×

Google เปิดงานวิจัย ‘เศรษฐกิจดิจิทัลไทย’ คาดปี 68 โต 5 หมื่นล้านดอลลาร์ อีคอมเมิร์ซ-เรียกรถผ่านแอปฯ บูมไม่หยุด

03.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • Google, Temasek และ Bain & Company เปิดผลวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 360 ล้านคน คาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลปีนี้คือ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ภายในปี 2568 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจากความนิยมของอีคอมเมิร์ซ​และบริการเรียกรถออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน
  • มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอยู่ที่ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย โดย ‘การท่องเที่ยวออนไลน์’ คืออุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินมากที่สุด แต่ปัญหาการขาดบุคลากรและเงินลงทุนในสตาร์ทอัพถือเป็นความท้าทายใหญ่

บทบาทของสมาร์ทโฟนในบริบทโลก ณ ปัจจุบันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราชนิดที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะ ‘คนไทย’ 

 

ถ้าลองไปพลิกดูข้อมูลจาก Hootsuite ก็จะพบว่าคนไทยมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนในปี 2562 สูงมากๆ นำโด่งเป็นอันดับ 1 ของโลก เฉลี่ยผู้ใช้งาน 1 คนจะใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือวันละ 5.13 ชั่วโมง สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.13 ชั่วโมง

 

แล้วถ้าดูทั้ง 10 อันดับประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุดก็จะพบว่ามีถึง 6 ประเทศในอาเซียนที่ติดเข้ามาอยู่ในลิสต์นี้ ในจำนวนนี้ ไทย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย คือ 4 ประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก และสูงกว่าสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนเสียอีก

 

ตัวเลขเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเรา และสะท้อนนัยสำคัญอย่างไร

 

 

ยิ่งคนใช้เน็ตมือถือเยอะ เศรษฐกิจดิจิทัลยิ่งโต

Google, Temasek และ Bain & Company ได้เปิดผลวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน (e-Conomy SEA 2019) และพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 360 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ใช้งานที่ใช้บริการในเศรษฐกิจดิจิทัลและไม่ได้ใช้เท่าๆ กันที่อย่างละครึ่ง

 

คาดการณ์ว่าในปี 2562 เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนน่าจะมีมูลค่าแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ขณะที่อีก 6 ปีข้างหน้าในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งอาเซียนมีแนวโน้มจะโตเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า คิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เมื่อลดสเกลมาดูแค่ภาพรวมของประเทศไทย จะพบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปัจจุบัน (2562) น่าจะมีมูลค่าที่ประมาณ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 29% ต่อปีเมื่อเทียบกับปี 2558 (6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียเท่านั้น (40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

ส่วนในปี 2568 ที่จะถึงนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยน่าจะขยายตัวต่อปีที่ประมาณ 24% และมีมูลค่าแตะหลัก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ไม่ยาก 

 

โดยปัจจุบัน 4 เซกเตอร์ใหญ่ที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมากคือ อีคอมเมิร์ซ​ (e-Commerce), สื่อออนไลน์ (สื่อ, เกม, โฆษณา, บริการสตรีมมิงเพลงและวิดีโอ), บริการเรียกรถออนไลน์ (Ride Hailing) และการท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel)

 

มีการเปิดเผยว่าตัวกระตุ้นชั้นดีที่ช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนและไทยเติบโตเป็นอย่างมากคือความนิยมของอีคอมเมิร์ซ​และบริการเรียกรถออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสองธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นแบบมหาศาลและเร็วเหนือความคาดหมายของหลายฝ่ายไปพอสมควร

 

 

เศรษฐกิจดิจิทัลแต่ละอุตสาหกรรมโตระดับใดบ้าง

ถ้าดูจากภาพข้างต้นจะเห็นว่าสัดส่วนผู้ใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เกมออนไลน์ที่มีจำนวนผู้ใช้งานแบบแอ็กทีฟเพิ่มขึ้นเป็น 180 ล้านรายภายในปีนี้ (ปี 2558: 130 ล้านราย)

 

ที่น่าตกใจคืออีคอมเมิร์ซและบริการเรียกรถผ่านแอปฯ เพราะทั้งสองบริการมีอัตราการเติบโตในเชิงจำนวนผู้ใช้งานแบบก้าวกระโดดมากถึง 3 และ 5 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2558

 

ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซแบบแอ็กทีฟอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านราย (ปี 2558: 49 ล้านราย) ส่วนผู้ใช้งานแอปฯ เรียกรถอยู่ที่ราว 40 ล้านราย (ปี 2558: 8 ล้านราย)

 

 

ขณะที่ในประเทศไทย อุตสาหกรรมที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมาก ณ ปัจจุบันคือ ‘ภาคการท่องเที่ยวออนไลน์’ ในจำนวนนี้นับรวมพวกบริการจองที่พักหรือดีลที่พักออนไลน์ด้วย มีมูลค่ารวมกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% นับตั้งแต่ 2558) โดยคาดว่าในปี 2568 น่าจะมีมูลค่ามากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในทุกอุตสาหกรรม

 

ปัจจัยหลักมาจากความนิยมของที่พักแบบ Vacation Rentals เช่น Airbnb, โรงแรมราคาถูก (Budget Hotels) โดยข้อมูลจาก Google Trends พบว่ามียอดการค้นหาที่ก้าวกระโดดมากๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามียอดการเสิร์ชใน Google โตมากถึง 9 เท่า รวมถึงกลยุทธ์แบบพาร์ตเนอร์ชิปที่ทำร่วมกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดความไร้รอยต่อในขั้นตอนการให้บริการ ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น Booking x Grab

 

รองลงมาคืออีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่ามากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โตเฉลี่ยต่อปีที่ 54% นับตั้งแต่ปี 2558) โดยคาดว่าในปี 2568 น่าจะมีมูลค่ามากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองเพียงแค่การท่องเที่ยวออนไลน์เท่านั้น สาเหตุที่ทำให้มันได้รับความนิยมเป็นผลมาจากช่วงเทศกาลช้อปปิ้งที่มีบ่อยขึ้น, ลูกเล่นต่างๆ ในแอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้นมาให้คนใช้เวลาบนแอปฯ นานที่สุด (ไลฟ์, ไลฟ์ประมูล), บริการส่งในวันเดียวกัน ฯลฯ

 

ส่วนสื่อออนไลน์ก็มีการเติบโตมากเช่นกัน ปัจจุบันมีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โตเฉลี่ยต่อปีที่ 39% นับตั้งแต่ปี 2558) โดยคาดว่าในปี 2568 น่าจะมีมูลค่ามากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวกระตุ้นที่ทำให้ Online Media โตเป็นผลมาจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ความนิยมของแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้น เช่น Bigo และ TikTok ไปจนถึงการมี Local Content Creators ที่แข็งแกร่ง

 

ฝั่งบริการเรียกรถผ่านแอปฯ ก็ยังอยู่ในทิศทางที่ดีเหมือนกับภาพรวมการเติบโตในระดับภูมิภาค ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (โตเฉลี่ยต่อปีที่ 36% นับตั้งแต่ปี 2558) และคาดว่าน่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 6 ปีต่อจากนี้

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ได้รับความนิยมมาจากการที่แพลตฟอร์มเริ่มขยายบริการของตัวเองออกไปให้มีความหลากหลายขึ้น เช่น หันมาจับบริการส่งอาหาร (Food delivery), บริการทางการเงิน (Financial Service) รวมถึง Loyalty Program เพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้ใช้งาน

 

ซึ่งบริการเรียกรถผ่านแอปฯ อีคอมเมิร์ซ และสื่อออนไลน์ นับว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจมากๆ เพราะเป็นการขยายบริการในแพลตฟอร์มของตัวเองให้ครอบคลุมด้านอื่นๆ ในไลฟ์สไตล์ออกไปมากขึ้น หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘Everyday App’ ซึ่งในมุมหนึ่งยังเป็นการดึงดูดผู้ใช้งานให้มาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มของพวกเขาให้นานที่สุด

 

เอพริล ศรีวิกรม์ รักษาการผู้จัดการ Google ประเทศไทย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าพฤติกรรมของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันในเอเชียสะท้อนนัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือยิ่งคนใช้เวลาบนแอปฯ นานมากเท่าไรก็จะมีแนวโน้มซื้อหรือจ่ายเงินเพื่อรับบริการและผลิตภัณฑ์จากแพลตฟอร์มเหล่านั้นมากขึ้นเท่านั้น ถือเป็นเทรนด์และพฤติกรรมผู้ใช้งานที่อาจจะแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ พอสมควร

 

ปัญหาคืออะไร ภาพรวมต่อจากนี้จะเคลื่อนไปในทิศทางไหน

แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะดี แต่เอพริลก็ชี้ให้เห็นว่าไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายด้าน ทั้งในแง่ของเงินลงทุนในสตาร์ทอัพ ซึ่งสถานการณ์ ณ วันนี้ สตาร์ทอัพไทยยังขาดเงินทุนสนับสนุนในการจัดตั้งธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง (Later Stage)

 

อีกประเด็นสำคัญคือ ‘การขาดทาเลนต์’ หรือบุคลากรที่มีศักยภาพและทักษะด้านดิจิทัลเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง แต่สามารถแก้ไขได้โดยการพัฒนาและอัปสกิลคนรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล หรือจ้างบุคลากรระดับผู้จัดการที่มีประสบการณ์ระดับสูงจากอุตสาหกรรมอื่นๆ มาให้การสนับสนุน 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากภาพรวมคร่าวๆ ก็ถือว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งเอพริลเชื่อว่าถ้าผู้ให้บริการดิจิทัลต่างๆ สามารถขยายบริการตัวเองออกไปตีตลาดต่างจังหวัดได้มากขึ้นก็จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ 

 

เพราะปัจจุบันยอดการใช้จ่ายกับบริการที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลของผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะอยู่ที่  549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าต่างจังหวัดที่มีปริมาณเพียงแค่ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น คิดง่ายๆ คือผู้ใช้งานในพื้นที่เมืองหลวงจะมียอดการทำธุรกรรมออนไลน์มากกว่าผู้ใช้งานต่างจังหวัดสูงถึงประมาณ 4 เท่าตัว

 

เท่ากับว่าถ้าผู้ให้บริการต่างๆ สามารถโน้มน้าวหรือบุกตลาดต่างจังหวัดได้ครอบคลุมขึ้น ก็จะมีโอกาสช่วยขับเคลื่อนให้รายได้และมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising