บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 99.99% ดำเนินการดังต่อไปนี้
- เข้าซื้อหุ้นใน บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) จำนวน 7,529 ล้านหุ้น คิดเป็น 99.87% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ TTTBB จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) รวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยของ TTTBB อีก 2 บริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็จ จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด และการได้มาซึ่งบริษัท ทรี บีบี จำกัด ตามเงื่อนไขบังคับก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท
- เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างฟื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จาก JAS จำนวน 1,520 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท
ทั้งนี้ รวมเรียกทั้งสองธุรกรรมว่า ‘ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน’ มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท โดย AWN ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ ACU และ JAS ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เพื่อซื้อขายหุ้น TTTBB และหน่วยลงทุนใน JASIF โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนที่สำคัญคือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขายได้อนุมัติการขายหุ้น TTTBB และหน่วยลงทุน JASIF ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน, ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF อนุมัติการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และบรรลุเงื่อนไขบังคับก่อนอื่นๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงสำเร็จครบถ้วน
AWN จะขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อน จึงจะลงนามในสัญญาซื้อ-ขายหุ้นและหน่วยลงทุน โดยบริษัทฯ คาดว่า ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า การลงทุนขยายธุรกิจในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ทำให้บริษัทมีขีดความสามารถในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ที่ครอบคลุมลูกค้าที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและรอบนอกตัวเมือง รวมถึงช่วยลดทอนความซ้ำซ้อนของการลากสายไฟเบอร์โดยไม่จำเป็น ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยรวมแล้วการลงทุนนี้จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว นอกจากนี้การที่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักและผู้เช่าของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จะส่งเสริมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงขึ้น รวมถึงจะมีการปรับเงื่อนไขให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งสร้างโอกาสแก่กองทุนในการลงทุนทรัพย์สินโทรคมนาคมของบริษัทเพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ADVANC ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตเหนือตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้เติบโต 27% เทียบกับปีก่อน มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 93,100 ราย โดยปัจจุบันมีลูกค้ารวม 1.86 ล้านราย บริษัทตั้งเป้ามีฐานลูกค้า 2.2 ล้านรายในปีนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- DTAC เปิด 5 เหตุผลสำคัญดีลควบรวม TRUE ย้ำผู้ถือหุ้นหลัก ‘ซีพี กรุ๊ป และเทเลนอร์ กรุ๊ป’ พร้อมหนุนการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของไทย
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP