จากกรณีเกิดเหตุการณ์ Rug Pull บทแพลตฟอร์ม KubSwaps ซึ่งอยู่บน Bitkub Chain ซึ่งมีผู้ที่เข้าไปลงทุนได้รับความเสียหายจากราคาเหรียญที่ร่วงลงมาอย่างรุนแรง
สำเร็จ วจนะเสถียร Tech Director ของ Bitkub Chain กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ถึงกรณีนี้ว่า ก่อนอื่นต้องยืนยันก่อนว่า KubSwaps ไม่ใช่แพลตฟอร์มของ Bitkub แต่อย่างใด แต่เป็นโปรเจกต์ที่มาเปิดบน Bitkub Chain เท่านั้น
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพฤติกรรมแล้วอาจจะเรียกได้ว่าเป็น Rug Pull โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของโปรเจกต์ซึ่งเดิมทีได้เติมสภาพคล่องของ KubSwaps เข้าไป ก่อนจะถอนสภาพคล่องเหล่านั้นออกมาในระหว่างที่ราคาเหรียญเริ่มพุ่งขึ้นไปสูงขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้ยังไม่ได้ทำให้ราคาเหรียญร่วงลงมา แต่เมื่อสภาพคล่องเหลือน้อย ทำให้แรงขายที่เกิดขึ้นเพียงน้อยนิด กดดันให้ราคาเหรียญร่วงลงแรงมาก และเกิด Panic Sell ตามมาในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การถอนสภาพคล่องของโปรเจกต์ DeFi เช่นนี้ อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางกรณี เช่น โปรเจกต์ที่เริ่มมีสภาพคล่องจากคนทั่วไปเข้ามาเสริมจนมากพอแล้ว เจ้าของโปรเจกต์อาจจะถอนสภาพคล่องเริ่มต้นออกไป แต่ในกรณีนี้เพิ่งจะเปิดมาได้ไม่นานก็ดำเนินการถอนสภาพคล่องแล้ว และที่สำคัญการตัดสินใจปิดเว็บไซต์ของโปรเจกต์ลงไป ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะมีความผิดตามกฎหมายได้
ทั้งนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้รวมตัวกันผ่าน Telegram ในกลุ่ม ‘รวมผู้เสียหายจาก KubSwaps’ โดยมีสมาชิกกว่า 1 พันคน (ในจำนวนนี้อาจจะไม่ใช่ผู้เสียหายทั้งหมด)
“จากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นคาดว่า กำไรที่เจ้าของโปรเจกต์ได้ไปจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท ส่วนความเสียหายต่อคนที่เข้ามาลงทุนอาจจะประเมินได้ยาก สำหรับคนที่ขายออกไปก่อนในช่วงแรกที่สภาพคล่องเริ่มถูกดึงออกไปก็อาจจะยังขายได้ในราคาที่สูง หากมีผู้ที่เสียหายไปฟ้องร้อง ทาง Bitkub ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ และได้เตรียมข้อมูลต่างๆ ไว้แล้ว แต่ไม่สามารถจะเปิดเผยต่อสาธารณะได้”
สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับกรณีนี้คือ KubSwaps ไม่ได้เปิดเผย Source Code ของโปรเจกต์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดแปลกไปจากปกติ ในมุมของนักลงทุนควรจะเลือกลงทุนในแพลตฟอร์มที่เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ เพราะแต่ละคนสามารถช่วยกันตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจของแพลตฟอร์มนั้นๆ ได้
ในเบื้องต้น Bitkub ได้ประสานกับทาง Inspex ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง Inspex ได้สรุปว่า เจ้าของแพลตฟอร์มได้รับผลตอบแทนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปทั้งสิ้น 6.507005609824860844 kBNB หรือประมาณ 80,000 บาท นอกจากนี้ ทีมงาน Inspex พบว่า เจ้าของแพลตฟอร์ม KubSwaps ได้มีการเปิดอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า KubFarming
สาเหตุหลักของเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากช่องโหว่ใน Smart Contract แต่เป็นกระบวนการในการแจกจ่ายเหรียญและการสร้าง Pool ที่ไม่ยุติธรรม เนื่องจากเหรียญที่ใช้ในการวางสภาพคล่องในตอนแรกถูกสร้างขึ้นมาลอยๆ ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีสิทธิ์ในสภาพคล่องอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มจำเป็นต้องทำลาย LP ที่ได้จากการวางสภาพคล่องทิ้ง เพื่อป้องกันเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
สำหรับการแจกจ่ายเหรียญที่เป็นไปอย่างยุติธรรมและนิยมใช้กันมีดังนี้
- เปิดขายเหรียญผ่านสาธารณะหรือเฉพาะกลุ่ม ผ่าน ICO หรือ IFO
- เริ่มแจกเหรียญพร้อมกันด้วยวิธีการบางอย่าง เช่น ล็อกเหรียญ BNB เพื่อรับเหรียญจากฟาร์ม
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
Rug Pull เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในวงการ DeFi สำหรับโครงการที่เกิดการหลอกลวงกันขึ้น โดยที่เจ้าของโครงการเปิดให้นักลงทุนเอาเหรียญมาฟาร์มหรือมาลงทุน หลังจากนั้นก็นำเหรียญทั้งหมดที่มีผู้มาฟาร์มหรือลงทุนเอสไว้หนีหายไป พร้อมกับปิดเว็บไซต์หนี
โดยเคสดังๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็คือ DeFi100 ซึ่งเกิดในต่างประเทศ ส่วนเคสในเมืองไทยที่ถือเป็นเคสแรกก็คือเคสของ KubSwaps ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยคำว่า Rug Pull นั้นจริงๆ แล้วมาจากคำศัพท์แสลง ซึ่งก็คือการดึงพรมที่มีคนยืนอยู่บนพรมนั้นออกอย่างรวดเร็ว และก็ทำให้คนที่ยืนอยู่บนพรมนั้นล้มคะมำลง
LP หรือ Liquidity Pools คือ คลังสินทรัพย์ในการทำงานของ Decentralized Exchanges ที่ทำงานด้วยระบบ AMMs แทนการใช้ Order Books แบบเดิม ซึ่ง Liquidity Pools จะรับประกันสภาพคล่องของสินทรัพย์ระหว่างผู้ที่เข้าร่วมในตลาดนี้ โดยไม่ได้ขึ้นกับคนที่เข้ามาทำรายการ Order Books เหมือนในระบบเก่า