‘อีสท์ วอเตอร์’ พร้อมส่งคืนทรัพย์สิน 2 โครงการให้ ‘ธนารักษ์’ ยอมรับกระทบธุรกิจ เหตุมีสัดส่วน 30% ของรายได้ ประกาศทุ่มงบ 5.5 พันล้านบาท ลุยลงทุน 2 โครงการใหม่ เร่งขยายเครือข่ายท่อส่งน้ำ ปรับกลยุทธ์จับลูกค้าอุตสาหกรรม หวังชดเชยรายได้ที่หายไป
เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัทต้องส่งมอบคืนทรัพย์สินท่อส่งน้ำคืนให้กับกรมธนารักษ์ จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 โดยมีระยะทาง 135.9 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรายใหม่ ยอมรับว่ามีผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทบ้าง แต่เชื่อว่าไม่ทำให้ถึงขั้นมีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจากสัดส่วนสินทรัพย์ที่ส่งมอบไม่ถึงครึ่งของท่อส่งน้ำที่ EASTW บริหารทั้งสิ้นระยะทาง 512 กิโลเมตร
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนการลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเพื่อขยายโครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มความสามารถในการส่งจ่ายน้ำให้กับกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทตั้งงบลงทุนรวมไว้ประมาณ 5,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายโครงการท่อส่งน้ำ เนื่องจากบริษัทมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้วางแผนการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำสายหลักที่มีความยาวรวม 136 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- โครงการระบบท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ความยาว 26.70 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 1,321 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และคาดว่าจะพร้อมส่งจ่ายน้ำภายในเดือนพฤศจิกายน 2566
- โครงการระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ความยาวรวม 67.14 กิโลเมตร พร้อมลงทุนก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มแรงดัน โดยเริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และคาดว่าจะพร้อมส่งน้ำได้บางส่วนในต้นปี 2566 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานทั้งหมดก่อนสิ้นปีนี้ สำหรับวงเงินลงทุนรวมประมาณ 4,201 ล้านบาท
ขณะที่รายได้ของบริษัทในปีนี้คาดว่าเติบโตขึ้นจากปี 2565 ตามปริมาณการขายน้ำรวมเติบโตจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ลดลง ส่งผลให้มีความต้องการซื้อน้ำมาใช้ทดแทนมากขึ้น และบริษัทยังเริ่มขยายตลาดเข้าไปขายน้ำให้กับลูกค้าใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าโครงการเช่าบริหารระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กรณีพื้นที่ทับซ้อน เนื่องจากยังมีการก่อสร้างโรงสูบน้ำ ซึ่งศักยภาพปริมาณส่งน้ำ 1-2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงทำให้ยังไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้กับกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อส่งมอบต่อให้กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้รับสัมปทานรายใหม่ได้ โดยปัจจุบันบริษัทได้เสนอแผนให้กรมธนารักษ์พิจารณาแล้ว โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะบริหารจัดการพื้นที่กับทรัพย์สินได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี หากกรมธนารักษ์มีคำสั่งฉุกเฉินให้บริษัทส่งมอบคืนพื้นที่ทันที ก็มีความกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำได้ ดังนั้นที่ผ่านมาบริษัทจึงได้ทำรายละเอียดแผนงานร่วมกับกรมธนารักษ์ เพื่อไม่ให้มีปัญหาและผลกระทบกับผู้ใช้น้ำ
สำหรับประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า บริษัทจ่ายผลตอบแทนแก่ภาครัฐในอัตราต่ำเกินไปนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัทได้มีการส่งรายได้ให้กับภาครัฐอย่างถูกต้องตามสัญญา นอกเหนือจากการชำระค่าเช่าบริหารท่อในแต่ละปีให้แก่กรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี 2537-2564 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขและอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนด รวม 588 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วเฉพาะในกลุ่มผู้ถือหุ้นภาครัฐที่ถือหุ้นใน EASTW สัดส่วน 45% โดยได้รับเงินปันผลไปแล้วรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท และบริษัทยังเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายท่อส่งน้ำ มูลค่ามากกว่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid ในเขตภาคตะวันออกแทนภาครัฐ ความยาวรวม 512 กิโลเมตร
ด้าน สมบัติ อยู่สามารถ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและบัญชี บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก กล่าวว่า ท่อส่งน้ำคืนให้กับกรมธนารักษ์ จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อบริษัท ดังนั้น แผนรับมือคือการปรับกลยุทธ์เพิ่มธุรกิจใหม่ โดยเน้นการจำหน่ายน้ำให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลงทุนในเขต EEC เพื่อชดเชยรายได้ที่จะหายไป โดยเจาะลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้น้ำในการผลิตในปริมาณที่สูง ซึ่งปัจจุบันยังมีสัดส่วนต่ำกว่า 5% โดยบริษัทยังตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้น้ำของกลุ่มภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 10-15% ของรายได้รวมของบริษัทใน 3 ปีข้างหน้า
ส่วนปัจจุบัน บริษัทเริ่มทยอยเซ็นสัญญากับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มธุรกิจพลังงานและโรงไฟฟ้า อีกทั้งยังมีข้อดีเพราะเป็นการเซ็นสัญญาขายน้ำระยะยาว ทำให้บริษัทมีรายได้สม่ำเสมอ
สำหรับในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีปริมาณขายน้ำรวมเพิ่มสูงขึ้น 3-5% จากปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมาจากความต้องการใช้น้ำ รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมากขึ้นด้วย และมีกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาผลประกอบการปี 2565 และพิจารณาวาระการจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานปี 2565 ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567