×

อธิการบดีธรรมศาสตร์-ประธานฯ AP ร่วมสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย แนะ 4 ทักษะที่มีติดตัวไว้ ไม่ตกงาน

โดย THE STANDARD TEAM
29.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (29 พฤษภาคม) ในงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ ‘skills For The Future’ การเรียนรู้และทักษะแห่งอนาคต โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AP (Thailand) ร่วมถอดบทเรียนถึงปัญหาการศึกษา และประเด็นของนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มไม่ตอบโจทย์องค์กรธุรกิจหรือบริษัทในยุคปัจจุบัน

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ เริ่มต้นฉายภาพของปัญหาการศึกษาไทยว่า เน้นการถูกปลูกฝังและให้คุณค่าเรื่องของการท่องจำมากจนเกินไป หรือถูกจำกัดให้เรียนรู้เฉพาะเรื่องความรู้หลักเท่านั้น แต่ไม่ได้นำไปสู่การคิด วิเคราะห์ และกระบวนการตั้งประเด็นคำถามต่างๆ รวมถึงสิ่งที่หลายคนกำลังหลงทาง นั่นคือการให้คุณค่ากับคำว่า ‘ปริญญา’ มากเกินไป จนอาจหลงลืมไปว่า สิ่งที่จะติดตัวหลังเรียนจบแท้จริงคือ ทักษะการทำงานในวิชาชีพที่จะต้องก่อเกิดในอนาคต

 

ทางด้าน อนุพงษ์ อัศวโภคิน เล่าถึงสิ่งที่พบเห็นหรือปัญหาที่บริษัทต้องพบเจอในการรับนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่สายงานของแต่ละบริษัทว่า ปัจจุบันสเปกนักศึกษาที่องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ต้องการคือ รับเข้ามาแล้วสามารถพร้อมทำงานได้เลย หรือส่งลงสนามได้ทันที แต่ส่วนใหญ่ที่รับมาแล้วกลับพบว่า ไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลย 

 

โดยสรุปปัญหาหลักๆ ของนักศึกษาจบใหม่คือ ความรู้และความเข้าใจในสายที่ต้องมาปฏิบัติในชีวิตจริงไม่เพียงพอ และความพร้อมไม่ตรงสาย ซึ่งนำมาสู่ความไม่พร้อมในการลงสนามทำงานได้จริง

 

เมื่อมองย้อนกลับไปต้นตอของปัญหาที่ถูกฝังมานานแบบนี้ อนุพงษ์อธิบายว่า ปัญหาจริงๆ สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ประเด็นนี้ไม่ควรโทษมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เพราะการที่จะทำให้การศึกษาแห่งอนาคตก้าวเดินไปได้จริงๆ มหาวิทยาลัยเอกชนและของรัฐฯ ต้องร่วมมือกัน โดยมีหัวใจหลักคือ การปรับหรืออัปเดตหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดเวลา

 

“ตำแหน่งงานที่เราเห็นในปัจจุบันในอีก 10 ปีข้างหน้า เกือบ 40% จะหายไป จะมีตำแหน่งงานใหม่โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งแสดงว่าเราต้องการทักษะใหม่ๆ แปลว่า เราต้องอัปเดตทักษะด้านการเรียนรู้และการศึกษาที่อยู่ในตลาดแรงงานให้เร็วที่สุด ต้องมีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับคอนเทนต์ที่ทางมหาวิทยาลัยสอน ต้องมีการอัปเดตอย่างเร็วมากเช่นกัน”

 

ขณะเดียวกัน รศ.เกศินี กล่าวเสริมว่า แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีรูปแบบของหลักสูตรที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ของธรรมศาสตร์จะมีการร่วมมือกับภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้มาปรับเป็นการสอนนักศึกษา ตั้งแต่การทำเวิร์กช็อป หรือการส่งไปฝึกงาน ที่ต้องให้นักศึกษาเรียนรู้พื้นฐานก่อน 2 ปี ก่อนที่จะส่งไปอยู่กับบริษัทนั้นๆ อีก 2 ปี 

 

ซึ่งในส่วนนี้นักศึกษาจะได้ประสบการณ์ทำงานที่เอาไปต่อยอดในชีวิตจริงได้ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้มากกว่าอยู่ในห้องเรียน จะเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงอาจารย์ที่อยู่ในฐานะผู้สอน ก็ต้องปรับตัวไปกับสิ่งเหล่านี้ด้วย 

 

ส่วนประเด็นทักษะที่ทุกคนควรมีติดตัวและสิ่งต้องเริ่มเรียนรู้ เพื่อปรับตัวเข้าหาความเป็น New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ 

 

อนุพงษ์ย้ำว่าเรื่องของ ‘Mindset’ คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรมีติดตัว รวมถึงทักษะที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ก่อนอื่นทุกคนต้องเริ่มตั้งเป้าหมายในชีวิตก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้ตนเองพึงรู้ว่า เราต้องการทำอะไร เพราะถ้าเราทำอะไรที่มันผิดไปจากเป้าหมายของชีวิต เรามักจะทำสิ่งนั้นได้ไม่ดี 

 

เมื่อทุกคนตั้งเป้าหมายได้แล้ว สิ่งแรกที่ควรมีคือ องค์ความรู้และความเข้าใจต่อสายงานนั้นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี ส่วนทักษะที่ 2 คือต้องมี Digital Literacies หรือการเข้าใจในกระบวนการของโลกดิจิทัล ต่อมาทักษะที่ 3 คือเรื่องของ Soft Skills เช่น เรื่องการสื่อสารที่ทุกคนต้องมีในยามพบปะผู้คน และทักษะที่ 4 คือ ต้องมีแรงผลักดันที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือมีทักษะที่พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีทักษะทั้ง 4 อย่างนี้ คุณก็จะไม่ตกงานแน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising