×

ศาลแพ่งสั่งตำรวจควบคุมการชุมนุม คำนึงความปลอดภัยสื่อ ยกคำร้องห้ามใช้กระสุนยาง-จำกัดพื้นที่ทำงาน

โดย THE STANDARD TEAM
10.08.2021
  • LOADING...

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ในคดีหมายเลขดำที่ พ 3683/2564 ระหว่าง ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ กับพวกรวม 2 คน (ผู้สื่อข่าวจาก Plus Seven และ The Matter) กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 4 คน (จำเลย) และศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 10 สิงหาคม เวลา 13.30 น. นั้น

 

​ศาลแพ่งได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า 

 

ที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชนอื่น และประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) กำหนดมิให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษบางประการสำหรับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการออกประกาศและข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว 

 

โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่การใช้อำนาจดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการหากการใช้อำนาจของรัฐเป็นไปโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำเป็น ตามมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว หากมีผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ชุมนุมกระทำการอันฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจในการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง 

 

ดังนั้นกรณีใดมีความจำเป็นในการใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของผู้ชุมนุมและเหตุการณ์อันอาจเกิดขึ้นในแต่ละครั้งไป ทั้งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจงใจหรือมุ่งกระทำต่อบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนเป็นการเฉพาะ และหากโจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชน และประชาชน ซึ่งมิได้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงด้วยกระสุนยาง ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญาโดยศาลไม่จำต้องสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอดังกล่าวอีก 

 

ประกอบกับตามที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น เป็นคำขอให้คุ้มครองผู้เข้าร่วมชุมนุม เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งมิได้เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม จึงไม่อาจร้องขอคุ้มครองชั่วคราวแทนผู้ร่วมชุมนุมได้ 

 

ส่วนคำขอที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนคุกคามข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นนั้น จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย จึงต้องจัดพื้นที่ให้แก่โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นเพื่อให้ได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองในชั้นนี้ก็มิได้เบิกความว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจจำกัดพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจำกัดพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่น ทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลห้ามจำเลยที่ 1 จำกัดพื้นที่การปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีดังกล่าวได้ 

 

อย่างไรก็ดี ได้ความตามทางไต่สวนว่า จำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางในการควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้สื่อมวลชนหลายรายซึ่งมิใช่ผู้ร่วมชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยาง ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุม ซึ่งโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นอาจได้รับอันตรายแก่กายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ กรณีจึงมีเหตุที่จะคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนด้วย

 

จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising