×

ผลการศึกษาในชิลีเผย วัคซีนต่างยี่ห้อมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดต่างกัน

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2021
  • LOADING...
vaccines

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชิลีเปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิดของ Sinovac มีประสิทธิภาพ 58.5% ในการป้องกันอาการป่วยจากโควิดในกลุ่มประชากรชาวชิลีหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม ขณะที่วัคซีนโควิดของ Pfizer มีประสิทธิภาพ 87.7% และ AstraZeneca มีประสิทธิภาพ 68.7% จากรายงานการศึกษาประสิทธิภาพล่าสุดของวัคซีนโควิดยี่ห้อต่างๆ ในการใช้จริงกับประชากรที่เผยแพร่โดยทางการชิลี

 

ชิลีเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้ประชาชนเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเร็วที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยขณะนี้กว่า 60% ของประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีน CoronaVac ของบริษัท Sinovac จากประเทศจีน

 

ดร.ราฟาเอล อาราออส เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า วัคซีนของ Sinovac มีประสิทธิภาพ 86% ในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล, มีประสิทธิภาพ 89.7% ในการป้องกันการเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู และมีประสิทธิภาพ 86% ในการป้องกันการเสียชีวิตภายในประชากรระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

 

ขณะที่ผลการศึกษาเดียวกันนี้เมื่อเดือนเมษายน พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 67% ในการป้องกันอาการป่วยจากโควิด, มีประสิทธิภาพ 85% ในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และมีประสิทธิภาพ 80% ในการป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากไวรัส ในขณะที่มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันอาการป่วยทั่วไป

 

อาราออสกล่าวว่า ประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วและรุนแรงมากขึ้นอย่างสายพันธุ์เดลตา

 

“ถ้าเดลตาแพร่กระจายไปทั่วมากขึ้นและวัคซีนมีการตอบสนองที่อ่อนแอลง เราอาจสังเกตเห็นประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว” เขากล่าวพร้อมกับเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิ

 

พร้อมกันนี้ รัฐบาลชิลียังได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ที่มีการใช้งานอยู่ในชิลี ซึ่งรวมถึงวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca

 

โดยผลการศึกษาพบว่า วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพ 87.7% ในการป้องกันการป่วยจากโควิด, มีประสิทธิภาพ 98% ในการป้องกันการเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการเสียชีวิต

 

ขณะที่วัคซีนของ AstraZeneca มีประสิทธิภาพ 68.7% ในการป้องกันอาการป่วยจากโควิด, มีประสิทธิภาพ 98% ในการป้องกันอาการป่วยรุนแรง และประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการเสียชีวิต

 

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การศึกษาของชิลีเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งแล้วสองโดส หนึ่งโดส หรือไม่ได้รับวัคซีนเลย โดยในส่วนของ CoronaVac เป็นการศึกษากับกลุ่มประชากร 8.6 ล้านคน ขณะที่ Pfizer-BioNTech ศึกษาในกลุ่มประชากร 4.5 ล้านคน และ AstraZeneca ศึกษาในกลุ่มประชากร 2.3 ล้านคน

 

ภาพ: Israel Chavez / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising