ทุกคนเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มอะไรกัน? แน่นอนว่าในที่นี้ต้องมีคนที่เป็นคอกาแฟกันไม่มากก็น้อย การเลือกดื่มกาแฟสำหรับเช้าวันใหม่ล้วนมีหลายแบบแตกต่างกันไป บางคนอาจชอบกาแฟนม บางคนอาจชอบกาแฟดำ บางคนชอบแบบใส่น้ำตาล บางคนไม่ชอบใส่
ก่อนหน้านี้ได้มีผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคกาแฟ กับการลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต แต่ไม่ได้แบ่งแยกว่ากาแฟดังกล่าวเป็นกาแฟแบบใด ทำให้ล่าสุด Annals of Internal Medicine ได้ศึกษาลงลึกถึงกาแฟที่ใส่น้ำตาลหรือสารให้ความหวานเทียม ต่อการเสียชีวิตเพิ่มเติม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ช้าก่อน! คุณดื่มกาแฟผิดวิธีอยู่หรือเปล่า? มาดู 3 วิธีการดื่มกาแฟที่ถูกต้อง และทำให้วันนี้โปรดักทีฟอย่างแท้จริง
- อยากเติมพลังยามบ่าย? ผู้เชี่ยวชาญแนะสูตร ‘Power Nap’ จิบกาแฟก่อนแล้วค่อยงีบ
- งานวิจัยใหม่ชี้ การดื่มกาแฟ วันละ 2-3 แก้ว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘อายุขัย’ ยืนยาวขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวได้ผู้ร่วมวิจัยจำนวน 171,616 คน ที่มีอายุระหว่าง 37-73 ปี ในสหราชอาณาจักร มากกว่า 5 ครั้ง ในเวลา 1 ปี เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และนิสัยการดื่มกาแฟของพวกเขา ซึ่ง 7 ปีหลังจากนั้น นักวิจัยได้ไปเก็บรวบรวมใบมรณะของเหล่าผู้เข้าร่วมเพื่อดูว่าสาเหตุของการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยว่าเกิดจากอะไร จากรายงานพบว่า พวกเขาไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมะเร็งในขณะสำรวจ
ผลงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟในปริมาณปานกลาง (กำหนดไว้ 1.5-3.5 แก้วต่อวัน) และเติมความหวานในกาแฟ มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลดลง 30% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มกาแฟ ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ดื่มกาแฟแบบไม่ใส่น้ำตาล มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลง 16-29% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ โดยผลงานวิจัยได้ปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยทางสังคมวิทยา ไลฟ์สไตล์ ระดับการสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย ระดับการศึกษา และพฤติกรรมการบริโภค Dr.Christina Wee ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่ Harvard Medical School กล่าว
อย่างที่หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า กาแฟสามารถปกป้องหัวใจและช่วยรักษาโรคอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาตับตามการศึกษาปี 2021 ได้ระบุไว้ ซึ่งในกาแฟบางชนิดมีสาร ‘ฟีนอลิก’ พวกมันส่งผลต่อรสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟ ที่สำคัญยังเชื่อว่ามีประโยชน์เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวต้านทานอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ รวมไปถึงต่อต้านริ้วรอย
โดยกาแฟที่สามารถพบฟีนอลิกมากที่สุดมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ อาราบิก้าและโรบัสต้า ผลวิจัยกล่าวว่า ในกาแฟโรบัสต้าจะมีฟีนอลิกปริมาณที่สูงกว่ากาแฟอาราบิก้า ซึ่งเมล็ดกาแฟสีเขียวที่ยังไม่ผ่านการคั่วจะมีฟีนอลิกในระดับสูง แต่กลิ่นไม่ค่อยดี เมื่อคั่วจะทำให้สารประกอบฟีนอลิกบางชนิดแตกตัวได้ ขึ้นอยู่กับระดับการคั่วและวิธีการชง
สารที่อยู่ในกาแฟที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือ ‘ไดเทอร์พีน’ ซึ่งมีในระดับสูงไม่ต่างกัน เป็นสารประกอบทางเคมีที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากเรียงตามลำดับปริมาณไดเทอร์พีนในกาแฟชนิดต่างๆ จะเป็นดังนี้ (ตามการศึกษาปี 2016) กาแฟต้มและกาแฟเฟรนซ์เพรสมีปริมาณมากที่สุด, กาแฟมอคค่าและกาแฟเอสเพรสโซมีปริมาณปานกลาง ในขณะที่กาแฟสำเร็จรูปหรือกาแฟชงมีปริมาณน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม กาแฟอาจไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่หากเลือกดื่มกาแฟตามความเหมาะสมต่อปริมาณที่ร่างกายรับได้ ความชอบ และผลที่ตามมาแล้ว ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าลองปรับทำกันดู
อ้างอิง: