×

คิดแบบผู้บริหาร Divana นำพาวิสัยทัศน์ Mega Trend และ Micro Behavior ขับเคลื่อนธุรกิจแบรนด์สปาไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

08.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • กลยุทธ์มองให้เห็น Mega Trend และทำความเข้าใจ Micro Behavior คือหัวใจหลักที่นำพาแบรนด์ Divana มุ่งไปสู่ทิศทางที่ใช่ และเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง เพื่อตอบโจทย์ความพึงพอใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ตง-ธเนศ จิระเสวกดิลก และ ตี๋-พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ สองหัวเรือใหญ่ที่ร่วมกันก่อตั้งแบรนด์สปาไทย Divana จนมีชื่อเสียงโด่งดังในกลุ่มลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะเอเชีย) ก็ต่อยอดพัฒนาแบรนด์โดยอาศัยแพสชันอันแรงกล้าผ่านวิธีคิดที่มองเห็นเป้าหมายปลายทางของธุรกิจที่ชัดเจน นั่นคือการสร้างความสุขและสร้างสุขภาพที่ดีและยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกคน ซึ่งการจะเดินหน้าไปให้ถึงจุดหมายนั้น ‘กลยุทธ์ที่ดี’ เป็นสิ่งที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญมาตลอดตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะกลยุทธ์ Mega Trend และ Micro Behavior ถือเป็นหัวใจหลักที่นำพาแบรนด์ให้มุ่งไปสู่ทิศทางที่ใช่ และเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง 

 

 

Divana มองว่าเทรนด์ความงามและสุขภาพเปลี่ยนไปอย่างไร

ธเนศ: ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจสปามากว่า 20 ปี เราพบว่าเทรนด์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สังเกตจากธุรกิจของ Divana เองก็มีการขยายรูปแบบของโมเดลธุรกิจ ทั้งเซอร์วิสจากสปามาสู่เมดิคัลสปา ไปสู่ Esthetic Clinic แล้วก็มาเป็น Wellness Cafe หรือแม้กระทั่งจากสปา เราก็พัฒนาต่อยอดไปสู่สปาที่เป็นสกินแคร์และสปาโปรดักต์ ซึ่งโมเดลที่เราขยายออกมาล้วนเป็นการตอบรับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เทรนด์ของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน ช่วงเริ่มแรกที่เปิดสปา เรามีลูกค้า 80-90% เป็นนักท่องเที่ยว และเราโฟกัสที่ชาวยุโรปเป็นหลัก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่แล้ว เพราะเขามาแล้วได้เรื่องของสุขภาพ ได้เรื่อง Wellness ที่นอกเหนือจากไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เดินทาง อาหาร ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ และเทรนด์การนวดไทยแผนโบราณก็ได้รับความนิยมมาก แต่จากวันนั้นถึงวันนี้เทรนด์ลูกค้าก็เริ่มเปลี่ยน กลายเป็นว่าทุกวันนี้เรามีลูกค้าที่เป็นชาวเอเชียมาใช้บริการมากขึ้น ทั้งคนญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน ไต้หวัน เกาหลี เริ่มมาทดแทนกลุ่มลูกค้าชาวยุโรป พอเทรนด์เปลี่ยนไปแบบนี้ ไลฟ์สไตล์ของธุรกิจเราก็เริ่มถูกแทนที่โดยกลุ่มลูกค้าเอเชีย 

 

 

อะไรทำให้สปา Divana เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเอเชีย
ธเนศ: เขาจะชอบอะไรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ เช่น บริการต้องมีความพิเศษ ถ้าเป็นทรีตเมนต์ก็ต้องเป็นซิกเนเจอร์ทรีตเมนต์ที่ไม่เหมือนใคร ต้องมีการผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมของความเป็นไทย ทำให้ Divana เองก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเอเชียได้อย่างเต็มที่ ถ้าวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเรา 80% คือชาวต่างชาติ และในจำนวนนี้เป็นลูกค้าชาวเอเชียถึง 70% เลย หลังจากนั้นเทรนด์สุขภาพก็เปลี่ยนไปมากขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่เป็นแค่เรื่องของความผ่อนคลาย การใช้ชีวิตของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นคือมานวดเพื่อต้องการความผ่อนคลาย แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเทรนด์ที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น

 

 

นักท่องเที่ยวกลุ่มใดในเอเชียที่น่าสนใจ
ธเนศ: ผมมองว่าเทรนด์ของ Generation M เป็นเทรนด์ที่สำคัญ พวกเขาคือกลุ่มวัยรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับดิจิทัล คนกลุ่มนี้จะชอบความหวือหวา ชอบเป็นส่วนหนึ่งของโซเชียล ชอบไลฟ์สไตล์ที่มีความแอดเวนเจอร์ ชอบอะไรที่ไม่เหมือนใคร ถ้าเราต้องการจะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ แค่สปาอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ เราจึงทำเป็น Wellness Cafe ขึ้นมา ซึ่งก็คือ Divana Cafe เป็นที่แฮงเอาต์ให้เขามาพบปะ ดื่มด่ำกับอาหารและเครื่องดื่ม (ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นชาวเอเชียอย่างมาก) อย่างน้อยมันช่วยสร้างแบรนดิ้ง เด็กกลุ่มที่เป็น Gen M พอมาคาเฟ่เขาก็ได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมหรือความเป็นแบรนด์ Divana ได้ผ่านทางการออกแบบที่แตกต่าง (การตกแต่งร้านจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ธีมซัมเมอร์ ธีมใบไม้เปลี่ยนสี หรือฤดูหนาว ซึ่งกลายเป็นจุดเช็กอินและจุดถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียล) ทำให้เขารู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตรงนี้แล้วเอาไปเผยแพร่ในสังคมโซเชียลของเขาได้ 

 

 

เหตุผลที่ Divana ให้ความสำคัญกับ Mega Trend
ธเนศ: แต่เดิมเรามองเทรนด์สปาเป็นการผ่อนคลาย คือดูแลสุขภาพและแก้ปัญหาของลูกค้าเป็นเรื่องๆ ไป เพราะตอนนั้นเทคโนโลยียังมาไม่ถึง กระทั่งมาเป็นการแก้ปัญหาแบบองค์รวมคือแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา โดยเน้นไปในเรื่องของ Wellness จนกระทั่งมันไม่ใช่แค่การปัญหาที่ต้นตออีกต่อไปแล้ว แต่เราคิดต่อไปอีกว่าจะทำอย่างไรให้คนมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุขและมีสุนทรียะ เพราะเทคโนโลยีมันมาตอบโจทย์เรื่อง Longivity ตอนนี้นับจากปัจจุบันไปอีก 5-10 ปี เทรนด์ Longivity ที่เรามองว่าเป็นสังคมอายุยืนมันจะตอบโจทย์ในอนาคตแน่นอน ต่อไปพวกเราจะมีอายุยืนมากขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข มีไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์และมีคุณค่าในการใช้ชีวิต สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือต้องมองให้ออกว่า Mega Trend ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมันมีอะไรบ้าง แล้วพอเรามองเห็นเทรนด์แล้ว เรื่องของ Micro Behavior หรือกลุ่มเป้าหมายของเทรนด์ที่เราเห็นเขาเป็นคนกลุ่มไหน แล้วความสามารถและนวัตกรรมต่างๆ ที่เรามีจะไปตอบโจทย์กลุ่มคนและตอบโจทย์เทรนด์นี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราจะใช้ศักยภาพของเราได้อย่างไร มันจึงกลายเป็นกลยุทธ์ 3 ข้อสำคัญที่เราเลือกจะโฟกัสนับจากนี้ เพื่อจะทำให้พยากรณ์ได้ว่าในอนาคตเราจะต้องทำอะไรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เราจึงต้องมองเห็น Mega Trend ซึ่ง Mega Trend ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ เราแบ่งออกมาได้เป็น 3 เรื่องที่เรียกว่า AIL (A = Ages, I = Illness และ L = Lifestyle)

 

 

1. Ages เรื่องของอายุ การเจ็บไข้ได้ป่วย และไลฟ์สไตล์ 3 เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่มีผลกับการใช้ชีวิตและมีผลต่อเรื่องสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แค่ในปี 2020 แต่มันจะมีผลไปถึงปี 2030 หรือ 2050 เลยทีเดียว อันแรก Ages หมายความว่าอย่างไร เท่าที่เรามองเห็นในตอนนี้ ปัจจุบันเรามีค่าเฉลี่ยอายุที่ยืนยาวขึ้น จากเดิมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยยืนยาวขึ้น โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี (แบ่งเป็นผู้หญิงอายุเฉลี่ย 78 ปี ผู้ชายอายุเฉลี่ย 72 ปี) ส่วนค่าเฉลี่ยอายุของคนทั้งโลกคือ 71.8 ปี (ชาติที่คนอายุยืนยาวมากที่สุดในโลกคือญี่ปุ่น รองลงมาคือสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์) แล้วเด็กที่เกิดใหม่ปีนี้ ค่าเฉลี่ยอายุของพวกเขาจะอายุยืนถึง 100 ปี ด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมา ทั้งระบบเก็บข้อมูล ทั้ง AI ที่เข้ามามีบทบาท หัวใจเทียม ปอดเทียม ไตเทียมต่างๆ เข้ามาช่วยชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาวได้หมด

2. Illness การเจ็บป่วย เป็นเรื่องของการเสียชีวิตแล้ว ซึ่งอัตราการเสียชีวิตที่มากที่สุดในโลกเกิดจากสาเหตุโรคหัวใจ (เส้นเลือดในหัวใจตีบ) อันดับสองคือเส้นเลือดในสมองอุดตัน อันดับสามโรคปอด ทั้ง 3 เรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นโรคที่เกิดจากโรคติดต่อ มันไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือการระบาด แต่มันเป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิต เราเรียกมันว่า NCD หรือ Non-Communicable Diseases เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดต่อ แต่มันเป็นโรคของคนเมือง ปัญหาตอนนี้คือคนเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตกันแบบไม่ได้ดูแลอย่างดี นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้น

 

3. Lifestyle ไลฟ์สไตล์ของคนก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่เราบอกว่าเมื่อสังคมของเราจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่มันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ดังนั้นเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ที่สำคัญเรียกว่า IOT หรือ Inernet of Things ที่กำลังจะมา เพื่อทำให้คนเราสามารถเชื่อมโยงทุกสิ่งในชีวิตเข้ากับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แปลว่าต่อไปเราจะถูกสปอยล์มากขึ้น เราจะเริ่มใช้ชีวิตแบบ Now ต้องทันที และอีกเรื่องที่สำคัญคือ Social Credit Scrolling ซึ่งจีนเริ่มใช้แล้ว เพราะเขาพัฒนามาก่อนเรา 5-10 ปี มันคือเครื่องมือควบคุมชีวิตของผู้คนในสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือต่อไปทุกคนที่จะอยู่ในโลกใบนี้จะไม่สามารถทำสิ่งที่ไม่ดีได้เลย ไม่สามารถทำสิ่งผิดกฎหมายได้เลย ตอนนี้แม้กระทั่งเรื่องการจราจร การลักขโมย การทำลายอากาศ สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ หรือแม้กระทั่งเรื่องใหญ่ๆ อย่างอาชญากรรม สิ่งเหล่านี้มันจะถูกตรวจสอบและบันทึกโดย IOT ทั้งหมด ถ้าเราทำอะไรผิด เราพูดโกหก เราทะเลาะวิวาท เราไปโกงใคร เราจะถูกหักคะแนน แต่ถ้าเราไปออกกำลังกาย เราไปช่วยเหลือคน เราจะได้คะแนน ซึ่งคะแนนเหล่านี้มันมีผลกับการใช้ชีวิต มีผลต่อเครดิตด้านการเงิน มีผลแม้กระทั่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ หรือการทำพาสปอร์ต ทำวีซ่าต่างๆ หรือเวลาเราจะไปกู้เงินใครก็ตาม มันจะมีผลหมด ซึ่งที่ประเทศจีนเขาเริ่มใช้กันไปแล้ว แต่ผมคาดว่าต่อไปทั่วทั้งโลกจะนำระบบนี้มาใช้อย่างแน่นอน นี่คืออีกหนึ่งเทรนด์ที่มันจะเกิดขึ้น 

 

 

แล้วภาพของ Micro Behavior ที่มองเห็นเป็นอย่างไร

ธเนศ: Micro Behavior คือกลุ่มเป้าหมายที่เราศึกษาพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของพวกเขาให้เจาะจงมากขึ้นไปอีก จากการมองเห็น Mega Trend ที่กล่าวไปแล้ว ทำให้เราเห็นกลุ่ม Aging Society พวกเขาไม่ใช่แค่กลุ่มคนผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เขาจะมีความ Young at Heart ด้วย คือไม่ยอมแก่ คนเหล่านี้อยากใช้ชีิวิตอย่างมีความสุข เราก็จะช่วยเติมเต็มเรื่องสุขภาพให้เขา กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนเมืองแน่นอนอยู่แล้ว ต่อไปกรุงเทพฯ จะไม่มีชานเมืองแล้วนะ เพราะรถไฟฟ้าจะเข้าถึงหมด ทุกที่จะเป็นใจกลางเมืองได้ แล้วต่อไปใจกลางเมืองเหล่านี้ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทซิตี้อีก 7 เมืองในประเทศ ดังนั้นมากกว่า 60% ของคนทั้งโลกจะเป็นคนเมือง โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา พอเทรนด์คนเมืองเกิดขึ้น เราก็มองเห็นพฤติกรรมของคนเหล่านี้ที่มักจะเหมือนๆ กันคือไม่นิยมกินอาหารเช้า ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย ชื่นชอบการออกไปปาร์ตี้หรือแฮงเอาต์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ สุดท้ายมันจะกลับไปที่เรื่องของ NCD ที่เราพูดถึงในตอนแรกคือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่ดูแลตัวเอง อีกอย่างที่คนเมืองมักจะเป็นกันคือความเครียด การนอนไม่หลับ โรคภูมิแพ้ สิ่งเหล่านี้เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และเป็นเทรนด์ที่คนเมืองเผชิญอยู่ เราจึงต้องมองให้ออกว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในตอนนี้และในอนาคต รวมถึงกลุ่มสุดท้ายคือ Gen M หรือวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียลเหล่านี้ พวกเขาจะเป็นอนาคตของเราเช่นกัน เราจะสื่อสารกับเขาอย่างไร เราจะตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้ด้วยวิธีไหน เราจะหาอะไรที่มาเติมเต็มเขาได้ การโฟกัส Mega Trend และมองลึกลงไปในกลุ่ม Micro Behavior เรานำสิ่งเหล่านี้มาดีไซน์เป็นบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในแต่ละความต้องการของลูกค้าให้พวกเขาได้รับทั้งความสุขและมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และมันจะเสริมให้ธุรกิจของเรายั่งยืนและเติบโตตามไปด้วย 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising