×

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงโควิดสายพันธุ์ใหม่ไม่จบแค่ ‘โอไมครอน’ กระทบการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาว

29.11.2021
  • LOADING...
Economic Outlook 2022

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานสัมมนา Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า การเกิดขึ้นของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญ หรือ Game Changer ที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เนืองจากมีความสุ่มเสี่ยง หรือ Downside Risk ที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหากเกิดการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่ต้องอาศัยภาคส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“ตอนนี้ญี่ปุ่นประกาศห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศแล้ว ขณะที่จีนก็คุมเข้มมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ เราคงต้องติดตามดูข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ที่จะเผยแพร่ออกมาในอีก 2-3 สัปดาห์ว่าเชื้อชนิดใหม่นี้จะรุนแรงแค่ไหนและหลบเลี่ยงวัคซีนได้หรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วรัฐบาลนำไปประกอบการตัดสินใจทำนโยบายต่างๆ ซึ่งหากผลออกมาว่ามันรุนแรงขึ้น ทำให้คนเจ็บหนักหรือตายมากขึ้น นโยบายควบคุมเข้มข้นก็อาจต้องนำกลับมาใช้ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า แม้ว่าโลกผ่านพ้นเชื้อสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ไปได้ในครั้งนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ในอนาคตจะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่อื่นๆ เช่น พาย ซิกม่า หรือโอเมก้า ขึ้นมาได้อีก โดยเชื่อว่าความเสี่ยงจากโควิดจะยังอยู่กับโลกต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดนี้จะส่งผลกระทบต่อการวางยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาวของไทยได้ เพราะภาครัฐจะง่วนกับการจัดการโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ จนสูญเสียสมาธิเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ

 

“เป็นที่รู้กันว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาพึ่งพาต่างประเทศจากภาคส่งออกและท่องเที่ยวเยอะ ถ้าเราจะเดินอย่างมั่นคงในระยะยาว เราจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพิ่มการลงทุนในประเทศที่ขาดหายไปนาน ขณะเดียวกันก็ต้องถามตัวเองว่าเราเก่งอะไร จะไปทางอาหารออร์แกนิกหรือธุรกิจสุขภาพดีหรือไม่ เรากล้าหรือเปล่าที่จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดอุตสาหกรรมสำคัญของโลกอย่างเซมิคอนดักเตอร์ในไทย อีกหนึ่งเรื่องที่ผมมองว่าน่าทำคือการนำทุนสำรองส่วนเกินที่มีอยู่ 1 แสนล้านบาท มาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งการมาของโอไมครอนอาจทำให้รัฐหลุดโฟกัสไปจากเรื่องเหล่านี้” ศุภวุฒิกล่าว

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โดยขณะนี้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ กำลังติดตามข้อมูลเรื่องนี้เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างใกล้ชิด

 

“ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่นี้ยังมีออกมาไม่มาก แต่ที่เรารู้เบื้องต้นคือมันอาจติดต่อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา ยังต้องรอข้อมูลเรื่องความรุนแรง แต่ก็มีบางประเทศห้ามต่างชาติข้ามแดนแล้ว ของไทยเราตอนนี้ ศบค. อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และ ททท. ว่าจะปรับมาตรการอย่างไร เพื่อคัดกรองคนเข้าประเทศหรือหาแนวทางป้องกัน” ดนุชากล่าว

 

เลขาสภาพัฒน์กล่าวว่า นอกจากความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดแล้ว ยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอีก 2 ประเด็นที่ไทยต้องเผชิญ คือ  

 

  1. ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่แม้ปัจจุบันตัวเลข NPL ทั้งระบบจะยังอยู่ที่ 3% แต่ก็เริ่มพบสัญญาณเรื่องสินเชื่อบัตรเครดิตที่สูงขึ้น ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังต้องจับตาดูว่าจะเป็นภาวะชั่วคราวหรือยืดยาว 

 

  1. ความผันผวนจากนโยบายของประเทศขนาดใหญ่จากความขัดแย้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์

 

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ โดยส่วนตัวได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาราว 10 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ ธปท. ได้ประเมินไว้ที่ 3.9% ภายใต้สมมติฐานว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ล้านคน 

 

“โอไมครอนทำให้ต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ เพราะเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวในปีหน้าอาจจะต่ำกว่า 6 ล้านคน ช่วงปลายเดือนนี้ ธปท. จะทำตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ โดยเอาปัจจัยเรื่องสายพันธุ์ใหม่เข้ามาคำนวณด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีที่อาจทำให้เบาใจได้บ้างว่าการศึกษาแบบจำลองเศรษฐกิจของ ธปท. ภายใต้สมมติฐานว่าเกิดการระบาดลากยาวและภาคท่องเที่ยวต้องซึมยาว 2-3 ปี ยังพบว่าในภาวะดังกล่าวสถาบันการเงินของไทยจะยังทำหน้าที่ได้อย่างมีเสถียรภาพอยู่” ดอนกล่าว 

 

ทั้งนี้ ดอนเสนอแนะว่า ไทยควรประคับคองเศรษฐกิจในปีหน้าด้วยนโยบาย 3 ไม่สะดุด ได้แก่ 

 

  1. ไม่สะดุดทางสาธารณสุข คือ เร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง และยังเคร่งคัดเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม 

 

  1. ไม่สะดุดทางการเงิน คือ ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ อัดฉีดสภาพคล่องผ่านสินเชื่อ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ 

 

  1. ไม่สะดุดทางการคลัง คือ เมื่อภาครัฐมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งช่วยให้มีรูมในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ก็ควรเร่งการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าหากทำ 3 เรื่องนี้สำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะสามารถต่อสู้กับไวรัสโอไมครอนในปีหน้าได้

 

บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า แม้จะตัดปัจจัยเรื่องไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนออก ก็จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อ่อนแออยู่ดี เนื่องจากรายได้ของคนในประเทศยังอ่อนแอ และการฟื้นตัวที่มีลักษณะไม่สมดุลเป็น K-Shaped 

 

 

“ด้วยโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ถ้าเราไม่ทำอะไร เราจะมีศักยภาพโตได้แค่ 2-3% ต่อปี ขณะที่ประเทศในอาเซียนมีศักยภาพที่จะโตเฉลี่ยได้ 5% ในช่วง 20 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเราแทบไม่มีการลงทุนจากภาคเอกชนเลย ไม่มี New Champion ในประเทศ” บัณฑิตกล่าว

 

บัณฑิตกล่าวว่า ไทยควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยพลิกเอาภาคธุรกิจขึ้นมาเป็นตัวนำ ไม่ใช่ภาครัฐ โดยภาครัฐควรปรับเปลี่ยนบทบาทจาก Regulator เป็น Facilitator ขณะเดียวกันต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นใจให้ภาคเอกชนกล้าลงทุนมากขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising