×

เรากำลังจะตาย! นโยบายปลอดโควิดของแดนมังกร สะเทือน ‘ทุเรียน-มะม่วง’ ที่อาจ ‘เน่า’ คาด่านตรวจสอบก่อนได้ขายจริง

06.05.2022
  • LOADING...
ทุเรียน-มะม่วง

ผู้ปลูกผลไม้ของไทยเป็นกลุ่มล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปลอดโควิด (Zero-COVID) ของจีน เนื่องจากยอดขายของพวกเขาไปยังเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกตกต่ำ อันเนื่องมาจากการตรวจสอบการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้น

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน จีนปิดด่านในมณฑลยูนนาน ชายแดนลาวชั่วคราว หลังจากพบไวรัสในลังที่ใส่ทุเรียนของไทย นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายนที่จีนประกาศปิดพรมแดนหลังจากพบไวรัสในลังใส่ผลไม้จากไทย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

รายงานของ Nikkei Asia ชี้ว่า การปิดชายแดนส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย และอาจลุกลามไปยังผู้ปลูกทุเรียนไทยซึ่งจะขาดทุนมหาศาล เพราะตลาดในประเทศเองก็ไม่อาจรองรับผลผลิตที่เกิดขึ้นได้หมด

 

“เกษตรกำลังจะตาย และเราต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจากรัฐบาล เนื่องจากการซื้อในประเทศไม่สามารถช่วยดูดซับอุปทานส่วนเกินได้” สมชาย ชุนนวล ผู้ปลูกทุเรียนกล่าว

 

ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก

คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะผลิตทุเรียนได้ 1.4 ล้านตันในปีนี้ เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการที่แข็งแกร่งจากประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกราชาแห่งผลไม้กันมากขึ้น

 

ทุเรียน-มะม่วง

 

เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการ ผลที่ตามมาคือราคาที่ลดลงอย่างมาก ราคาทุเรียนไทยลดลงเหลือประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยอยู่ในระดับ 150-200 บาทต่อกิโลกรัมในปีที่แล้ว และคาดว่าจะลดลงอีกหากจีนยังคงตรวจสอบผลไม้ไทยอย่างเข้มงวด

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเจรจากับจีนเพื่อเริ่มเปิดด่านโม่ฮาน และกำลังเร่งอำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนผ่านท่าเรือหลักของกรุงเทพฯ และแหลมฉบังในเมืองชลบุรี เพื่อเร่งส่งทุเรียนไปยังจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อผลไม้รายใหญ่ที่สุด โดยทั่วไปแล้วจีนซื้อประมาณ 50% ของผลผลิตทุเรียนประจำปีของไทย

 

แต่มาตรการดังกล่าว “ไม่น่าจะช่วยอะไรได้ เพราะทุเรียนไทยต้องใช้เวลาถึง 5 วันจึงจะเข้าจีนได้ อันเนื่องมาจากการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนภายใต้นโยบายปลอดโควิด” เจ้าหน้าที่สมาคมทุเรียนไทยกล่าว ซึ่งการตรวจสอบที่ช้ากว่าที่คาดไว้ทำให้เกิดการเน่าเสีย และแน่นอนผลผลิตที่เสียแล้วย่อมถูกส่งกลับไทย

 

เอกชนประกาศรับซื้อทุเรียน

ในขณะเดียวกันภาคเอกชนต่างๆ ก็ออกมาประกาศถึงนโยบายรับซื้อทุเรียนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครือ CP ได้ออกโรงมาช่วยเกษตรกรด้วยการทำโครงการ Let’s DO RIAN โดยการจัดทำร้านขายทุเรียนจำนวนกว่า 500 จุด ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านค้าปลีกค้าส่งในเครือ CP ทั่วประเทศ ได้แก่ ห้าง Lotus’s, Lotus’s go fresh, CP Fresh Mart และ 7-Eleven

 

ขณะที่ Lotus’s ประกาศแผนเดินหน้าซื้อทุเรียนไทยกว่า 3 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10 เท่า หวังช่วยเกษตรกรจากราคาทุเรียนตกต่ำ โดยนำขายในไฮเปอร์มาร์เก็ต 236 สาขาทั่วประเทศ

 

ส่วน Makro คาดว่าจะรับซื้อทุเรียนประมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 5 เท่าตัว เป็นผลผลิตจากเกษตรกรกว่า 70 ราย ใน 11 จังหวัด ซึ่งไปวางขายใน Makro ทั้ง 135 สาขา 

 

โดยทุเรียน 5 สายพันธุ์หลักที่ Makro นำมาจำหน่าย ประกอบด้วยหมอนทอง, ชะนี, พวงมณี, กระดุม, ก้านยาว จากแหล่งผลิตในจังหวัดจันทบุรี, ระยอง, ตราด, นครศรีธรรมราช, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, นครราชสีมา, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ, อุตรดิตถ์ ซึ่งทุเรียนพันธุ์หมอนทองได้รับความนิยมสูงสุด มีสัดส่วนถึง 95% ของยอดขายทุเรียนทั้งหมด

 

ด้านเครือ Central Retail ประกาศเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลผลิตผลไม้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 100% จากพี่น้องชาวสวนทั่วประเทศกว่า 1,000 กลุ่ม ทั้งมังคุด เงาะ และทุเรียน สำหรับเข้าไปวางขายใน Tops, Central Food Hall และ FamilyMart

 

ทุเรียน-มะม่วง

 

มะม่วงก็ไม่รอด

มะม่วง ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เติบโตเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ก็ถูกกักไว้ที่ท่าเรือของจีนเช่นกันเนื่องจากการตรวจโควิด ด้วยเหตุนี้มะม่วงหลายล้านตันกำลังล้นตลาด และราคาตกลงต่ำเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อเทียบกับราคา 30-70 บาทต่อกิโลกรัม ณ เวลานี้ของปีที่แล้ว

 

กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าซื้อมะม่วงได้มากถึง 14,000 กิโลกรัมจากเกษตรกรโดยตรง และนำไปจำหน่ายในโรงเรียนโดยหวังว่าจะผลักดันราคาให้สูงขึ้น แต่รายงานของ Nikkei Asia ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวอาจช่วยไม่ได้มาก เนื่องจากการซื้อเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการผลิตทั้งหมดของไทยที่ 1.4 ล้านตันในปีนี้

 

แต่ Nikkei Asia กล่าวในรายงานว่า เกษตรผู้ปลูกมะม่วงได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่น่าเชื่อจาก MILLI หรือ มิลลิ (มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล) กิน #ข้าวเหนียวมะม่วง บนเวที Coachella เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก 

 

ทำให้แฮชแท็ก #MILLILiveatCoachella กลายเป็นหัวข้ออันดับ 1 บน Twitter ด้วยจำนวนการทวีต 1.39 ล้านทวีต ขณะเดียวกันก็ทำให้กระแสเมนูของหวานที่ขึ้นชื่อของไทยเกิดทันที เกิดการต่อแถวที่ร้าน ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

 

ทุเรียน-มะม่วง

 

Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย เผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภายหลังจากที่ MILLI กินข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้จำนวนออร์เดอร์บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า 

 

ขณะที่ GrabFood ก็บอกกับ THE STANDARD WEALTH เช่นเดียวกันว่า จำนวนออร์เดอร์และมูลค่าการสั่งซื้อเมนูข้าวเหนียวมะม่วงผ่าน GrabFood เพิ่มขึ้นกว่าระดับปกติ 4 เท่า

 

MILLI Effect ดันยอดขาย

“เราชื่นชมเธอ เพราะการแสดงของเธอช่วยชีวิตเราไว้” มานพ แก้ววงษ์นุกุล คนปลูกมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทรากล่าว “เรายังวางแผนที่จะส่งกระเช้ามะม่วงให้เธอด้วย”

 

“เราได้รับคำสั่งซื้อมะม่วงจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากร้านอาหารไทยหลายแห่งต้องการเพิ่มข้าวเหนียวมะม่วงลงในเมนูของพวกเขา” สมพงษ์ สว่างมณี พ่อค้ามะม่วงในเมืองพิจิตรกล่าว

 

‘MILLI Effect’ สร้างความประหลาดใจให้กับรัฐบาลไทย และทำให้รัฐบาลไทยหันมาสนใจ Soft Power ที่เกิดจากเรื่องนี้มากขึ้น โดยต้องการใช้เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของไทยอีกด้วย

 

ทุเรียน-มะม่วง

 

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Soft Power มาหลายปีแล้ว และ MILLI Effect ได้กระตุ้นให้กรมฯ ทำมากขึ้น

 

เขากล่าวว่ากระทรวงได้ให้การสนับสนุน 659 บริษัท สร้างมูลค่าการค้าประมาณ 941 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของเป้าหมายการค้า 3.6 พันล้านบาทสำหรับการค้าที่เกิดจาก Soft Power ในปีนี้

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising