จีนกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทุเรียนจีน ในประเทศเป็นครั้งแรกในฤดูร้อนนี้หลังจากเพาะปลูกมากว่า 4 ปี แม้วันนี้อาจจะยังไม่กระทบกับไทยที่ส่งออก ‘ราชาแห่งผลไม้’ เป็นอันดับ 1 แต่อนาคตก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น
ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ระบุว่า ทุเรียนประมาณ 2,450 ตัน ซึ่งปลูกบนเกาะไหหลำเขตร้อนทางตอนใต้ของจีนจะออกจำหน่ายในเดือนมิถุนายน โดยพันธุ์ที่ปลูกได้รับการปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการปลูกในแดนมังกร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ม.หอการค้าไทย คาดพื้นที่ปลูกและผลผลิตทุเรียนไทยพุ่งกว่าเท่าตัวภายใน 5 ปี แนะจับตา 10 ปัจจัยเสี่ยงกดดันราคาตก
- กระแส ทุเรียน ฟีเวอร์ใน ‘แดนมังกร’ เป็นข่าวดีเกินไป หรือเป็นสัญญาณเตือนภัยของชาติอาเซียนกันแน่
- เรากำลังจะตาย! นโยบายปลอดโควิดของแดนมังกร สะเทือน ‘ทุเรียน-มะม่วง’ ที่อาจ ‘เน่า’ คาด่านตรวจสอบก่อนได้ขายจริง
South China Morning Post รายงานว่า การเก็บเกี่ยวดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะในอนาคตมีการวางแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูก ‘ทุเรียน Made in China’ อีก 3,333 เฮกตาร์ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าผลผลิตได้ 5 พันล้านหยวน หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2028
นักวิเคราะห์กล่าวว่าทุเรียนที่ปลูกในจีนจะสามารถลดราคาที่จำหน่ายภายในประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมีราคาแพงเนื่องจากการขนส่ง แต่ทุเรียน Made in China จะถูกใจชาวจีนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ ‘รสชาติ’ ว่าจะถูกใจหรือไม่
ที่ผ่านมาผลไม้ที่ปลูกในจีนมักมีรสชาติที่แตกต่างจากต้นฉบับที่นำเข้า ด้วยเหตุนี้ เวงหมิง นักวิจัยจากสถาบันการพัฒนาชนบทภายใต้สถาบันสังคมศาสตร์จีน จึงมองว่าการที่จีนรุกคืบเข้าไปในการปลูกทุเรียน “จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทุเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน”
ทุเรียนเป็นผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของจีน โดยมีมูลค่าถึง 4.03 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยมีปริมาณนำเข้ารวม 8.25 แสนตัน ตามข้อมูลจากหอการค้าจีน ขณะที่ทุเรียนเป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาว โดยมากกว่า 60% ของผลไม้ในจีนถูกซื้อโดยผู้บริโภคอายุ 16-35 ปี ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดย Jingdong Supermarket ในเดือนพฤศจิกายน
ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับระยะเวลาการเก็บรักษาที่สั้น และความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นในจีน ส่งผลให้ทุเรียนมีราคาสูง มีรายงานระบุว่า ภายในปี 2026 ตลาดทุเรียนของจีนจะมีมูลค่าเกือบ 1.3 แสนล้านหยวน หรือราว 6.4 แสนล้านบาท
ประเทศไทยคิดเป็น 96% ของการนำเข้าทุเรียนของจีนตามมูลค่า และคิดเป็น 95% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมดในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามจีนเองพยายามที่จะเพาะปลูกทุเรียนคุณภาพสูงในมณฑลยูนนาน, กว่างซี และไห่หนาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีโอกาสที่จะคล้ายกับกรณีขององุ่นเกรดสูงของญี่ปุ่นสายพันธุ์ ‘ไชน์มัสแคต’ ที่จีนสามารถเพาะปลูกเองได้สำเร็จ
หากวันหนึ่งที่จีนประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนจนเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ การนำเข้าก็จะลดลงอย่างแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอย่างมากมายในระดับล้มทั้งยืนได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เพาะปลูกทุเรียนต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวัง
ด้านข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนจาก 6 แสนไร่ เป็น 9 แสนไร่ ซึ่งส่งผลให้มีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนตันต่อปี เป็น 1.3 ล้านตันต่อปี
สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับตลาดในแผนมังกรคือ โอกาสที่ทุเรียนไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะปังหรือพังขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน 2. ผู้บริโภคจีนมีความต้องการสูง 3. คุณภาพทุเรียนดี ไม่มีทุเรียนอ่อน
อ้างอิง: