×

CRG ปรับทัพธุรกิจ เตรียมขายแฟรนไชส์ Mister Donut และ Auntie Anne’s ช่วงครึ่งปีหลัง วางราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 1 ล้านบาท

08.06.2021
  • LOADING...
CRG

นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของ ‘กลุ่มธุรกิจเบเกอรีและเครื่องดื่ม’ (ประกอบด้วยแบรนด์ Mister Donut, Auntie Anne’s, Cold Stone Creamery และ Arigato รวมกับ 1 โรงงาน คือ ซีอาร์จี แมนูแฟคเจอริ่ง (CRGM)) ซึ่งทำรายได้ 1 ใน 4 ของบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เมื่อ CRG ได้ตัดสินใจที่จะขายแฟรนไชส์ Mister Donut และ Auntie Anne’s ช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยคาดว่าราคาจะอยู่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท 

 

สุชีพ ธรรมาชีพเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine ของ CRG อธิบายว่า การขายแฟรนไชส์ของทั้ง 2 แบรนด์จะทำให้ธุรกิจสามารถขยายได้อย่างรวดเร็วโดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเอง แถมบางครั้งยังสามารถเข้าไปยังโลเคชันบางแห่งที่เข้าถึงได้ยาก ผ่านแฟรนไชส์ที่มีคอนเน็กชันโลเคชันโดยตรง

 

“ช่วงนี้เราพบว่าบางอาชีพ เช่น นักบิน ซึ่งมีเงินเก็บแต่ยังไม่ได้ทำงาน เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 สนใจที่จะทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ประกอบกับโอกาสอื่นๆ เราเลยปรึกษากับบริษัทแม่ของทั้ง 2 แบรนด์เพื่อเปิดแฟรนไชส์ในช่วงเวลานี้”

 

เบื้องต้นคาดว่า Mister Donut จะเริ่มขายแฟรนไชส์ได้ในช่วงไตรมาส 3 ส่วน Auntie Anne’s จะเป็นช่วงไตรมาส 4 ส่วนราคายังไม่ได้ข้อสรุป แต่คาดว่าจะไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจด้วย เพราะทั้ง 2 แบรนด์มีโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า, Shop Stand Alone, Delco รวมไปถึง Mobile Tuk Tuk 

 

สำหรับทำเลนั้นจะมีทั้งที่ CRG จัดหาให้ รวมไปถึงที่แฟรนไชส์จัดหามา แต่ทาง CRG ต้องเข้าไปศึกษาก่อนว่าคุ้มที่จะเปิดไหม โดยจะยกเว้นร้านที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าและห้างของเครือเซ็นทรัลซึ่ง CRG จะเข้าไปเปิดเอง คาดว่าภายในปีนี้จะมีร้านที่เป็นแฟรนไชส์มากกว่า 20 ร้าน โดยภายใน 2-3 ปีแรก จะมีสัดส่วนแฟรนไชส์ 20-30% และภายใน 5 ปีจะเพิ่มเข้ามาเป็น 40% 

 

‘กลุ่มเบเกอรีและเครื่องดื่ม’ เป็น 1 ใน 4 ธุรกิจหลักของ CRG ซึ่งนอกจากกลุ่มนี้แล้วอีก 3 กลุ่มที่เหลือได้แค่ KFC, ร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านอาหารไทย

 

ในปีที่ผ่านมากลุ่มเบเกอรีและเครื่องดื่มทำรายได้ 2.43 พันล้านบาท จาก 630 สาขา โดยการระบาดของโรคโควิด-19 บวกกับการเปิดโมเดลร้านใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ช่องทางขายแบบเดลิเวอรี เช่น Delco ซึ่งเป็นร้านขนาดเล็กที่ในปั๊มน้ำมัน, ไทวัสดุ เป็นต้น ทำให้ยอดขายจากช่องทางเดลิเวอรีเติบโต 210% เป็น 240 ล้านบาท 

 

สำหรับปี 2564 ตั้งเป้ารายได้ 2.9 พันล้านบาท เติบโต 18-20% จากปีก่อน ซึ่งครึ่งปีแรกทำรายได้ไปแล้ว 1.2 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เดลิเวอรีได้รับความนิยมอย่างมาก มียอดการสั่งเติบโตจากก่อนโควิด-19 มากกว่า 300% จึงได้วางเป้ายอดขายจากช่องทางเดลิเวอรีรวมกว่า 500 ล้านบาทในปีนี้

 

ในแง่ของการขยายสาขา ปีนี้ได้วางงบลงทุน 220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว ด้วยปีที่ผ่านมาขยายสาขาได้ด้วย ในปีนี้จะมีการเปิดรูปแบบร้าน Delco มากกว่า 70 สาขา Mobile Tuk Tuk มากกว่า 5 สาขา (CRG อธิบายว่า 2 โมเดลนี้จะทำให้ระยะเวลาการขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่ห้างยังไม่เปิด ในอนาคตจะมีการขยายช่วงเวลาขายกลางคืนด้วย) และ Shop in Shop ของแบรนด์ Arigato ที่เปิดคู่ไปกับแบรนด์ Mister Donut มากกว่า 100 สาขา จึงคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี กลุ่มเบเกอรีและเครื่องดื่มจะมีร้านอยู่ทั้งสิ้น 720 สาขา

 

ขณะเดียวกัน CRG ยังเจาะช่องทางออนไลน์ โดยมีทั้งดีลต่างๆ สั่งอาหารได้ทั้งแบบเดลิเวอรี และคลิก แอนด์ คอลเล็ก (Click and Collect) บน LINE OA, เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลส และระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำ

 

รวมไปถึง ช่องทาง C2C หรือ Customer to Customer ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แบบผู้บริโภคไปยังผู้บริโภคที่สามารถขยายและต่อยอดการขายในวงกว้างมากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์เปิดร้านขายบนแพลตฟอร์มของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับสิทธ์จาก CRG ทั้งการขายปลีกและการขายส่ง  

 

โดยนอกจากช่องทางการขายแล้ว ในแง่ของสินค้าก็จะเพิ่มเช่นเดียวกัน เช่น กลุ่ม Plant-Based สำหรับแบรนด์ Auntie Anne’s และสินค้ากลุ่ม Ready to Eat ของแบรนด์ Arigato เป็นต้น 

 

ในภาพรวมของตลาดเบเกอรีได้รับอานิสงส์จากความฮอตฮิต ของ ‘ครัวซองต์’ ทำให้อุตสาหกรรมเบเกอรีมีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดเบเกอรีรวมสูงเฉียด 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นขนมปัง  53% ขนมเค้ก 22% และขนมอบ (เช่น พาย ครัวซองต์ คุกกี้) 25% คาดว่าครัวซองต์ทำให้สัดส่วนขนมอบเพิ่มมูลค่ามากขึ้น


พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising