและจะลากยาวต่อไป

 

“การส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีจากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 จะปรับลดลงตามฐานที่สูง แต่ระดับราคาจะไม่ลดลงมาด้วยและสูงต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี โดยเรายังมองว่าภาพรวมเงินเฟ้อไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 6.5%” นริศกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising