×

จากคลีโอพัตราถึงชาวมายัน พลานุภาพของภูเขาไฟและความสนุกของประวัติศาสตร์

25.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ศึกษาร่วมกันโดยใช้หลักฐานที่ได้จากแกนน้ำแข็ง และพบความเป็นไปได้ว่าจะมีการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่เมื่อราว 44 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการล่มสลายของอียิปต์!
  • ภูเขาไฟที่ปะทุครั้งใหญ่จะพ่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นไปในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ทำให้เกิดแอโรซอลแขวนลอยอยู่ในอากาศและบดบังดวงอาทิตย์ เมื่อเป็นแบบนี้อัตราการระเหยของน้ำในมหาสมุทรก็ลดลง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยลง นำไปสู่ความอดอยากยากแค้น ตามมาด้วยโรคระบาด สุดท้ายคือความไม่สงบในสังคมและการลุกฮือขึ้นมาของผู้คนในแผ่นดินอียิปต์
  • เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับอียิปต์และพระนางคลีโอพัตราเท่านั้น แต่กับชาวมายัน (หรือชาวมายา) ในอเมริกาใต้ที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูเป็นอารยธรรมใหญ่ก่อนหน้าโคลัมบัสจะเดินทางไปถึงอเมริกาก็เช่นกัน

     เรามักคิดว่าพระนางคลีโอพัตราแห่งราชวงศ์ปโตเลมีสูญสิ้นอำนาจไปเพราะความรัก เป็นเรื่องราวโรแมนติกของโศกนาฏกรรมอียิปต์ที่ทำให้ต้องสิ้นแผ่นดินกับกรุงโรม

     หลายคนอาจมองกว้างกว่านั้นขึ้นอีกหน่อยว่านี่คือเรื่องการเมืองระหว่างรัฐโรมันกับอียิปต์ที่มีความรักเข้ามาเกี่ยวพันด้วยเพียงเล็กน้อยระหว่างพระนางคลีโอพัตราและมาร์ก แอนโทนี ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่เมืองแอคติอุม จนทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองลง

     แต่คุณรู้ไหมว่าจากการศึกษา ‘แกนน้ำแข็ง’ (Ice Core) ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่พระนางคลีโอพัตราจะสูญสิ้นอำนาจด้วยพลานุภาพของภูเขาไฟ

     หือ ไปเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร อียิปต์มีภูเขาไฟระเบิดที่ไหนกันเล่า?

     ไม่ครับ ไม่มี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภูเขาไฟจะส่งผลกระทบต่อความล่มสลายของราชวงศ์ปโตเลมีไม่ได้นะครับ

 

แกนน้ำแข็งไขประวัติศาสตร์โลก

     นักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ศึกษาร่วมกันโดยใช้หลักฐานที่ได้จากแกนน้ำแข็ง และพบความเป็นไปได้ว่าจะมีการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่เมื่อราว 44 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งส่งผลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล นำไปสู่ความอดอยากยากแค้น ตามมาด้วยโรคระบาด สุดท้ายคือความไม่สงบในสังคมและการลุกฮือขึ้นมาของผู้คนในแผ่นดินอียิปต์

     แน่นอน เรื่องนี้ย่อมทำให้ ‘อำนาจ’ ของพระนางคลีโอพัตราเสื่อมถอยลง โดยภูเขาไฟนั้นเกิดระเบิดขึ้นราว 10 ปีก่อนที่พระนางจะสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน

     ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้คือ ฟรานซิส ลุดโลว์ (Francis Ludlow) แห่งมหาวิทยาลัยทรินิตี้ ในกรุงดับลินของไอร์แลนด์ สิ่งที่เขาศึกษาก็คือแกนน้ำแข็งซึ่งเป็นเหมือน ‘ภูมิ’ บันทึกหลักฐานต่างๆ ของโลกเอาไว้

     แกนน้ำแข็งนั้นได้มาจากพื้นที่หนาวเย็น เช่น จากพืดน้ำแข็งทางขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ หรือธารน้ำแข็งบนภูเขาสูง ในพื้นที่เหล่านี้หิมะจะตกทับถมกันลงมาเรื่อยๆ ทำให้น้ำแข็งกองพูนสูงขึ้นไป แต่ในระหว่างปี ถ้าเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น มีภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ชนิดที่เถ้าถ่านโปรยปลิวไปทั่วชั้นบรรยากาศของโลก เถ้าเหล่านั้นก็จะมาทับถมเป็นชั้น (บางๆ) ชั้นหนึ่งในแกนน้ำแข็งด้วย ดังนั้นการศึกษาแกนน้ำแข็งจึงทำให้เรารู้ได้ว่าเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ อะไรขึ้นบ้างในโลก ยิ่งถ้าชั้นของเถ้าหนาก็แปลว่าภูเขาไฟระเบิดใหญ่อะไรทำนองนั้น แกนน้ำแข็งจึงคล้ายๆ ‘วงปี’ ของต้นไม้ที่ทำให้เรารู้ถึงประวัติศาสตร์โลกได้

     นักประวัติศาสตร์ยุคก่อนบอกว่า ระยะเวลา 300 ปีของราชวงศ์ปโตเลมีนั้นค่อยๆ เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เพราะมีการต่อสู้กันเองภายใน มีการแต่งงานในหมู่พี่น้องกันเอง ทำให้ผู้ปกครองประเทศมีสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจที่ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงการแย่งชิงอำนาจในหมู่พี่น้องและญาติ จึงทำให้ราชวงศ์นี้เสื่อมลง และพระนางคลีโอพัตราก็เป็นเพียงแพะรับบาปองค์สุดท้าย

     ภาพที่นักประวัติศาสตร์ยุคก่อนวาดไว้ก็คือผู้ปกครองประเทศเป็นคนโหดเหี้ยม เผด็จการ เป็นเสือผู้หญิง เป็นพวกขี้เมา ไร้สติปัญญาความสามารถที่จะปกครองประเทศ ซึ่งเมื่อโรมันชนะและได้ปกครองอียิปต์ก็ยิ่งพยายามขับเน้นภาพเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นเหมือนกับที่ใครๆ ก็คงรู้นะครับว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์

     แต่ลุดโลว์บอกว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าพิจารณาร่วมด้วยก็คือเรื่องภูเขาไฟ อันเป็นปัจจัยซับซ้อนที่หลายคนนึกไม่ถึง

 

ภูเขาไฟ สาเหตุที่ทำให้อียิปต์ล่มสลาย

     ในแถบแม่น้ำไนล์นั้น ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตผู้คน ทั้งนี้เพราะอียิปต์เป็นทะเลทราย พื้นที่สีเขียวมีอยู่แค่รอบๆ ลุ่มน้ำเท่านั้น เลยถัดออกไปมีแต่ความแห้งแล้ง คนไม่สามารถทำการเกษตรเพาะปลูกได้

     ดังนั้นถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แม่น้ำไนล์ก็จะไม่มีน้ำ เมื่อไม่มีน้ำ คนก็เพาะปลูกไม่ได้ เมื่อเพาะปลูกไม่ได้ก็เกิดหายนะทางสังคมขึ้น

     ที่จริงแล้วราชวงศ์ปโตเลมีได้สร้างยุ้งฉางเก็บเมล็ดข้าวเอาไว้มากมายเพื่อเป็น ‘กันชน’ ป้องกันความผันผวนปรวนแปรของน้ำเช่นกัน แต่การขาดน้ำที่เกิดขึ้นหลังภูเขาไฟระเบิดเป็นความขาดแคลนน้ำท่ีรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง

     ภูเขาไฟที่ว่าน่าจะระเบิดในเขตร้อนของโลก ซึ่งเมื่อนำข้อมูลที่ได้จากแกนน้ำแข็งมาตรวจสอบเทียบกับบันทึกระดับน้ำในแม่น้ำไนล์ (Islamic Nilometer) ซึ่งถือว่าเป็นการบันทึกทางอุทกวิทยาประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็จะพบแพตเทิร์นที่สอดคล้องกัน

     ภูเขาไฟที่ปะทุครั้งใหญ่จะพ่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นไปในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ทำให้เกิดแอโรซอลแขวนลอยอยู่ในอากาศและบดบังดวงอาทิตย์ เมื่อเป็นแบบนี้ อัตราการระเหยของน้ำในมหาสมุทรก็ลดลง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยลง รวมทั้งยังมีบันทึกเรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ทำให้คนต้องอพยพเข้าเมืองเพื่อหนีความอดอยากและโรคภัยด้วย

 

ยุคมืดของมายันกับภูเขาไฟปริศนา

     ที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับอียิปต์และพระนางคลีโอพัตราเท่านั้น แต่กับชาวมายัน (หรือชาวมายา) ในอเมริกาใต้ที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูเป็นอารยธรรมใหญ่ก่อนหน้าโคลัมบัสจะเดินทางไปถึงอเมริกาก็เช่นกัน

     ชาวมายันเจริญมากๆ ในช่วงปี 250 ถึง 900 พวกเขาสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ไว้มากมายแทบจะตลอดเวลา แต่กระนั้นก็มีการค้นพบในปี 1938 ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง (คือราวๆ 100 ปี) ที่ชาวมายันแทบไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเลย ทั้งยังทิ้งบางพื้นที่ให้รกร้างและเกิดการรบพุ่งกันเองด้วย

     นักโบราณคดีพยายามหาคำอธิบายเรื่องนี้นานกว่า 70 ปี แต่ก็ไม่ได้คำตอบ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มิคาเอล ซิกัล (Michael Sigl) นักเคมีแห่งสถาบัน Paul Scherrer ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ค้นพบว่ามีการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟในช่วงปี 540 ซึ่งตรงกันกับจุดเริ่มต้น ‘ยุคมืด’ ของชาวมายันพอดี

     ซิกัลไม่ได้ศึกษาแกนน้ำแข็งนะครับ แต่เขาศึกษาจากวงปีของต้นไม้เก่าแก่ เพราะต้นไม้ก็ดูดซึมซัลเฟอร์เข้าไปไว้ในตัวด้วยเหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงนั้นชั้นบรรยากาศมีซัลเฟอร์อยู่มาก และลักษณะของวงปีก็บ่งชี้ด้วยว่าอุณหภูมิของโลกสูงกว่าปกติราว 1.5-2 องศาฯ จึงเป็นไปได้ว่าเกิดภูเขาไฟปะทุครั้งใหญ่ขึ้น

     อย่างไรก็ตาม เรื่องยากเย็นเข็ญใจที่เกิดขึ้นตามมาก็คือคำถามที่ว่า แล้วเป็นภูเขาไฟที่ไหนเล่า?

     ทั้งในกรณีของอียิปต์และชาวมายันนั้นเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังตอบไม่ได้นะครับ เพราะการชี้ให้ตรงเป๊ะว่าเป็นภูเขาไฟแห่งใดในโลกที่ส่งผลแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก แม้จะมีเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุครั้งนั้นครั้งนี้เข้ามาเป็นแคนดิเดต แต่ในที่สุดก็มักมีอะไรมาแย้งอยู่เสมอ ทำให้จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถบอกได้แบบเป๊ะๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าต้องเป็นภูเขาไฟที่นั่นที่นี่แน่ๆ

     อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่าสนใจที่ผมอยากเล่าให้คุณฟังก็คือลุดโลว์บอกเสริมด้วยว่า นักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าๆ มักไม่ค่อยพึงพอใจกับการเชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์เข้ากับเรื่องทางวิทยาศาสตร์อย่างภูเขาไฟปะทุเท่าไร

     ที่เป็นอย่างนี้ ลุดโลว์บอกว่าเป็นเพราะคนเรามักไม่ค่อยอยากให้คำอธิบายถึงเรื่องที่เกิดใน ‘พื้นที่’ ของตัวเอง (เช่น พื้นที่ทางการศึกษาประวัติศาสตร์) เป็นคำอธิบายที่ ‘เลยพ้น’ ไปจากฐานความรู้เดิม

     แน่นอน นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องแกนน้ำแข็งหรือภูเขาไฟระเบิดนัก (เว้นแต่มันจะเกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ เลย เช่น ปอมเปอี) ดังนั้นการเชื่อมโยงเรื่องที่เลยพ้นไปจากมุมมองเดิมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและยอมรับ

     ลุดโลว์เน้นว่าเขาไม่ได้บอกว่าสาเหตุของการล่มสลายมีเรื่องเดียว รวมทั้งไม่ได้ให้ใครโยนตำราประวัติศาสตร์เล่มเดิมทิ้งด้วย แต่นี่คืออีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนับรวมเข้ามาพิจารณาร่วมกับเหตุปัจจัยอื่นๆ ด้วย จะได้ทำให้ประวัติศาสตร์มีสายตาที่ครบถ้วนกระบวนความมากขึ้นก็เท่านั้น

     ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่การศึกษาของเก่าที่ตายไปแล้ว เลยพ้นไปแล้ว และไม่มีอะไรใหม่ แต่ประวัติศาสตร์กลับมีชีวิตอยู่เสมอ รอคอยให้เกิดการค้นพบ และการตีความจากหลักฐานใหม่ๆ ที่ได้จากสหวิทยาการใหม่ๆ

     ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องสนุกโดยแท้!

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising