×

กระแส ทุเรียน ฟีเวอร์ใน ‘แดนมังกร’ เป็นข่าวดีเกินไป หรือเป็นสัญญาณเตือนภัยของชาติอาเซียนกันแน่

13.09.2022
  • LOADING...

เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วที่ชาวจีนแทบไม่ได้เดินทางออกมานอกประเทศเลยจากสถานการณ์โควิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะแก้ความคิดถึงการเดินทางออกมาท่องเที่ยวต่างแดนไม่ได้ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่แทนความคิดถึงได้คือ ‘ทุเรียน’ ที่กลายเป็นผลไม้ยอดฮิตอันดับหนึ่งของชาวแดนมังกรไปแล้ว เพียงแต่การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากมายในปีนี้ ซึ่งมีผลจากเรื่องข้อตกลง RCEP อาจไม่ได้เป็นข่าวดีสำหรับชาติผู้ผลิตราชาแห่งผลไม้เสมอไป

 

ด้วยรสชาติที่หอม หวาน มัน เข้มข้น กลิ่นเฉพาะตัวของทุเรียน ไปจนถึงคุณค่าทางสารอาหารที่สูง ทำให้ผลไม้เมืองร้อนชนิดนี้กลายเป็นที่ต้องใจของชาวจีนอย่างมาก ถึงสนนราคาจะสูงถึงชิ้นละ 7 ดอลลาร์ หรือราว 250 บาท แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในประเทศจีนจะต้องมีชั้นวางผลไม้ที่มีทุเรียนอยู่เต็มไปหมด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ย้อนกลับไปในปี 2021 จีนนำเข้าทุเรียนถึง 821,600 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 42.7% และมูลค่าในการนำเข้าเพิ่มขึ้น 82.4% ที่ 4.205 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.54 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลไม้ที่มีปริมาณการนำเข้า และมีมูลค่าสูงที่สุด เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 4 เท่าตัว ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความนิยมในทุเรียนของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

แต่ยังมีเรื่องที่น่าตกใจได้อีก เพราะนับจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นปีแรกที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ได้เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยข้อตกลงนี้เป็นสะพานทางการค้าสำหรับ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย กับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

ข้อตกลงนี้ทำให้จีนมีการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากประเทศในเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในกรณีของไทยมีการเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ความตกลง RCEP ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมงอีกด้วย

 

ทำให้การนำเข้าผลไม้จากประเทศในอาเซียนเป็นเรื่องง่าย และทำให้การเข้าถึงทุเรียนของชาวจีนผู้คลั่งไคล้ผลไม้ชนิดนี้ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก โดยแม้จะไม่สามารถออกมาช้อปปิ้งตามตลาดสดในประเทศไทยหรือมาเลเซียได้ แต่ก็สามารถไปเลือกซื้อหาทุเรียนมารับประทานอย่างง่ายดายได้ที่ตลาดค้าส่งผลไม้ที่เมืองสิบสองปันนา ที่อยู่ในแคว้นยูนนาน ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางทุเรียนจากอาเซียนที่ใหญ่ที่สุด

 

ความนิยมนั้นสูงถึงขั้นที่ผู้ค้าทุเรียนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า ในช่วงพีคฤดูท่องเที่ยวเคยขายทุเรียนได้มากถึงวันละ 1 ตัน ซึ่งทำให้แม้ต้นทุนในการนำเข้าจะถูกลง แต่สนนราคาของทุเรียนนั้นกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

ซึ่งนอกจากจะรับประทานเป็นผลไม้ธรรมดาแล้ว ยังเริ่มมีการนำไปต่อยอดทำเมนูอื่นๆ ด้วย เช่น เค้กทุเรียน, เครปเค้กทุเรียน, พิซซ่าทุเรียน ไปจนถึงหม้อไฟทุเรียน (เดารสชาติไม่ถูกเลย) โดยที่ชาวเน็ตในจีนช่วยกันปั่นกระแสความคลั่งไคล้ให้ยิ่งรุนแรงขึ้น

 

ทั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องดีที่สามารถจำหน่ายทุเรียนได้มากสำหรับชาติผู้ผลิตอย่างไทยหรือมาเลเซีย รวมไปถึงเวียดนามและ สปป.ลาวที่กำลังจะตามมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาด้วยคือ ปัญหาการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคเวลานี้

 

โดยในประเทศไทยแม้จะมีการเพิ่มความสามารถในการผลิตทุเรียนเป็น 1.29 ล้านตันในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 30% แล้ว แต่ยังมีแนวโน้มความต้องการที่มากกว่านี้ “การนำเข้าจากจีนสูงมากอยู่แล้ว แต่อัตราการบริโภคของชาวจีนคาดว่าจะสูงขึ้นไปอีก เกษตรกรชาวไทยจึงได้รับการกระตุ้นให้ขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น” เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศจีนให้สัมภาษณ์กับ Nikkei

 

การบริโภคทุเรียนนั้นไม่ได้มีเฉพาะในตลาดกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้น ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ความต้องการทุเรียนเทพของมาเลเซียพันธุ์ ‘มูซังคิง’ หรือที่ชาวจีนให้สมญาว่า ‘Hermès แห่งทุเรียน’ ก็รุนแรงไม่ต่างกัน และปัญหาใหญ่คือ ผลผลิตในปีนี้จะลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกเจอฝนถล่มอย่างหนักจนผลผลิตเสียหาย อย่างไรก็ดีรัฐบาลมาเลเซียกดปุ่มไฟเขียวในการทำทุกอย่างเพื่อขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้

 

อย่างไรก็ดีการขยายพื้นที่เพาะปลูกหมายถึงปัญหาในระยะยาวที่จะตามมา เช่น ในประเทศมาเลเซียต้องมีการรุกล้ำพื้นที่เข้าไปในป่า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมโดยที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า กระแสความคลั่งไคล้ในทุเรียนของชาวจีนจะยืนยาวถึงเมื่อไร และการหวังพึ่งพาการนำเข้าจากจีนจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศเกินไปหรือไม่

 

ทุเรียนนั้นเป็นผลไม้ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีกว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งถ้าหากวันหนึ่งชาวจีนเกิดไม่นิยมบริโภคขึ้นมาแล้ว ผลผลิตที่ออกมาคือคราบน้ำตาของเกษตรกร ไม่นับเรื่องปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่มีอะไรแน่นอน

 

เหมือนที่จีนเพิ่งจะแบนการนำเข้าผลไม้อย่างสับปะรดจากไต้หวันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อรัฐบาลไต้หวันของ ไช่อิงเหวิน นายกรัฐมนตรีที่มีท่าทีไม่เป็นมิตร และยังเคยระงับการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ ด้วยจากความไม่สงบในเขตทะเลจีนใต้ สำหรับไทยและมาเลเซียแม้จะเป็นมิตรที่ดีต่อจีน โดยไม่มีปัญหาหรือความบาดหมางทางการเมือง แต่ไม่มีอะไรที่แน่นอนบนโลกใบนี้

 

จีนเองพยายามที่จะเพาะปลูกทุเรียนคุณภาพสูงในมณฑลยูนนาน, กว่างซี และไห่หนาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีโอกาสที่จะคล้ายกับกรณีขององุ่นเกรดสูงของญี่ปุ่นสายพันธุ์ ‘ไชน์มัสแคต’ ที่จีนสามารถเพาะปลูกเองได้สำเร็จ 

 

หากวันหนึ่งที่จีนประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนจนเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ การนำเข้าก็จะลดลงอย่างแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอย่างมากมายในระดับล้มทั้งยืนได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เพาะปลูกทุเรียนต้องก้าวเดินอย่างระมัดระวัง

 

ภาพ: Jia Minjie / VCG via Getty Images

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising