×

ก้าวผ่านโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

01.08.2017
  • LOADING...

“ถ้าคุณเศร้าปกติ การที่มีคนดึงขึ้นมาจากน้ำ การหายใจเฮือกแรกนั้นจะช่วยให้ดีขึ้น แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เขาจะอยากทิ้งตัวให้จมลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีคนดึงขึ้นมา ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังจมอยู่ในน้ำ”

เมื่อ คิมจงฮยอน นักร้องเสียงหลักของวง SHINee เลือกลาจากโลกนี้ไปในวัย 27 ปี หรือก่อนหน้านี้กับการที่ เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในบ้านพักส่วนตัวที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ด้วยวัย 41 ปี คลื่นความหม่นเศร้าแผ่ขยายอย่างไร้พรมแดน ข้ามจากโลกซีกหนึ่งสู่โลกอีกซีกหนึ่ง

 

มากมายคำถาม ความสงสัย คำวิพากษ์หลากอารมณ์ กล่าวถึงสาเหตุการจากไป และทั้งหมดทั้งมวลมาจบที่บทสรุปที่ดูเหมือนเราจะได้ยินกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

 

เพราะ ‘โรคซึมเศร้า’ เขาจึงร้าวราน และไม่อาจทานทนได้อีก

 

ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าได้รับการเผยแพร่ในสังคมมากขึ้น หลักเกณฑ์การสำรวจตัวเองเบื้องต้นว่ามีอาการเข้าข่ายหรือไม่ ค้นเจอง่ายดายในโลกออนไลน์เพียงไม่กี่วินาที แต่สำหรับบางคนก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจ THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ ไขศรี วิสุทธิพิเนตร หรือที่นักอ่านรู้จักเธอในนามปากกา ‘ดาวเดียวดาย’ อดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ฝังหัวใจอยู่ในถ้ำอันมืดมิดนานถึง 7 ปี

 

เธอคือเจ้าของผลงาน เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง สารคดีรางวัลยอดเยี่ยม นายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557 ที่ปัจจุบันพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 9 แล้ว

 

เพราะหากจะมีใครสักคนกล่าวถึงโรคซึมเศร้าได้ดีที่สุด ก็คงต้องเป็นคนที่มีโรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมายาวนานที่สำคัญเธอต่อสู้จนหายเป็นปกติได้ในที่สุด

 

 

ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องเกี่ยวกับคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วฆ่าตัวตาย คุณคิดอย่างไร

มันก็เศร้าอยู่แล้ว ยิ่งในฐานะที่เราเคยผ่านภาวะตรงนั้นมา เราก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจทำแบบนั้น ถ้าดูกรณีของเชสเตอร์ เราว่าสื่อที่นำเสนอข่าวก็มีผลนะ มีมากด้วย เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นจรรยาบรรณของสื่อเลย คือต้องไม่นำเสนอวิธีการฆ่าตัวตาย เพราะมันทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ เราเคยคุยกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือคนที่สมาชิกในครอบครัวมีการฆ่าตัวตายด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เขาก็มักจะใช้วิธีนั้นซ้ำ อย่างกรณีเชสเตอร์ เขาก็ใช้วิธีเดียวกับเพื่อนสนิทเขา แต่ตรงนี้ใช่หรือไม่ใช่ คงต้องให้หมอออกมายืนยัน แต่สิ่งที่เราเรียนรู้หรือผ่านการอบรมมาโดยจิตแพทย์ เขาก็บอกตรงกันว่า มันเป็นเรื่องของพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวที่เราเคยอ่านเหมือนกันว่ามีคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าบางคนจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีเดียวกับที่คนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวเคยใช้มาก่อน

 

คนที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ณ​ เวลาที่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง เขาจะรู้สึกเหมือนมันไม่ใช่ตัวเอง คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่

ถ้าจากประสบการณ์ตัวเองและเท่าที่เคยคุยกับคนที่เป็น ส่วนใหญ่มักจะวางแผนไว้แล้ว ไม่ใช่ไม่รู้ตัว แต่ก็มีการส่งสัญญาณ เพียงแต่คนรอบข้างอาจจะไม่รู้ว่าเขาส่งสัญญาณ อย่างกรณีของเชสเตอร์ก็มีคนวิเคราะห์ว่า เขาส่งสัญญาณมาแล้วในเพลงที่อยู่ในอัลบั้มชุดล่าสุด หรือถ้าย้อนกลับไปฟังเพลงในชุดเก่าๆ เชสเตอร์ก็ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าเขากำลังรู้สึกอะไรหรือถ้าย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิงห์ วง Sqweez Animal นั่นก็มีสัญญาณมาก่อนจากข้อความที่เขาส่งไลน์ให้เพื่อน ตอนนั้นก็มีจิตแพทย์ออกมาวิเคราะห์ว่ามีสัญญาณของการสั่งเสีย เรื่องเหล่านี้เราอยากอธิบายว่า คนที่เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายเขาไม่ได้อยากตายหรอก แต่เขากำลังร้องขอความช่วยเหลืออยู่ เพียงแต่คนรอบข้างจับสัญญาณนี้ไม่ได้

 

การส่งสัญญาณจากคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีลักษณะแบบไหนได้บ้าง

ถ้าดูจากประสบการณ์เราเองที่เคยวางแผนว่าจะฆ่าตัวตายมาแล้ว ตอนนั้นเราจะเริ่มคัดแยกข้าวของเครื่องใช้ที่เรารักเพื่อเอาไปบริจาค หรือคัดแล้วว่าของชิ้นนี้จะเอาไปให้ใคร หรือจะเอาไปขาย เวลาคุยกับเพื่อนก็จะเริ่มพูดว่า ฝากดูแม่ด้วยนะ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณทั้งหมดเลยที่บอกว่าคนคนนั้นเตรียมพร้อมแล้ว และจริงๆ การที่เราถามเขาถึงแผนการฆ่าตัวตาย มันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวนะ เราว่ายิ่งถาม ยิ่งดี เพราะมันเหมือนการถามเพื่อให้เขาพูดออกมา เพราะบางทีมันช่วยทำให้ปัญหาตรงนั้นคลี่คลาย เหมือนมีคนคอยรับฟังเขาอยู่ ให้เขาได้บอกออกมาว่าตอนนี้เขากำลังแย่สุดๆ ถึงขั้นที่ไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไปแล้ว และการส่งสัญญาณก็ไม่ได้หมายถึงต้องให้คนมาสปอยล์ หรือเอาใจอะไรเลย เขาแค่ต้องการคนช่วย หรือคนรับฟัง จิตแพทย์ก็เคยบอกว่า วิธีที่จะช่วยคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ดีที่สุด ไม่ใช่การสอน ไม่ใช่การพูด แต่เป็นการฟัง

 

ถ้าหากสัญญาณที่ไม่สามารถจับได้ เช่น การวางแผน คุณอยากแนะนำให้คนใกล้ตัวสังเกตคนป่วยโรคซึมเศร้าอย่างไรบ้าง

สิ่งที่สังเกตได้ง่ายคือ เรื่องของอารมณ์ หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เศร้า เก็บตัว อยู่แต่ในห้อง ไม่ออกมาพบสังคม ไม่คุย ไม่กินข้าว ไม่นอน กิจกรรมใดๆ ที่เคยชอบก็ไม่ทำเลย

 

“การฟังเป็นวิธีที่ดีที่สุด และแค่ฟัง ไม่ต้องไปตัดสินเขา”

 

ย้อนกลับไป ณ​ วันที่คุณเป็นโรคซึมเศร้า มันเกิดขึ้นจากการเป็นโรคอารมณ์สองขั้วก่อนด้วยหรือเปล่า

เอาจริงๆ แล้วสองโรคนี้แยกกันนะ ไบโพลาร์ หรืออารมณ์สองขั้ว ก็เป็นโรคหนึ่ง โรคซึมเศร้าก็เป็นอีกโรคหนึ่ง แต่สำหรับคนเป็นไบโพลาร์ มันจะมีขั้วของความซึมเศร้า กับขั้วของอารมณ์ที่คึก ลิงโลด หรือตรงข้ามกับเศร้าทุกอย่างรวมอยู่ด้วย เพียงแต่มันจะสลับกันเป็น แต่ในกรณีของเรา เราเป็นโรคไบโพลาร์มาก่อน  แต่ที่ต้องไปหาหมอ เพราะเรามีขั้วของความซึมเศร้าที่ยาวนานและเด่นชัดที่สุด รวมทั้งมีผลกระทบกับชีวิตเรามากๆ ด้วย  ไม่ว่าจะเป็น อาการไม่อยากตื่น ทำงานไม่ได้ คือช่วงนั้นเราผ่านเหตุการณ์สูญเสียมา (มีภาวะแท้งลูก)  และคนรอบข้างก็รู้ว่าเราเศร้า เราเสียใจ แต่เขาไม่ได้คิดว่ามันคือโรค เขาคิดว่ามันคืออาการของคนที่สูญเสียแล้วเศร้า แต่มันผิดปกติตรงที่เกิดนานเกินไป เช่น คนปกติเวลาเศร้า เขาก็จะใช้เวลาประมาณหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ ปรับตัวได้ แต่ของเราจะดำดิ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนานเป็น 2 เดือน 3 เดือน น้ำหนักลด 14 กิโลกรัม ภายในไม่ถึง 2 เดือน ไม่นอน 3 วันติดกัน ไม่กินข้าว ไม่อยากออกไปไหน ร้องไห้ตลอดเวลา เป็นช่วงเวลาที่นานเกินไป ตรงนี้ก็เป็นตัวชี้วัดว่าเศร้าผิดปกติแล้วล่ะ

 

หากจะให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการเยียวยาคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือต้องอยู่กับคนที่ป่วยควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง

เราว่าก็ต้องอยู่ใกล้ๆ เขา อย่าทำให้เขารู้สึกว่าถูกทอดทิ้งหรือไม่มีคนฟัง คือเราเข้าใจอารมณ์ของคนที่อยู่ใกล้นะว่าเหมือนต้องมาฟังเรื่องซ้ำๆ มันก็ต้องมีความเบื่อ รำคาญ แต่จริงๆ การฟังเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว และแค่ฟัง ไม่ต้องไปตัดสินเขา

 

มีคำพูดใดที่ต้องระวังเป็นพิเศษไหมว่า ห้ามพูดกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะคนทั่วไปอาจจะคิดว่าพูดได้ แต่จริงๆ มันอ่อนไหวมากกับคนที่ป่วยอยู่

จากประสบการณ์ที่เคยเจอมาก็เช่น “ทำไมไม่ดีขึ้นสักที” หรือ “ถ้าไม่รักตัวเองก็ไปตายเลยไป” “อยากตายก็ตายไปเลย” คือบางทีก็รู้ว่าเขาพูดเพื่อกระตุ้นให้เราฟื้นขึ้นมา แต่กลับทำให้เรายิ่งดิ่งลงไปอีก เพราะภาวะตอนนั้นมันไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาได้แล้ว

 

ในกรณีของคุณที่มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้แล้ว คุณก้าวข้ามภาวะนั้นมาได้อย่างไร อะไรที่ทำให้สุดท้ายแล้วคุณไม่ลงมือทำ

อย่างที่บอกว่า เวลาจะฆ่าตัวตาย มันไม่ใช่การทำโดยไม่มีสติ เรามีสติรู้ตัวตลอดว่าเราวางแผนอยากทำแบบนั้นแบบนี้  แต่ละครั้งมันก็มีจุดที่ดึงเราออกมาแตกต่างกัน เช่น บางทีคิดวนเวียนไปมา แล้วเรานึกถึงแม่ ความรู้สึกที่อยากฆ่าตัวตายก็จะคลายลง เพราะเรายังมีภาระมากมายที่ต้องรับผิดชอบ หรือการมีเพื่อนก็สำคัญ จังหวะที่เพื่อนพูดกับเรา หรือโทรศัพท์มาหาพอดี ก็ช่วยได้มาก อย่างมีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เราคิดว่าจะฆ่าตัวตาย คืนนั้นเรานอนร้องไห้ทั้งคืน เพราะคิดว่าตัวเองจะต้องตายแน่ๆ แล้ว แต่เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่ไม่ได้คุยกันนานมาก โทรศัพท์มาพอดี เราก็เลยคุยกับเขา แล้วด้วยความที่เขาเป็นผู้ใหญ่กว่า เขาก็รับฟังเรา และมีมุมมองที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายความรู้สึกตรงนั้นได้ เราจำประโยคตอนที่เขาพูดกับเราได้เลยว่า “เออ ลองย้ายต้นไม้ไปปลูกในดินอื่นไหม เผื่อมันจะเติบโตได้และงอกงามขึ้นกว่าเดิม” ที่เขาบอกว่าให้ย้ายต้นไม้ไปปลูกที่อื่น ก็คือการเปรียบเปรยว่าให้เปลี่ยนสภาพแวดล้อม  คือถ้าเราไม่ไหวที่จะอยู่ในที่เดิมๆ สิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็ลองเปลี่ยนตัวเองดูไหม ย้ายตัวเองไปในที่ใหม่ๆ ไปพบเจออะไรใหม่ๆ มันอาจจะช่วยให้เราดีขึ้นได้ ซึ่งพอเราได้ออกเดินทางไปไกลๆ มันก็ช่วยได้นะ

 

ในฐานะที่คุณเคยผ่านภาวะนั้นมาได้ ขณะที่คนอื่นอาจจะยังผ่านไปไม่ได้ จนถึงขั้นมีความสูญเสียเกิดขึ้น อยากให้คุณอธิบายภาวะดำดิ่งที่คนทั่วไปอาจจะจินตนาการไม่ออกว่าเป็นอย่างไร

มักจะมีคนถามว่า ‘ภาวะเศร้า’ กับ ‘โรคซึมเศร้า’ ต่างกันยังไง ก็ต้องบอกว่า ภาวะเศร้า เสียใจ เป็นภาวะปกติที่ทุกคนต้องเคยเจอ แต่มันจะอยู่กับเราแค่ช่วงระยะหนึ่ง แล้วมนุษย์เราก็จะค่อยๆ ปรับให้ตัวเองอยู่ได้ แต่โรคซึมเศร้าจะทำให้ความเศร้านั้นไม่ดีขึ้น แต่มันจะดิ่งลงไปเรื่อยๆ เปรียบเทียบเหมือนคนจมน้ำ ถ้าคุณเศร้าปกติ การที่มีคนดึงขึ้นมาจากน้ำ การหายใจเฮือกแรกนั้นจะช่วยให้ดีขึ้น แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เขาจะอยากทิ้งตัวให้จมลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีคนดึงขึ้นมา ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังจมอยู่ในน้ำ ดังนั้นมันจึงมีเกณฑ์ในการวัดระยะเวลาที่ชี้ชัดได้ว่าใครเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ก็คือ ถ้าเศร้าเกือบทุกเวลา เกือบทุกวัน ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ก็ควรไปพบจิตแพทย์ ทั้งนี้ต้องรวมเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น ซึม ไม่เจอผู้คน คิดลบ

 

หรือกระทั่งการเปลี่ยนแปลงของ
ร่างกายอย่าง นอนไม่หลับ เบื่อ หรืออยากอาหารมากเกินไป ตรงนี้มันก็มีแบบทดสอบทางการแพทย์ออกมาให้เราดูเยอะแล้ว เราก็ลองหาข้อมูลดูได้ แต่ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นหนักนะ แค่รู้สึกว่าเครียด หาทางออกจากปัญหานั้นไม่ได้ ก็ควรไปพบจิตแพทย์เลย

 

คุณมีอะไรที่อยากบอกสังคมไทยเกี่ยวกับคนป่วยโรคซึมเศร้าตอนนี้บ้าง

สิ่งหนึ่งที่พูดมาตลอดในคลาสอบรมคือ ผู้ป่วยเองก็มีส่วนสำคัญในการทำให้คนอื่นมีความรู้มากขึ้น คนที่ผ่านภาวะวิกฤตมาแล้ว  และกล้าเปิดเผยว่าเราเคยเป็นคนป่วย มาอธิบายว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างนี้นะ ฉันไม่ได้เป็นคนบ้านะ ก็เหมือนเป็นปากเป็นเสียงส่วนหนึ่งให้ผู้ป่วยคนอื่นได้ ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยทำให้คนที่ไม่เข้าใจได้รับรู้ แม้ว่าตอนนี้ข้อมูลเรื่องโรคซึมเศร้าเยอะขึ้น แต่เราก็รู้ว่ามันยากที่จะทำความเข้าใจ

 

เพราะบางครั้งเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ ซึ่งคนที่ไม่ได้ประสบภาวะโรคด้วยตัวเองก็คงจะไม่เข้าใจว่า เศร้ามันก็คือความรู้สึกเศร้าไง มีด้วยเหรอเศร้าดำดิ่ง เศร้าจนถอนตัวเองไม่ขึ้น นอกจากนั้นเราคิดว่าสื่อมวลชนก็มีส่วนสำคัญคือแทนที่จะเสนอข่าวในเชิงดราม่าอย่างเดียว ก็ควรเสนอในเชิงให้ความรู้คน ซึ่งไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลทางวิชาการ แต่ต้องย่อยให้เข้าใจได้ง่ายด้วย เช่น การอธิบายให้คนเข้าใจว่าความรู้สึกแย่ที่ว่า มันไปได้ถึงระดับไหน

 

ถ้าสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ ก็จะช่วยได้เยอะ แล้วมีเรื่องหนึ่งที่อยากบอกคือ จริงๆ แล้วการช่วยคนป่วยไม่จำเป็นต้องไปสปอยล์เขานะ (หัวเราะ) ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เขาคิดและเรียกร้องตรงนั้นไม่ถูก การฟังและคุยด้วยเหตุผลจะดีกว่า เพราะผู้ป่วยไม่ใช่ไม่มีสติ เพียงแต่การใช้คำพูดอาจจะต้องพูดในมุมบวกมากกว่าในมุมลบ ลองใช้ตัวเราเองเป็นตัววัด ถ้ามีคนพูดแบบนั้นกับเรา เรารู้สึกยังไง  ถ้าเรารู้สึกแย่กับคำพูดนี้ เราก็อย่าพูด

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X