×

รู้จัก Dara Khosrowshahi ซีอีโอคนใหม่ของ Uber กับภารกิจที่ท้าทาย

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • ดารา คอสราวชาฮี (Dara Khosrowshahi) มีประสบการณ์การทำงานด้านการลงทุน การเงิน และบริหารธุรกิจใหญ่ อาทิ ธนาคารเพื่อการลงทุน Allen & Co., บริษัทสื่อ USA Networks ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการ Expedia และกลายมาเป็นซีอีโอบริษัท Expedia ในปี 2005-2017
  • เขาประเมินว่า Uber จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในอีก 18-36 เดือนข้างหน้า
  • เขาเกือบถอดใจตอนเปิดดีลซื้อ Expedia หลังจากเจอกระแสโจมตี แต่ผู้บริหารอาวุโสของ USA Network ชี้ให้เห็นถึงธุรกิจท่องเที่ยวมีแววเติบโตอีกไกล เพราะถึงอย่างไรคนเราก็ต้องออกท่องเที่ยวเดินทาง

     ทันทีที่มีข่าวว่า ดารา คอสราวชาฮี (Dara Khosrowshahi) ได้รับเลือกให้เป็นซีอีโอคนใหม่ของ Uber อย่างไม่เป็นทางการ ชื่อของเขาก็ปรากฏบนหน้าสื่ออย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นประวัติการทำงานตำแหน่งซีอีโอ Expedia บริษัทที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ ภาพลักษณ์ที่ฉายความเป็นผู้นำ หรือแม้แต่ประเด็นที่ว่าเขาเป็นชาวอิหร่าน-อเมริกัน ลี้ภัยมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับครอบครัว ก็เป็นที่กล่าวถึงวงกว้าง
     แน่นอนว่าซีอีโอคนใหม่ผู้นี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะ Uber เผชิญกับมรสุมหนักหน่วงทั้งข้างนอกและในองค์กร อาทิ คดีฟ้องร้องข้อหาขโมยเทคโนโลยีรถไร้คนขับจาก Waymo บริษัทในเครือ Google ปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่ข้องเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขู่และเหยียดเพศ จนกระทั่ง ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) ลาออกจากการเป็นซีอีโอบริษัท เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พอเก้าอี้ผู้บริหารถูกปล่อยว่างหลายเดือน (และหลายตำแหน่ง)

     ก็เริ่มมีข่าวลือวิเคราะห์ออกมาว่าใครจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน คาลานิก

     หลัง Uber ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 (8,700 ล้านเหรียญสหรัฐ)  ไปได้ไม่ถึงสัปดาห์ (24 สิงหาคม) ก็มีข่าวว่าคณะกรรมการบริษัทและบรรดาผู้บริหารระดับสูงได้ประชุมเพื่อโหวตซีอีโอคนใหม่ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 สิงหาคม) ปรากฏว่าทั้ง เจฟฟ์ อิมเมลต์ (Jeff Immelt) อดีตซีอีโอ General Electric และ เม็ก วิตแมน (Meg Whitman) ประธานบริหารของ HP ที่เคยเป็น ‘ตัวเต็ง’ กลับออกมาปฏิเสธ จนในที่สุด Uber ก็ประกาศว่า ดารา คอสราวชาฮี จะมารับตำแหน่งซีอีโอคนล่าสุด
เขาจะเข้ามากอบกู้บริษัทจากภาวะวิกฤตอย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่คอสราวชาฮี (รวมทั้งคณะผู้บริหารและผู้ถือหุ้น) ต้องหาคำตอบ แต่เหล่านี้คือข้อมูลที่เราลองรวบรวมและสรุปมาฝากให้ทุกคนได้รู้จักกับซีอีโอคนนี้กันมากขึ้น

 

Photo: SCOTT OLSON/AFP

 

จากบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวน์ สู่ผู้บริหารที่เจนสนามธุรกิจการลงทุน

     ดารา คอสราวชาฮี เดินทางมาอเมริกากับพ่อแม่ในปี 1979 ก่อนเกิดการปฏิวัติอิหร่าน ตอนอายุ 9 ปี เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวน์ เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่ธนาคารเพื่อการลงทุน Allen & Co. เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของ USA Network บริษัทสื่อ ก่อนเข้าซื้อกิจการ Expedia และกลายมาเป็นซีอีโอบริษัทนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เขาติดหนึ่งในรายชื่อบอร์ดของสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง The New York Times

     ช่วงเวลานั้นเอง เขาได้ขยายอาณาจักรของ Expedia ลงทุนเข้าซื้อธุรกิจมากมายไปสู่บริษัทชั้นนำด้านการท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร ตั้งแต่จองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก โรงแรม ไปจนถึงบริการเช่ารถ เช่าบ้าน  เช่น Hotels.com, trivago, travelocity, Car Rentals ไม่เว้นแม้แต่ HomeAway คู่แข่งของ Airbnb

     ช่วงกลางปีที่ผ่านมา สำนักข่าว CNBC ได้สัมภาษณ์เขาถึงจุดประสงค์ของการกว้านซื้อธุรกิจดังกล่าว เราพบว่าคำตอบของเขาน่าสนใจทีเดียว

     คอสราวชาฮี ตอบว่าบริษัทต้องการลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อรองรับระบบหลังบ้านของ Expedia เขายอมรับตรงๆ ว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน Expedia เป็น Tech Company ก็จริง แต่กลับมีจุดอ่อนด้านเทคโนโลยี เขาจึงเพิ่มงบการลงทุนเป็น 4 เท่า ราว 715 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าซื้อกิจการเพื่อนำเทคโนโลยีของแต่ละเจ้ามาสร้างประสบการณ์การท่องโลกที่หลากหลายให้กับลูกค้า

     สะท้อนให้เห็นว่าเขาเข้าใจจุดแข็ง-จุดด้อยของธุรกิจตัวเองดี ประสบการณ์การบริหารธุรกิจท่องเที่ยวมาหลายสิบปีทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้ที่ขยายพรมแดนจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์มากขึ้น เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก เพราะทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว แทนที่จะเร่งพัฒนาให้ทันคนอื่น ก็คว้าโอกาสจากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวรายอื่นในตลาด มาแตกไลน์ธุรกิจ เสริมศักยภาพที่ขาดหาย และพัฒนาบริการที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

     เว็บไซต์ Economist วิเคราะห์ว่าความเชี่ยวชาญด้านการเงิน-การลงทุนของ คอสราวชาฮี น่าจะเป็นประโยชน์ในยามที่ Uber จะต้องประกาศรายได้ต่อสาธารณชน ซึ่งเขาก็ได้ตั้งเป้าตั้งแต่วันที่พบปะกับพนักงาน Uber เป็นครั้งแรกว่า จะขายหุ้น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 18-36 เดือนข้างหน้า

 

 

มุ่งมั่น จริงใจ และกล้ายอมรับ

     เว็บไซต์นิตยสาร ฟอร์บส์ เล่าถึงด้านความเป็นผู้นำของคอสราวชาฮี ที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ชัดเจน และเป็นหัวหน้าที่กล้ายอมรับผิดอย่างตรงไปตรงมา โดยหยิบยกตัวอย่างจากคลิปที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ตอนปี 2013 หลังได้รับรางวัล Entrepreneur Of The Year® Pacific Northwest Award จากบริษัท Ernst & Young Technology

     คอสราวชาฮี กล่าวว่าช่วง 18 เดือนแรกที่เขาเริ่มทำงานเป็นซีอีโอที่ Expedia ใหม่ๆ วิศวกรหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาคุยกับเขาว่า “ดารา คุณกำลังบอกสิ่งที่เราต้องทำ แต่ไม่ได้บอกเลยว่าเรากำลังจะไปทางไหนกัน ถ้าหากคุณบอกทางเรา เราก็จะทำมัน เพราะว่าพวกเราเชื่อในตัวคุณ”

     “มันกระทบใจผมมาก” เขากล่าว “ผมมัวแต่บอกคนอื่นว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ได้ทำให้พวกเขาเห็นทิศทางที่เราควรจะไปกัน ผมจำเป็นต้องปักธง” คอสราวชาฮี ยอมรับว่าเขาไม่ใช่ซีอีโอที่ดีนักในช่วงปีแรกของการทำงานที่นั่น แต่ความเห็นของวิศวกรคนนั้นก็เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของซีอีโอไปโดยสิ้นเชิง

     เว็บข่าวหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่าจากประสบการณ์การทำงานของคอสราวชาฮีที่เคยรับมือปัญหาใหญ่ๆ มาแล้ว โดยเฉพาะกระแสตอบโต้ตอนเข้าซื้อกิจการ Expedia บวกกับความมุ่งมั่นในฐานะผู้นำของเขา น่าจะส่งผลดีต่ออนาคตของ Uber อยู่ไม่น้อย

     “เราประกาศซื้อ Expedia และก่อนปิดดีล ก็มีกระแสโจมตีเกิดขึ้น ตอนนั้นเรามีโอกาสที่จะถอนตัว แต่แบร์รี (Barry Diller-ประธานบริษัทและผู้บริหารอาวุโสของ USA Networks/IAC) บอกว่า ‘ยังไงคนเราก็จะต้องหาที่อยู่ หาที่เที่ยว’ เราจึงเดินหน้าต่อ” (โควตจาก Bloomberg)

 

 

เขาเป็นซีอีโอที่มีภาพลักษณ์ ‘แข็งแกร่ง’ มากที่สุดคนหนึ่ง

     ภาพที่สื่อส่วนใหญ่นำเสนอเกี่ยวกับเขานั้น ฉายแววถึงความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง มีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ และดูเหมือนว่าตัวเขาก็พยายามสะท้อนมันออกมาผ่านจุดยืน ความคิด และคำพูดต่อหน้าผู้อื่น

     วันที่ 30 สิงหาคม เขาได้พบปะกับเหล่าพนักงาน Uber ที่มารวมตัวกันในงานประชุม All-Hands ของบริษัทเป็นครั้งแรก และค่อนข้างน่าประทับใจ

     “ผมจะไม่โกหกพวกคุณ”

     “ผมเป็นนักสู้ ผมเอาด้วยหมด ผมจะทุ่มเทกำลังทั้งหมดที่มีเพื่อต่อสู้” เขากล่าว

     ดารา คอสราวชาฮี ก็ยังยอมรับว่าเขาหวั่นเกรงกับการรับตำแหน่งนี้ไม่น้อย สิ่งที่เขาทำคือ ประกาศจุดยืนของตัวเองชัดเจน แสดงความจริงใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานในองค์กร ซึ่งล้วนเผชิญกับภาวะวิกฤตมาทั้งนั้น เว็บไซต์ Recode ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่าการประชุมวันนั้น ไม่มีมุกเหยียดเพศหลุดออกมาจากปากของเขาเลยแม้แต่คำเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของ Uber หลายคนเคยพลาดมาก่อน

     เป็นไปได้ว่าเขารู้ดีว่าทุกคนในห้องประชุม ทั้งเหล่าผู้บริหาร พนักงาน และสื่อล้วนจับตามองเป็นพิเศษ เมื่อเขาต้องรับไมค์ต่อจาก ทราวิส คาลานิก ที่ขึ้นกล่าวอำลากับพนักงาน ทุกประโยค ทุกถ้อยคำที่เขาพูดสามารถถูกนำไปโพสต์ ทวีตตามโซเชียลเน็ตเวิร์กและสื่อต่างๆ เมื่อไรก็ได้

     เรียกได้ว่าซีอีโอนักสู้คนนี้เริ่มต้นได้ดีทีเดียว

 

Photo: SCOTT OLSON/AFP

 

เขาเป็นซีอีโอที่มีความรู้เชิงเทคนิคและทันโลก

     ถึงคอสราวชาฮี จะมีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจผู้บริหารที่ดูน่าเกรงขาม แต่เขาก็มีดีกรีระดับปริญญาตรีวิศวะ และทันเทรนด์เทคโนโลยีพอสมควร ย้อนกลับไปบทสัมภาษณ์ของเขากับ CNBC เขารู้ดีว่าธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์จะต้องตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าให้ตรงจุดที่สุด โดยนำพลังของเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น

     – Mobile: รองรับการใช้งานบนมือถือที่สามารถระบุข้อมูลโลเคชันของลูกค้า

     – Messaging: เพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าด้วยระบบอัตโนมัติ/Chatbot เพื่อตอบคำถามลูกค้าได้ทันที และเก็บบันทึกข้อมูลของลูกค้า

     – Machine Learning: มอบประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบให้กับลูกค้า และยกระดับบริการให้ดียิ่งขึ้นทุกๆ ปี


     เขายังจับมือกับ Amazon ทดลองพัฒนาการใช้บริการของ Expedia กับลำโพงระบบปัญญาประดิษฐ์ Alexa ที่สามารถออกคำสั่งจองเที่ยวบินได้อีกด้วย

 

 

     แม้ว่าจะเจนจัดบนสนามธุรกิจท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีโจทย์ที่ยิ่งใหญ่และท้าทายกว่านั้นรอเขาอยู่ที่ Uber เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนและมีปัญหาคดีฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้ การผลักดันความร่วมมือทางกฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับบริการ Ride Sharing รวมทั้งปัญหาวัฒนธรรมองค์กร คดีฟ้องร้องการติดสินบน และผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง

     ขึ้นอยู่กับว่าซีอีโอคนใหม่ผู้นี้จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาแต่ละข้อต่อไปอย่างไร

ย้อนอ่านบทความเกี่ยวกับวิกฤตของ Uber https://thestandard.co/news-business-uber-crisis-startup-lessons/

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising