×

สรุปปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำไมเสี่ยงค่าโง่หมื่นล้าน?

03.03.2023
  • LOADING...
สรุปปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม

มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีส้มที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้ง เมื่อ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉว่า มีความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายจุดที่ส่อแววทุจริต 

 

แม้ปัจจุบันผลการประมูลรอบที่ 2 จะออกมาแล้วว่า BEM คือผู้ชนะ แต่ รฟม. ยังคงเผชิญข้อครหาอยู่หลายประเด็น ทั้งเรื่องการให้เอกชนที่คุณสมบัติขัดแย้งกับกฎหมายผ่านการพิจารณา หรือเงินส่วนต่างถึง 6.8 หมื่นล้านบาทที่ต้องเสียผลประโยชน์ไป รวมถึงคดีความ 4 คดีที่ รฟม. ถูกฟ้องก็มีบางส่วนอยู่ระหว่างรอคำตัดสินอยู่ เรื่องที่เหมือนจบจึงกลับมีภาคต่อให้เราต้องรอติดตาม

 

ค้นคำตอบไปพร้อมกันว่า ความยุ่งเหยิงของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเริ่มขึ้นตรงไหน และปลายทางของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร 

 

 

ชนวนเหตุมหากาพย์การประมูล 

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ถือว่าเป็นเส้นทางที่ยาวรองลงมาจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีระยะทาง 35.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี วิ่งเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

 

ช่วงแรกคือ ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร มี 17 สถานี แบ่งเป็นใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี โดยตรงนี้ รฟม. จะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาทั้งหมด โดนสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา งานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว 98.65% 

 

ช่วงที่สองคือ ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ที่เป็นโครงการก่อสร้างสถานีใต้ดินตลอดทั้งสาย ระยะทางรวม 13.4 กิโลเมตร มีจำนวน 11 สถานี และเป็นต้นเรื่องของมหากาพย์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และถึงแม้สายฝั่งตะวันออกจะก่อสร้างเกือบเสร็จ 100% แล้ว ก็ยังไม่สามารถเดินรถได้จนกว่าการก่อสร้างฝั่งตะวันตกจะเรียบร้อย

 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2563 ที่ประชุม ครม. มีมติให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก เป็นการทำงานในรูปแบบ ‘PPP Net Cost’ หรือว่าการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะลงทุนออกค่าเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการให้ 

 

ส่วนเอกชนจะลงทุนงานโยธา งานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง โดยภาครัฐจะทยอยจ่ายค่างานโยธาคืนให้กับเอกชนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หลังจากที่เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 ปี รวมระยะเวลาในการผ่อนชำระคืนทั้งสิ้น 7 ปี วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท 

 

ที่น่าสนใจก็คือ เอกชนที่ชนะประมูลการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกจะได้รับสิทธิบริหารการเดินรถตลอดสาย ก็คือได้สิทธิเดินรถยาวตั้งแต่ฝั่งตะวันตกไปจนถึงฝั่งตะวันออกเป็นระยะเวลา 30 ปี

 

เมื่อ ครม. ผ่านความเห็นชอบและอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามกฎหมาย ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2562 พร้อมเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชนเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบการยกร่างเงื่อนไขการประมูล หรือ TOR ซึ่งจะใช้เกณฑ์ 3 ข้อคือ ข้อเสนอทางการเงิน ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอทางเทคนิค

 

ในที่สุดคณะกรรมการคัดเลือกก็ได้สรุปว่าจะใช้ ‘ข้อเสนอทางการเงิน’ เป็นเกณฑ์ตัดสินคัดเลือกผู้ชนะการประมูล เอกชนรายใดเสนอมูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือที่เรียกว่า NPV (Net Present Value) มากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะไป หรืออธิบายง่ายๆ คือ ใครเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐได้สูงสุด หรือขอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างจากรัฐน้อยที่สุดก็ชนะการประมูลไปนั่นเอง 

 

ส่วนข้อเสนอด้านคุณสมบัติกับข้อเสนอด้านเทคนิคเอาแค่ผ่านเท่านั้น ไม่มีการให้คะแนน โดยได้ประกาศเชิญชวนและขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน หรือที่เรียกว่า RFP ระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563 และมีเอกชนให้ความสนใจซื้อซองไปทั้งหมด 10 ราย

 

ภายหลังจากขายซองไปได้ไม่ถึงเดือน วันที่ 27 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการคัดเลือก รฟม. ได้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมแจ้งให้ผู้ที่มาซื้อซองทุกรายรับทราบว่า รฟม. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ทางเทคนิค 30% และหลักเกณฑ์ทางการเงิน 70% ผู้ประมูลรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็เป็นผู้ชนะ 

 

ซึ่งการประกาศแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอเพิ่มเติมนั้น เกิดขึ้นหลังจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือว่า ITD Groups ได้ยื่นหนังสือถึง รฟม. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สศร. ว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้

 

เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดทั้งเส้นทาง งานก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะว่าต้องขุดอุโมงค์ และสถานีผ่านพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีโบราณสถาน และสถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมทั้งต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรม และวิธีการก่อสร้างชั้นสูง จึงอยากให้ทาง รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในด้านต่างๆ

 

รศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ติดตามและศึกษาปัญหารถไฟฟ้ามาตลอด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การเปลี่ยนกติกาภายหลังแบบนี้เป็นเรื่องแปลกขึ้นมาทันที เพราะเมื่อมีการเปิดขายซองไปแล้วก็เหมือนกับการเปิดหน้าไพ่ว่าจะใครจะมายื่นข้อเสนอโครงการบ้าง และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกติกาจะเป็นการเอื้อให้เอกชน 10 รายที่ซื้อซองไป รู้ได้ทันทีว่าใครจะชนะหรือจะแพ้

 

 

ใครจะยอม BTS ฟ้องกติกาใหม่ไม่เป็นธรรม

 

การเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนกลางอากาศมีนัยสำคัญต่อการพลิกผลแพ้ชนะ ทำให้วันที่ 17 กันยายน 2563 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่ โดยกล่าวหาว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง

 

พร้อมระบุว่า เงื่อนไขที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จากการตรวจสอบเอกสารข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ RFP ฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่พบข้อที่กำหนดว่าผู้ยื่นซองจะต้องเคยมีประสบการณ์ขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด บอกแต่เพียงว่าต้องมีประสบการณ์ทางด้านงานโยธาทั้ง 3 ประเภท คือ 1. งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร 2. งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดินในระบบขนส่งมวลชน และ 3. งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งแบบไม่ใช้หินโรยทาง

 

ดร.ประมวลชวนคิดต่อว่า เหตุผลการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนนั้นถือว่าฟังขึ้น เพราะว่าในมุมประชาชนการได้เอกชนที่เคยมีประสบการณ์ก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าใต้ดินมาก่อน ก็ถือเป็นการการันตีความเชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินงานจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นการปิดประตูใส่ BTS ที่ขาดประสบการณ์ทำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่ให้เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ได้ BTS จึงรู้สึกว่าการเปลี่ยนกติกาใหม่ไม่เป็นธรรมสำหรับเขา

 

หลัง BTS ยื่นฟ้อง รฟม. ในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบใหม่ของ รฟม. เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ทาง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ระงับคำสั่งของศาลปกครองกลาง

 

 

ล้มประมูลรอบแรก แต่คดีตามมาเป็นขบวน 

 

ระหว่างที่การพิจารณาคดีดำเนินไป อยู่ๆ คณะกรรมการการคัดเลือกฯ ได้ประกาศล้มการประมูลครั้งที่ 1 โดยให้เหตุผลว่าคดีพิพาทมีผลทำให้การคัดเลือกต้องล่าช้า จึงส่งผลให้กำหนดการเปิดให้บริการต้องล่าช้าออกไป และในฐานะที่ รฟม. มีภาระต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อบำรุงรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่ก่อสร้างไปแล้ว ความล่าช้าที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การยกเลิกการคัดเลือก และเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่ จึงเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการมากที่สุด

 

หลังจากประกาศล้มการประมูลรอบแรกไปแล้ว รฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และขอจำหน่ายคดีต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่งผลให้คำสั่งศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์ประเมินใหม่ สิ้นผลการบังคับใช้ตามไปด้วย

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประมูลรอบแรกจึงสิ้นสุดลง แต่เรื่องกลับไม่จบง่ายๆ เมื่อ BTS ยังคงเดินหน้าฟ้องต่อ โดยสรุปคดีที่ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองมีอยู่ 3 คดี แบ่งออกเป็น คดีจากการประมูลรอบแรก 2 คดี และการประมูลรอบที่ 2 อีก 1 คดี

 

คดีการประมูลรอบแรก ได้แก่ คดีแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนว่าเป็นการละเมิด พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท 

 

ในตอนแรกศาลปกครองกลางได้พิพากษาว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเป็นการกระทำที่ ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ แต่ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

 

ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. มีอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว และดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ BTS

 

ส่วนคดีที่ยกเลิกการประมูลครั้งแรก BTS ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนรอบใหม่ และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

 

ส่วนคดีที่เกิดจากการประมูลครั้งที่ 2 นั้น BTS ฟ้องประเด็นที่มีการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม

 

ขณะเดียวกันคดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณี BTS ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกรวม 7 คน ฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมประชุมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ การประเมินข้อเสนอในการประมูลรอบแรก 

 

ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า “ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 

 

การแก้ไขหลักเกณฑ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ครั้งแรกนั้น ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง

 

 

ประมูลครั้งใหม่กับความย้อนแย้งที่ชวนตั้งคำถาม  

 

กลับมาที่เรื่องการประมูลรอบใหม่ที่ดำเนินควบคู่กันไปในช่วงเวลาเดียวกันกับกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้การประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาซื้อซองการประมูลรอบที่ 2 โดยใช้หลักเกณฑ์ทางเทคนิค 30% และทางการเงิน 70% ตามเดิม 

 

ครั้งนี้มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ ITD Groups ยื่นข้อเสนอไป 2 ราย ขณะที่ BTS ขอถอนตัว 

 

แม้สุดท้าย BEM จะกลายเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ความชอบธรรมของ รฟม. ก็ต้องถูกตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่อ ITD Groups ที่คณะกรรมการเคาะให้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัตินั้น กลับมีคุณสมบัติขัดแย้งกับการประกาศเชิญชวนฯ ของ รฟม. ข้อ 3 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องไม่เป็นเอกชนหรือบุคคลที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562”

 

ถ้าหากไปดูประกาศของคณะกรรมการข้างต้น จะพบลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนนั้น ในข้อ 3 (3) ระบุเอาว่า ‘เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ’ และข้อ 4 ระบุว่า ‘ในกรณีที่เอกชนตามข้อ 3 เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ด้วย’ นั่นหมายความว่า กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลจะต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

 

แต่กรรมการคนหนึ่งของ ITD Groups เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า รฟม. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ITD อย่างละเอียดรอบคอบหรือไม่ 

 

 

เสียเงิน 1.6 แสนล้านบาท ค่าโง่หรือผลประโยชน์?

 

ทันทีที่ผลการประมูลรอบที่ 2 ออกมา มีการนำไปเปรียบเทียบว่า หาก รฟม. ไม่ล้มการประมูลรอบแรก รัฐจะเสียผลประโยชน์น้อยที่สุด เนื่องจากในการประมูลรอบแรก BTS ยื่นข้อเสนอขอรับสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ จากรัฐ 9,600 ล้านบาท ขณะที่ BEM เสนออยู่ที่ 78,287 ล้านบาท และ ITD Groups เสนอ 102,635 ล้านบาท เมื่อนำมาบวกลบจะมีส่วนต่างมากถึง 68,687 ล้านบาท

 

อีกทั้งรัฐยังต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกรณีต้องเลื่อนการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกไปด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่ารัฐจะสูญเงินถึง 46,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อปัจจุบันล่าช้ามาแล้ว 2 ปี จึงอยู่ที่ 92,000 ล้านบาท และเมื่อนำ 92,000 ล้านบาทไปรวมกับส่วนต่างที่รัฐเสียประโยชน์ไป 68,687 ล้านบาท เท่ากับว่ารัฐจะต้องเสียประโยชน์ไป 160,687 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อยเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม รฟม. ชี้แจงว่า แม้ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTS ตามที่เป็นข่าวนั้น จะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเงิน เพื่อให้ รฟม. มั่นใจว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่พิจารณาเพียงแค่ตัวเลขผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐเท่านั้น 

 

รฟม. ยังชี้แจงด้วยว่าในขั้นตอนการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ ที่จะทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นจากเดิมมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาทด้วย

 

 

ชูวิทย์ออกมาแฉซ้ำ 

 

ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเหมือนจะเงียบลงไปสักพักหนึ่ง จนกระทั่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เดินทางมายังบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับป้ายขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมันส่อแววว่าจะทุจริต โดยชูวิทย์แบ่งข้อมูลออกออกเป็น 5 สถานี ได้แก่ 

 

  1. สถานีโกง จากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ TOR หลังเปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว เดิมเอกชนต้องจ่ายเงินคืนให้รัฐ 7 พันล้านบาท กลายเป็นว่ารัฐกลับต้องจ่ายเป็นจำนวนเงิน 7 หมื่นล้านบาท
  2. สถานีทุจริต มีการร้องศาลปกครอง ศาลปกครองกลางไม่ให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ ถึงผลการตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุด แต่ชูวิทย์รู้มาว่าที่ประชุมใหญ่มีมติ 27 ต่อ 23 ให้สามารถเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ 
  3. สถานีฮั้ว คือบริษัทที่ไม่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติ แต่ขอยื่นเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ เพื่อให้บริษัทนี้เข้าหลักเกณฑ์เพียงบริษัทเดียว
  4. สถานีเงินทอน พบว่ามีการโอนเงินจำนวน 3 หมื่นล้านบาทไปยังประเทศสิงคโปร์ผ่านธนาคารเอกชนระหว่างประเทศ เงินนี้ชูวิทย์ถามว่าเข้ากระเป๋าใคร 

 

และ 5. สถานีปลิว เปิดประมูลรอบที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ว่า ต้องเคยเป็นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น จึงเหลืออยู่แค่บริษัทเดียว

 

รฟม. ก็รีบออกมาชี้แจงทันทีว่า การปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 นั้น รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่ชูวิทย์กล่าวอ้างแต่อย่างใด และคดีฟ้องร้องกันในศาลปกครองนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และมีความเห็นว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว พร้อมกับตอบคำถามอื่นๆ โดยยึดตามการพิจารณาของศาลเป็นหลัก 

 

ส่วนประเด็นใหญ่ก็คือ มีเงิน 3 หมื่นล้านบาทโอนผ่านบัญชีธนาคารต่างประเทศนั้น รฟม. ขอให้ชูวิทย์แสดงหลักฐานเอกสารตามที่กล่าวอ้างต่อสาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่ 

 

ชูวิทย์ก็รับคำท้า เดินทางไปหน้ากระทรวงคมนาคม แม้จะยังไม่มีการยื่นเอกสารหลักฐานในวันนั้น แต่ยืนยันว่าตนเองมีเอกสารที่มาที่ไปเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่าดำเนินการอย่างผิดปกติแน่นอน และจะยื่นเอกสารให้แก่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น 

 

แต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ส่งหนังสือด่วนถึงชูวิทย์ ขอให้ส่งข้อมูลหรือหลักฐานการโอนเงิน 3 หมื่นล้านบาทไปยังบัญชีธนาคารในประเทศสิงคโปร์ตามที่อ้างภายใน 15 วัน เพื่อจะได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป

 

ในวันนี้ การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาถึงขั้นตอนเสนอร่างสัญญาให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ และเซ็นสัญญากับ BEM ต่อไป แต่สิ่งที่ยังต้องจับตาก็คือ คำตัดสินของคดีที่ยังค้างคาอยู่ 

 

ดร.ประมวลมองว่า หากคดีความยืดเยื้อไปหลายปี แต่การก่อสร้างเริ่มขึ้น จนกระทั่ง BEM เริ่มเดินรถไปแล้ว และปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า รฟม. ทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นไปได้ว่า BEM อาจจะฟ้องกลับ โดยที่รัฐก็ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มอีกนอกเหนือจากผลประโยชน์ที่สูญเสียไปก่อนหน้านี้ระหว่างขั้นตอนการประมูลทั้ง 2 รอบ และถ้าหาก รฟม. ชนะทุกคดีก็อาจเป็นบรรทัดฐานใหม่เช่นกันว่า ต่อจากนี้การประมูลโครงการอื่นๆ ก็สามารถเปลี่ยนกติกาหลังจากเปิดขายซองไปแล้วได้เหมือนกัน

 

ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอาจชวนเราให้คิดว่าเป็นเพียงการทะเลาะกันระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ท้ายที่สุดคนรับกรรมย่อมคือประชาชนที่ต้องร่วมแบกรับความเสียหายโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะอยู่ในรูปของความล่าช้าในการใช้บริการ หรือความเสียหายที่มีมูลค่าถึงหลักแสนล้านบาทก็ตาม 

 

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising