×

Climate Change กับการปรับตัวของภาคธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Net Zero Emission)

09.11.2022
  • LOADING...
Climate Change

การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022

 

โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่นำเสนอเป็นเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) ซึ่งมีที่มาจากปัญหาสภาวะ Climate Change ที่ทั่วโลกประสบ และส่งผลกระทบไม่เพียงต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับข้อสรุปจากการประชุมจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามกันต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในที่นี้จะกล่าวให้เห็นถึงการดำเนินการของไทยในการรับมือกับปัญหา Climate Change ของภาคส่วนต่างๆ ทั้งนโยบายภาครัฐ ภาคการเงิน และที่สำคัญคือภาคธุรกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อนว่ามีความคืบหน้าในการปรับตัวอย่างไร

 

จากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 (Global CRI) จัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพิจารณาจากข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ และจำนวนเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งพบว่าประเทศในเอเชียส่วนใหญ่เป็นด่านหน้าในการได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกที่มีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ เมียนมา (อันดับ 2) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 4) และไทย (อันดับ 9) สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะ Climate Change ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งวางแผนแก้ไข เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่สามารถปรับเปลี่ยนในระยะเวลาสั้นๆ ได้

 

สอดคล้องกับการที่ไทยได้เข้าร่วมภาคีสมาชิกอนุสัญญาของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 โดยในระหว่างทาง ไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 โดยล่าสุดได้ปรับเป้าเป็นลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

 

มุมภาคการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้สถาบันการเงินจัดสรรเงินทุน รวมถึงมีผลิตภัณฑ์และบริการรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถลงทุนในเทคโนโลยีและปรับรูปแบบการทำธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน

 

โดยได้ออกแนวนโยบายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2022 และผลักดันให้สถาบันการเงินจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงร่วมกันในปี 2023 นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดผลได้ และสัมพันธ์กับต้นทุนธุรกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันในสัดส่วนที่สูงถึง 60% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร

 

จากข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของไทยของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันแล้วกว่า 95% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด ได้แก่ ภาคพลังงาน (71%)

แหล่งปล่อยก๊าซที่สำคัญเป็นการผลิตไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง รองลงมาเป็นภาคเกษตร (15%) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าว ระบบย่อยอาหารของสัตว์ และภาคอุตสาหกรรม (9%)

 

แหล่งปล่อยก๊าซส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์แร่และกลุ่มเคมี Climate Change ก่อให้เกิดข้อตกลงและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น ถือเป็นแรงกดดันทางการค้าและความท้าทายให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว โดยมีการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐาน การออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ขณะที่ในปี 2021 มีบริษัทขนาดใหญ่ประกาศเป้าหมาย Net Zero Missions เพียง 16 บริษัท อาทิ บริษัทในกลุ่ม ปตท. ประกาศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2040 และ Net Zero Emission ภายในปี 2050 ซึ่งขยับขึ้นมาเร็วกว่าเป้าหมายในภาพรวมของประเทศ สำหรับธุรกิจ SMEs มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับแรงกดดันจากนโยบายของต่างประเทศ การปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และปรับมุมมองเป็นการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น การปรับปรุงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต การออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

 

ภาคพลังงานและขนส่งมีการผลักดันแผนงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีความสอดคล้องกับ BCG Economy ที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าและความร้อน การใช้พลังงานทดแทนในยานยนต์ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)

 

สำหรับกระบวนการในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีการนำมาตรฐานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO)

 

ขณะที่ภาคเกษตรอาจต้องใช้ระยะเวลาการปรับเปลี่ยนนานกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายกลุ่ม รวมทั้งเกษตรกร โดยธุรกิจในภาคเกษตรมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และกลุ่ม SMEs มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในสัดส่วนสูง รวมทั้งในภาพรวม การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยคิดเป็นสัดส่วน 17% ของการส่งออกรวม อย่างไรก็ดี ในระยะต่อจากนี้คาดว่าจะเห็นมาตรการรับมือกับปัญหา Climate Change ของภาคเศรษฐกิจในทุกสาขาชัดเจนมากขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเร่งผลักดันจากทุกภาคส่วนที่สอดรับกัน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission อันนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising