×

วิกฤตโควิด-19 ในจีนใกล้คลี่คลาย แต่กระแสชาตินิยมและเกลียดกลัวต่างชาติกลับปะทุหนัก

โดย Master Peace
24.04.2020
  • LOADING...
วิกฤตโควิด-19 ในจีน

วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ณ เวลานี้บรรเทาลงจนแทบจะเรียกได้ว่า จีนมีชัยในการต่อสู้กับไวรัสแล้ว โดยหลายเมือง รวมถึงอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายสินค้า พบปะเพื่อนฝูง ครอบครัว และญาติพี่น้อง

 

แต่ความปกติเหล่านี้ไม่ทำให้ความหวาดผวาต่ออันตรายของโรคโควิด-19 จางหายไป ในทางกลับกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำให้ความกลัวที่มีต่อโรคระบาดถูกผลักไปยังชาวต่างชาติในจีน ที่ตอนนี้ถูกมองเป็นเพียงคนแปลกหน้าและอาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัส

 

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแส Xenophobia หรือความเกลียดกลัวชาวต่างชาติในจีน โดยเฉพาะในกลุ่มชาวแอฟริกา เพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ชาวแอฟริกันหลายคนต้องเผชิญการแบ่งแยกเชื้อชาติและการปฏิบัติที่แตกต่าง เช่น การถูกบังคับให้กักตัว ขับไล่ออกจากที่พัก และไม่ได้รับการต้อนรับจากร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่สาธารณะที่ยังเปิดให้บริการ

 

บทความจากหนังสือพิมพ์ The New York Times โดย วิเวียน หวัง ผู้สื่อข่าวชาวจีนในกรุงปักกิ่ง ยกตัวอย่างของ เฟลลี เอ็มวัมบา นักธุรกิจชายชาวคองโกที่อาศัยและทำงานในจีนมานาน 16 ปี จนเรียกได้ว่า จีนเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ซึ่งเขารักประเทศนี้และมีเพื่อนมากมายที่นี่

 

แต่ความผูกพันเหล่านี้ถูกบั่นทอนลง หลังจากที่เขาถูกบังคับให้กักตัวในบ้าน ห้ามออกไปข้างนอก อีกทั้งยังถูกมองด้วยสายตาของความรังเกียจ ราวกับว่าเขาเป็นพาหะของโรคโควิด-19 

 

“วิธีที่เขาปฏิบัติต่อคนผิวสี คุณไม่สามารถรับได้ พวกเราไม่ใช่สัตว์นะ” เอ็มวัมบา กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

 

อีกคนคือ จอห์น อาร์ตแมน บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ชาวอเมริกัน ที่ทำงานในกรุงปักกิ่ง บอกว่า อาคารที่ตั้งสำนักงานของเขากลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังปิดไปเพราะการระบาดของโควิด-19 แต่ปรากฏว่า ทางอาคารกลับไม่ต้อนรับชาวต่างชาติ และไม่อนุญาตให้เขาเข้าไปในสำนักงาน

 

เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทของเขากำลังวางแผนจะย้ายสำนักงาน ซึ่ง 2 สัปดาห์หลังจากนั้น เขาพยายามเดินทางไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ แต่เพื่อนร่วมงานของเขาบอกว่า ที่ใหม่ก็ไม่ต้อนรับคนต่างชาติเช่นกัน ทำให้ตอนนี้เขาต้องเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้าน

 

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กระแสชาตินิยมและความรักชาติในหมู่ชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น 

 

ถ้อยแถลงและท่าทีจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เรียกไวรัสโคโรนา ต้นตอของโรคโควิด-19 ว่าไวรัสจีน และมองจีนเป็นต้นตอของวิกฤตที่ลามไปทั่วโลก ทำให้ชาวจีนไม่น้อยแสดงท่าทีต่อต้านและพาลรังเกียจชาวอเมริกัน 

 

ร้านข้าวต้มแห่งหนึ่งในเมืองเสิ่นหยาง ทางตอนเหนือของจีน ถึงขั้นขึ้นป้ายระบุข้อความ ฉลองการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่กระจายอย่างหนักในสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ยังอวยพรให้โควิด-19 เดินทางไปยังญี่ปุ่น ที่อดีตเป็นศัตรูที่เคยกดขี่จีนในยุคสงครามโลก

 

“อาการชาตินิยมที่น่าเกลียดบางอย่าง เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน ซึ่งยกเอาการรับมือไวรัสเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศของพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่การโต้แย้งจากต่างชาติ เช่น การเรียกร้องให้จีนจ่ายค่าเสียหายสำหรับการระบาดใหญ่ที่เริ่มขึ้นจากจีน ทำให้ชาวจีนจำนวนมากพากันออกมาปกป้องตนเอง” ส่วนหนึ่งจากบทความระบุ

 

การปลุกกระแสความภูมิใจในชาติเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มายาวนาน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการครองอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

 

ซึ่งในระยะสั้น กระแสชาตินิยมถูกมองว่า อาจเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลกลางของจีน ที่พยายามระงับความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า หากปล่อยให้กระแสชาตินิยมลุกลามโดยไม่มีการตรวจสอบ ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจกลายเป็นความเสี่ยงที่จีนจะถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลก ถึงแม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพยายามใช้ความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 เพื่อโปรโมตตัวเองในฐานะผู้นำโลกก็ตาม 

 

ซึ่งช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ปกติแล้วถือเป็นพันธมิตรที่ดีของจีน ต่างออกมาต่อต้านกระแสชาตินิยมที่มุ่งเกลียดชังต่างชาติซึ่งกำลังปะทุในจีน ในขณะที่ผู้นำทางธุรกิจหลายประเทศเตือนความยากลำบากในการปฏิบัติงานที่จีนในช่วงนี้

 

“ความเสี่ยงจริงๆ จากท่าทีของลัทธิชาตินิยมคือ รัฐบาลต่างชาติรับรู้ถึงการคุกคามจากจีน” เจสซิกา เฉิน ไวส์ ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิชาตินิยมในจีน จากมหาวิทยาลัย Cornell กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising