×
SCB Omnibus Fund 2024

มองเกมรบ CRG เปิด KFC ในตึกแถว, ปั้น Virtual Brand, เตรียมงบ 500 ล้าน ทำ M&A หวังรายได้ 12,100 ล้านบาท

31.03.2022
  • LOADING...
มองเกมรบ CRG เปิด KFC ในตึกแถว, ปั้น Virtual Brand, เตรียมงบ 500 ล้าน ทำ M&A หวังรายได้ 12,100 ล้านบาท

ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2565 มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น จากปัจจัยผู้บริโภคมีความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน กินอาหารที่ร้านมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เห็นการฟื้นตัวประมาณ 10% จากปี 2564 ตลาดมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท ติดลบมากกว่า 10% 

 

การที่มีสัญญาณบวกธุรกิจร้านอาหารกลับมาเติบโตอีกครั้ง สิ่งที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจร้านอาหารจะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติ เช่น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ๆ จะเกิดเพิ่มขึ้น ตลอดจนต้นทุนที่สูงขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ รายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน ที่สำคัญคือ การหาพนักงานในร้านที่ยากขึ้นอย่างมาก

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“จากทิศทางธุรกิจร้านอาหารคาดว่าปี 2565 ตลาดธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะพลิกกลับมาเติบโตและมีสีสัน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของผู้ให้บริการรายใหญ่ซึ่งถูกชะลอมาจากปี 2563 และการเร่งขยายพอร์ตอาหารให้ครอบคลุมประเภทอาหารมากยิ่งขึ้น” ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG วิเคราะห์ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้

 

CRG นับเป็นหนึ่งในเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ของไทย มีร้านอาหารทั้งสิ้น 17 แบรนด์ และมีสาขาให้บริการจำนวน 1,380 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564) โดยปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 9,370 ล้านบาท ซึ่งณัฐบอกว่า “เราพอใจกับตัวเลขดังกล่าว”

 

ปี 2565 CRG วางเป้าเติบโตเกือบ 30% ด้วยตัวเลขรายได้ 12,100 ล้านบาท ซึ่งมาจาก 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 

 

  1. การขยายสาขา
  2. ปรับโมเดลร้านแบบใหม่
  3. เร่งเครื่องบริการเดลิเวอรีและขยายคลาวด์คิทเช่น
  4. เพิ่มโอกาสลงทุน M&A และ Joint Venture 

 

ปีที่ผ่านมา CRG ขยายสาขาได้ไม่มากนัก แต่ปีนี้วางแผนเดินหน้าปูพรมขยายสาขาร้านอาหารในทำเลศักยภาพใหม่ๆ ทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 200 สาขา โดยโฟกัสทำเลในห้างค้าปลีก ศูนย์การค้าต่างๆ (Mall) และทำเลนอกห้าง ร้าน Stand Alone ในปั๊มน้ำมัน (Non-Mall) ซึ่งทำเลนอกห้างนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงของธุรกิจจากการที่ต้องถูกปิด

 

ตัวอย่างโมเดลที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อเปิดนอกห้างคือ ร้าน KFC ที่เข้าไปเปิดในตึกแถว ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ใกล้มากขึ้น โดยสาขาแรกถูกเปิดปลายปี 2564 ที่อินทามระ 23 ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเปิดรูปแบบนี้อีก 2 สาขา เบื้องต้นจะอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด นอกจากนี้สาขาใหม่ๆ ที่ CRG เปิดจะใช้พื้นที่น้อยลงประมาณ 30% ส่วนหนึ่งก็จะช่วยประหยัดงบลงทุนด้วย 

 

สิ่งที่ต้องจับตาคือ การขยายสาขาในปีนี้ส่วนหนึ่งจะมาจากแฟรนไชส์อย่าง ‘มิสเตอร์ โดนัท’ ซึ่งใช้งบลงทุน 6 แสน – 1 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดไปแล้วที่ยะลา CRG คาดว่าปีนี้จะมีแฟรนไชส์ราว 20 สาขา หลักๆ จะถูกเปิดในภาคใต้ ประเมินยอดขายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท 

 

CRG ยังมองโอกาสการเติบโตของธุรกิจใหม่ จากการปรับตัว สร้างโมเดลร้านแบบใหม่ ทั้ง Shop in Shop การ Synergy แบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว รวมไปถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ Container Store 

 

นอกจากนี้ยังเดินหน้าขยายบริการเดลิเวอรี ออนไลน์ ซึ่งทั้งปีคาดการณ์ผลักดันยอดขายในช่องทางเดลิเวอรีแตะ 3,500 ล้านบาท เติบโต 15% จากปี 2564 ซึ่งมียอดขาย 3,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 40% จากปี 2563 และจะขยายคลาวด์คิทเช่นให้ครบ 20 สาขา เพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ จากปัจจุบันมี 11 สาขา  

 

“เราได้ทำ Virtual Brand เพื่อขายในเดลิเวอรีโดยเฉพาะถึง 4 แบรนด์ ได้แก่ โจว ข้าวต้มแห้ง, บุกชน ข้าวมันไก่, คลั่งกะเพรา และคาโคมิ ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของโอโตยะ”

 

การซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) รวมถึงการร่วมทุน (Joint Venture) เป็นอีกหมากที่ถูกวางไว้สำหรับสร้างการเติบโตให้กับ CRG โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้งบในส่วนนี้ไปแล้ว 400 ล้านบาท โดยได้ 3 แบรนด์เข้ามาอยู่ในเครือคือ สลัดแฟคทอรี่, บราวน์ และส้มตำนัว 

 

“แต่ละปีเราวางงบสำหรับ M&A และ Joint Venture ไว้ที่ 500 ล้านบาท โดยเต็มที่จะมีปีละ 2 ดีล ซึ่งตอนนี้กำลังคุยๆ กันอยู่หลายดีล โดยแบรนด์ที่เราสนใจนั้นจะต้องเป็นแบรนด์ที่มีคอนเซ็ปต์ดี การตลาดใช้ได้ และเจ้าของมีแพสชันในธุรกิจ”

 

สำหรับ CRG เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL โดย บล.เมย์แบงก์ ประเมินว่า แนวโน้มปี 2565 จากที่คาดว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลง จึงประเมินยอดขายสาขาเดิม (SSSG) จะเติบโต ซึ่งสอดคล้องกับผู้บริหารตั้งเป้าที่ 10-15% และจะทำให้ยอดขายของร้านอาหารในปีนี้มีรายได้ราว 1.14 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดเพียง 6% ในปี 2562

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising