×

วิกฤตโควิด-19 ทำ ‘ค้าปลีกไทย’ สูญ 5 แสนล้าน เสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน วอนภาครัฐเร่งช่วยอัดยาแรง

18.01.2021
  • LOADING...
วิกฤตโควิด-19 ทำค้าปลีกไทย

การระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงภาคการท่องเที่ยวที่อาการหนัก ฝั่งค้าปลีกก็หนักเช่นเดียวกัน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยปี 2563 ลดลงจากปี 2562 จาก 2.8 % มาเป็นติดลบ 12.0 % ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก จึงทำให้ค้าปลีกไทยสูญ 5 แสนล้านบาท จากตัวเลขในปี 2562 ที่ภาคค้าปลีกมีมูลค่ากว่า 4.11 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันคาดว่า ไตรมาส 1/64 ดัชนีค้าปลีกยังคงติดลบราว 7-8 % 

 

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้าง เกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น, รายได้ลดลง, หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น, SMEs ทยอยปิดตัวลง, กำลังซื้อหดหาย จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาในระบบค้าปลีกโดยเร็วที่สุด เสนอ 5 มาตรการวัคซีนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที

 

  1. ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง โดยการจ้างงานประจำจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือกและสอดรับการให้บริการช่วงพีกของวันในแต่ละช่วง ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และเพิ่มได้ถึง 200,000 อัตราในระยะยาว

 

  1. ภาครัฐควรช่วยเหลือ SMEs โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) ที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าถึง SMEs เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยแพลตฟอร์มค้าปลีกนี้ ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้อย่างตรงเวลาและครบถ้วน เป็นการลดภาระหนี้สูญของธนาคารอีกด้วย

 

  1. ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน E-Commerce/E-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูล ETDA มูลค่า E-Commerce มีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SMEs ไทยมีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว

 

  1. ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ ทั้งนี้จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเหล่านี้ซึ่งคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศและช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี ยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ต่างๆ ทำให้ต้องหาซื้อสินค้าผ่านทาง Cross Borders หรือ Grey Market 

 

โดยทางสมาคมฯ เสนอให้กระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงนี้ โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้าเป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20%, 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษีและไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส

 

  1. ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลายและราคาต่ำได้มากขึ้น จากงานวิจัยพบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising