×

‘ร่วมกันเป็นเจ้าของ ร่วมกันปกป้อง’ ทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

27.10.2022
  • LOADING...

สถานการณ์อุทกภัยเป็นหนึ่งความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ถ้าปริมาณน้ำฝนเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดไว้ EIC ประเมินว่า จะมีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 5.7 ล้านไร่ โดยภาคเกษตรจะได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านบาท หรือ 0.07% ของ GDP[i]

 

สังเกตว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมาโดยตลอด ข้อมูลจากธนาคารโลก[ii] ระบุว่า นับตั้งแต่มหาอุทกภัยในปี 2011 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 10.2 ล้านคน ถัดมาแค่ปีเดียวเรากลับเผชิญภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 12 ล้านคน เศรษฐกิจไทยเผชิญกับสถานการณ์อุทกภัยอีกหลายครั้ง ทั้งในปี 2013, 2016, 2017 และ 2020 ที่ต่างส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน (รูปที่ 1)

 

 

ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สำหรับระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิอากาศอย่างมาก เราจึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยรายงาน Asia-Pacific Disaster Report 2022 ของ UN ESCAP[iii] ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 3.3% ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 5.3 แสนล้านบาทของ GDP ในปี 2021 นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีแนวโน้มที่จะผันผวนรุนแรงขึ้น สังเกตได้จากความผันผวนของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย โดยในช่วง 10 ปีหลัง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเคยปรับขึ้นสูงสุดถึง 2,000 มิลลิเมตร และเคยลดลงมาต่ำสุดถึง 1,300 มิลลิเมตร[iv] (รูปที่ 2)

 

 

มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจและสังคมไทยไปโดยสิ้นเชิง และภูมิทัศน์ใหม่อาจมาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือปัญหาของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

เศรษฐศาสตร์สาธารณะมองว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็น ‘ทรัพยากรสาธารณะ’ และมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลจาก ‘ปัญหาของการใช้ทรัพยากรสาธารณะร่วมกัน’


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในปี 1968 การ์เรตต์ ฮาร์ดิน นักนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน อธิบายว่า ทรัพยากรสาธารณะเปรียบได้กับทุ่งหญ้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบทุ่งสามารถจูงวัวเข้ามาเลี้ยงในทุ่งได้อย่างอิสระ เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงไม่มีใครวางแผนว่าจะจำกัดการเลี้ยงหรือปลูกหญ้าทดแทน เพื่อรักษาทุ่งหญ้าเอาไว้เลี้ยงวัวให้ได้นาน สุดท้ายหญ้าก็หมดไปจากทุ่ง ฮาร์ดินเรียกจุดจบนี้ว่า ‘The Tragedy of the Commons’[v]

 

เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติ เราอาจคิดว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของ จึงใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่จำกัด โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว หากทุกคนคิดเช่นนี้แปลว่าเรากำลังร่วมใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดลง จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา แต่ผลจากการใช้ทรัพยากรโลกโดยไม่ดูแลรักษานั้นน่ากลัวกว่ามาก โดยหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ปัญหาของการใช้ทรัพยากรสาธารณะร่วมกันอาจนำไปสู่ ‘การสูญสิ้นอารยธรรม’

 

มายาเป็นตัวอย่างของอารยธรรมที่สิ้นสุดลงเพราะปัญหาของการใช้ทรัพยากรสาธารณะร่วมกัน อารยธรรมมายาขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางศตวรรษที่ 2 ถึงต้นศตวรรษที่ 9 ทั้งในแง่ของความเป็นเมือง สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และองค์ความรู้ โดยหัวเมืองใหญ่มีประชากรมากที่สุดถึงราว 1 แสนคน[vi]

 

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า ในปลายศตวรรษที่ 9 อาณาจักรมายาใช้ทรัพยากรโดยขาดการบริหารจัดการ ทรัพยากรจึงลดลงสวนทางกับจำนวนประชากร ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากร นอกจากนี้ทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ยังบ่งชี้ว่า เมื่อธรรมชาติขาดสมดุลจึงเกิดภัยแล้งทำลายพืชผลและแหล่งน้ำจืด สุดท้ายชาวมายาจึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐานขึ้นไปทางตอนเหนือ นับเป็นการสิ้นสุดของอารยธรรมมายายุครุ่งเรือง

 

จะเห็นได้ว่าปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอาจนำไปสู่จุดจบที่น่ากลัว ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนรุนแรงกำลังเตือนเราว่า จุดจบที่น่ากลัวอาจไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป

 

ประชาคมโลกเปลี่ยน ‘กติกา’ เพื่อแก้ปัญหาของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน 

ปัจจุบันประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงร่วมกันกำหนด ‘ระเบียบโลกใหม่’ เพื่อกำกับให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ในปี 2015 นานาชาติรวม 197 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งนำไปสู่การรับรอง ‘ข้อตกลงปารีส’ ที่ประเทศสมาชิกจะร่วมกันยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2050 เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ต่อมาในปี 2021 ประเทศสมาชิกมาประชุมร่วมกันอีกครั้งในการประชุมสมัยที่ 26 เพื่อผลักดันให้ประเทศสมาชิกประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 ที่เป็นรูปธรรมขึ้น

 

ข้อตกลงปารีสผลักดันให้ผู้ดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศเปลี่ยน ‘กติกา’ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยตั้งต้นจากการกำหนดนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การกำหนดมาตรฐานและนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สำหรับไทย ภาครัฐกำลังร่วมงานกับภาคเอกชนและภาคการเงินในการกำหนดนิยามและพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จภายในปี 2023 ซึ่งจะเป็นรากฐานในการกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป[vii]

 

เปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากกติกาที่เปลี่ยนไป การอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมยังกลายมาเป็น ‘แบบแผน’ ของการดำเนินชีวิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนทั่วโลก ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกต้องการบริโภคสินค้าที่เลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2021 PwC[viii] สำรวจผู้บริโภค 8,681 คน ใน 22 ประเทศทั่วโลก ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่า 50% เปลี่ยนมาบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง สำหรับไทย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล[ix] สำรวจกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,252 คน ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคจำนวน 74% มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีผู้บริโภคที่ตั้งใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมประมาณ 37.6%

 

ในขณะเดียวกันระบบการเงินกำลังจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปยังธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยงานศึกษาของ Bloomberg[x] ประเมินว่า ภายในปี 2025 ความต้องการสินทรัพย์ของธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมจะมีมูลค่าสูงถึง 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมในตลาดการเงินโลก ขณะที่สถาบันการเงินทั่วโลกรวมถึงไทยก็สนับสนุนธุรกิจผ่านการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

เมื่อกติกาและแบบแผนเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจทั่วโลกจึงหันมาให้ความสนใจกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, and Governance, ESG) ปัจจุบัน ESG กลายเป็น ‘เงื่อนไขจำเป็น’ ในปรับตัวให้เท่าทันกติกาและแบบแผนที่เปลี่ยนแปลงไป

 

กลยุทธ์ 4 ประการ เพื่อการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจแบบ ESG

ธุรกิจจะปรับตัวตามแนวคิด ESG ได้อย่างไร? ย้อนกลับไปในปี 2017 Enel ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศอิตาลี ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันกว่า 150 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการปล่อยทางตรงมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 414 กรัมต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง[xi]

 

แต่ Enel เริ่มตระหนักว่า การดำเนินธุรกิจของตนมีต้นทุนสิ่งแวดล้อมมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะเมื่อตนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ จึงตระหนักว่า ‘ต้นทุนสิ่งแวดล้อมของสังคมจึงเป็นต้นทุนของ Enel เช่นกัน’ 

 

ปัจจุบัน Enel ผันตัวมาเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาด น้ำ และลม อีกทั้งปรับตัวไปเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการพลังงานรายใหญ่ของอิตาลี โดยในปี 2021 Enel ลดการปล่อยทางตรงลดลงมาเหลือ 227 กรัมต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือลดลง 45% และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมลงมาอยู่ที่ประมาณ 125 ล้านตัน[xii] ในขณะที่ Earnings per Share เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.31 ในปี 2021[xiii] จาก 0.26 ในปี 2017[xiv]

 

เราสามารถถอดบทเรียนจากการปรับตัวของ Enel ออกมาเป็นกลยุทธ์ 4 ประการ[xv] ดังนี้

 

 

 

1. เข้าใจห่วงโซ่การผลิต

Enel พยายามวัดและทำความเข้าใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะจากกิจกรรมการผลิตของตนเอง แต่ยังวัดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนของผู้ผลิตต้นน้ำและลูกค้าปลายน้ำที่ใช้กระแสไฟฟ้าอีกด้วย เมื่อเห็นภาพรวม Enel จึงสามารถลดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด

 

2. พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

Enel ไม่ได้มองว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเพียงความท้าทาย แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่ โดย Enel วิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการพลังงานสำหรับครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริหารการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอิตาลีอีกด้วย

 

3. เปลี่ยนผ่านจากกระบวนการ

Enel ปรับโครงสร้างการทำงานโดยมี Chief Innovability Officer เพื่อขับเคลื่อนการผนวก ESG เข้ากับการตัดสินใจในทุกระดับ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้พนักงานตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักการ ESG

 

4. สร้างการมีส่วนรวมของสังคม

เมื่อ Enel ไม่สามารถหาพนักงานที่เข้ามาขับเคลื่อนการสร้าง ESG ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการทำงานของบริษัทที่เปลี่ยนผ่านไปแล้ว Enel จึงแบ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านออกเป็นงานย่อย แล้วทำ Crowdsourcing ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อส่งต่อปัญหาไปให้กับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกช่วยแก้ไข

 

Enel ไม่ใช่องค์กรเดียวที่สามารถปรับตัวและสร้างผลตอบแทนจากแนวคิด ESG ในปี 2015 McKinsey สำรวจผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ESG กับผลการดำเนินงานจากงานวิจัยกว่า 2,000 งาน โดยพบว่า มีงานศึกษาที่พบว่า ESG มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการดำเนินงานของธุรกิจสูงถึง 63% ของงานที่วิจัยทั้งหมด โดยชี้ว่า แนวคิด ESG ส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานในระยะยาวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่

 

  1. ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงตลาดใหม่หรือขยายตลาดเดิมได้มากขึ้น ตามแนวโน้มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจแบบ ESG ยังช่วยให้ธุรกิจมีชื่อเสียงที่ดี จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรายอื่น จึงสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น
  2. ลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนการใช้พลังงานและน้ำ 
  3. ลดต้นทุนจากการกำกับดูแลของภาครัฐ การบรรลุเป้าหมายการกำกับดูแลของรัฐทำให้ธุรกิจมีอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 
  4. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน นอกจากนี้ธุรกิจ ESG มีชื่อเสียงที่ดี ซึ่งช่วยดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานอีกด้วย 
  5. ช่วยเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนในระยะยาว การวางแผนลงทุนโดยคำนึงถึง ESG จะช่วยให้ธุรกิจสามารถโยกย้ายทุนไปยังโครงการที่สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

 

จะเห็นได้ว่าการปรับองค์กรตามแนวคิด ESG มาพร้อมกับ ‘โอกาสใหม่’ ธุรกิจจะคว้าโอกาสได้หากสามารถผสาน ESG เข้ากับแกนกลางขององค์กร ออกแบบแรงจูงใจให้สอดคล้องทุกระดับ ESG จะเป็นกุญแจสู่การสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

ร่วมกันเป็นเจ้าของ ร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

ESG อาจเป็นพลังเล็กๆ จากองค์กรที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโลกทั้งใบ แต่พลังเล็กๆ ก็สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

บนเนินเขาสูงในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า Törbel หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงจาก ‘การจัดสรรการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันภายในชุมชน’ เนื่องจากทรัพยากรป่าและน้ำบนภูเขาสูงมีอยู่จำกัด ชาวบ้านจึงตั้งกฎกติการ่วมกันในการใช้ทุ่งหญ้า การตัดไม้ และการบริหารจัดการน้ำ มากว่า 540 ปี ปัจจุบันหมู่บ้าน Törbel มีประชากรกว่า 500 คน แต่ทุกคนยังคงเคารพกติการ่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลไกรัฐ[xvi]

 

เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เคยศึกษากลไกทางสังคมของ Törbel และสรุปว่า การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนคิดว่า ‘เราเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาตินั้นร่วมกัน’ เมื่อทุกคนได้ประโยชน์และได้รับโทษจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ‘ร่วมกัน’ ดังนั้นความร่วมมือจึงเกิดขึ้นได้จาก ‘พลังเล็กๆ ของสมาชิกของสังคม’ พลังเล็กๆ ของเราทุกคนรวมกันมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

 

“Little by little, bit by bit, family by family, so much good can be done on so many levels.”

 

– Elinor Ostrom, Governing the Commons: The Evolution of Institutions for Collective Action

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising