×

CHU: ล้อมวงพุ้ยข้าวต้ม ชิมรส Chinese Home Cooked แล้วจบด้วยจิบที่บาร์นีออน

05.04.2019
  • LOADING...
CHU Chinese Home Cooked

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • CHU ที่แปลว่า บ้านตึกแถว ในภาษาจีนแต้จิ๋ว บรรจุบักกุ๊ดเต๋ของลุงและป้าไว้ในเมนูใหม่ มีตัวเลือกครบทั้งผัด นึ่ง ต้ม ตุ๋น ทอด ตามวัฒนธรรมการกินของชาวจีน
  • อาหารจีนของ CHU อยู่ตรงกลางระหว่างอาหารเหลาและสตรีทฟู้ด นั่นคือเป็นกับข้าว เป็นข้าวต้มที่บ้านคนจีนทำกินกันเป็นปกติ และมีอาหารจีนจานเดียวที่หลายคนต้องคุ้นเคย
  • บาร์เทนเดอร์เผยถึงไอเดียการทำซิกเนเจอร์ค็อกเทลว่า ต้องการนำวัตถุดิบจากฝั่งร้านอาหารมาใช้ให้เกิดการเชื่อมกันระหว่างกลิ่นอายจีนและตะวันตก เช่นแก้วที่ชื่อ ‘Train to 2046’ มีส่วนผสมของชาดอกหอมหมื่นลี้และเครื่องเทศบักกุ๊ดเต๋ ขณะที่ ‘As Tiger Goes By’ ใช้สมุนไพรจีนดองเหล้าเสือ 11 ตัว เบลนด์กับแอลกอฮอล์ เพิ่มความหอมด้วยอบเชย

แรกเห็นภาพถ่ายภายในร้าน CHU (ฉู่) ทั้งแสง สี เฟอร์นิเจอร์ พาให้นึกถึงหนังฮ่องกงอันสวยเท่ของหว่องกาไว แล้วพอตามมาด้วยภาพอาหารที่ร้านนิยามว่าเป็น Chinese Home Cooked ทุกอย่างจึงเข้าทางเราที่หลงเสน่ห์ความเป็นจีนในยุคที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาผสมผสาน กระทั่งเรามาเยือนถึงร้านจึงได้รู้ว่า ทั้งบรรยากาศหว่องๆ ทั้งอาหารจีนบนโต๊ะข้าวต้ม ต่างมีจุดเริ่มต้นจากบักกุ๊ดเต๋

 

CHU Chinese Home Cooked

 

“แต่ก่อนตึกแถวห้องนี้เป็นร้านขายบักกุ๊ดเต๋ค่ะ เป็นแค่ห้องเล็กๆ ที่เรานั่งกันอยู่นี่ล่ะ” ถนอมขวัญ ชุติธนวงศ์ หนึ่งในหุ้นส่วนและเป็นผู้ดูแลด้านแบรนดิ้งและกราฟิกดีไซน์ภายในร้านเล่าถึงที่มา “คุณลุงคุณป้าคู่หนึ่งเป็นคนทำ เจ้าของเป็นคนสิงคโปร์มาลงทุน เรามากินแล้วก็ เฮ้ย อร่อยมาก รู้สึกว่าการที่จะหาอะไรที่ออริจินัลแบบนี้กินไม่ค่อยมีแล้ว ก็เลยเป็นลูกค้าประจำ แล้ววันหนึ่งเขาก็บอกว่าจะปิดแล้วนะ เพราะขาดทุน เขาบอกว่าชอบทำมาก แต่เขาไม่มีเงิน เราก็บอกไม่เป็นไร เดี๋ยวเราเปิดร้านใหม่ แล้วคอมมิตกันว่าลุงกับป้าอยู่กับเรา เรามาทำด้วยกัน”

 

CHU ที่แปลว่า บ้านตึกแถว ในภาษาจีนแต้จิ๋วจึงเกิดขึ้น ขยายพื้นที่ขึ้นไปถึงชั้นสอง แล้วบรรจุบักกุ๊ดเต๋ของลุงและป้าไว้ในเมนูใหม่ ที่มีตัวเลือกครบทั้งผัด นึ่ง ต้ม ตุ๋น ทอด ตามวัฒนธรรมการกินของชาวจีน ถนอมขวัญอธิบายว่า อาหารจีนของ CHU อยู่ตรงกลางระหว่างอาหารเหลาและสตรีทฟู้ด นั่นคือเป็นกับข้าว เป็นข้าวต้มที่บ้านคนจีนทำกินกันเป็นปกติ และมีอาหารจีนจานเดียวที่หลายคนต้องคุ้นเคย

 

CHU Chinese Home Cooked

 

“คำว่าอาหารจีนในที่นี้หมายถึงจีนแบบที่เรากินกันมาตั้งแต่เด็กๆ เป็น Chinese Home Cooked ในกลุ่มของเราที่ทำร้านนี้ด้วยกันเป็นคนไทยเชื้อสายจีนทั้งหมด เราผูกพันกับการกินข้าวต้ม จึงนึกถึงร้านจีนที่นั่งสบาย พาพ่อแม่มากินได้ มีเวลานั่งคุยแล้วกินข้าวต้มกับเพื่อน แต่เด็กรุ่นใหม่ที่มีเชื้อสายจีนที่บ้านอาจไม่ค่อยทำกับข้าวแล้ว แต่เขาจดจำรสชาติอาหารจีนที่เป็นสตรีทฟู้ดอย่างเมนูหมูสับต้มบ๊วย เขาจะจำว่าต้องมีหมูสับข้างบน พองๆ ลอยๆ แต่ถ้าบ้านเขาทำเอง เขาอาจไม่ได้กินอย่างนั้น หรือเราโตมากับการทำข้าวต้มกินที่บ้าน ข้าวต้มบ้านเราเป็นข้าวเหนียวๆ นิ่มๆ มียางๆ แต่เด็กรุ่นใหม่อาจคุ้นกับข้าวต้มที่เป็นเม็ดๆ ในน้ำร้อน

 

“มันเป็นความซับซ้อนในอารยธรรมของแต่ละบ้าน สุดท้ายเราจึงต้องมีการสื่อสารว่า นี่คือเธอมากินอาหารบ้านเรานะ เรามีหุ้นส่วนหลายคน เรากำลังหยิบเมนูของบ้านเราเอามาแชร์กัน เจอกันในรสชาติตรงกลาง ให้คนทุกคนเข้าใจว่านี่คืออาหารบ้านฉัน เธอมาลองกินข้าวบ้านฉัน”

 

The Vibe

 

 

เรานั่งคุยกันที่ชั้นล่างของร้าน ให้บรรยากาศเสมือนร้านโจ๊กมื้อเช้าในฮ่องกง ไทโปกราฟิกภาษาจีนบนผนังแสดงถึงความเป็นจีนสมัยใหม่ ด้านหน้าทางเข้าเป็นบาร์กาแฟเล็กๆ ของ Co-incidence.process.coffee ลึกเข้าไปด้านในสุดเป็นส่วนของครัวต้ม น้ำแกงที่ใช้ทำเมนูต่างๆ ทำขึ้นในครัวนี้

 

“วันนี้อยากให้กินเป็นมื้อข้าวต้มเลย” ถนอมขวัญบอก บันไดวนที่ราวจับเป็นพลาสติกทอดขึ้นไปยังชั้นสอง เราจะกินข้าวต้มด้วยกันที่ชั้นนี้

 

ชั้นบนแตกต่างจากชั้นล่างในโทนแสงและเฉดสี พื้นที่กว้างออกมาอีกหนึ่งคูหา ฝั่งหนึ่งเป็นครัว Wok Fried สำหรับเมนูที่ต้องปรุงผ่านกระทะจีนโดยเฉพาะ ประตูฝั่งตรงข้ามเปิดไปสู่ระเบียงเอาต์ดอร์ติดกระจกกลมเช่นบนตึกสูงในฮ่องกง

 

 

“ชั้นนี้มีความเป็นฮ่องกงคัลเจอร์ โครงสร้างเป็นฮ่องกงยุค 70-80 ที่เป็นฝรั่งหน่อย เราใช้อิฐสีส้มเป็นตัวนำในการไล่สีที่เป็นโอลด์โรสขึ้นมา บวกกับพื้นที่เป็นพื้นไม้เก่าจริงๆ แล้วเราลอกสีออก เราทำโครงสร้างร้านใหม่ทั้งหมดก็จริง แต่ทำบนสิ่งที่มากับความเก่า ส่วนเฟอร์นิเจอร์เป็นของใหม่ เอาเก้าอี้สแกนดิเนเวียนมาผสม คุมด้วยโทนเขียวและดำ แต่จะเห็นว่าเราหยอดสีอยู่เยอะเหมือนกัน สีเหลือง สีเขียวขี้ม้า มีสปอตไฟลงกลางโต๊ะเพื่อให้โฟกัสที่อาหาร”

 

 

มองตรงไปยังผนังอิฐส้มฝั่งในสุด โต๊ะยาวขนาบด้วยโซฟาหันหน้าเข้าหากัน ท่ามกลางบทเพลงจีนที่เปิดสลับกับเพลงฝรั่งโอลดี้ ราวกับจะเห็น เหลียงเฉาเหว่ย และจางหมั่นอวี้ นั่งลอบพลอดรักอยู่ตรงนั้นเหมือนอย่างในหนัง In the Mood for Love

 

 

The Dishes

คนจีนหรือผู้ที่ชอบอาหารจีนย่อมรู้ว่าหนึ่งมื้อข้าวต้มจะสมบูรณ์ การเลือกกับข้าวอย่างบาลานซ์รสชาติมีผลอย่างมาก เค็มต้องไม่ชนกับเค็ม หวานแล้วอย่ามีหวานซ้ำ ผัดแล้วก็ขอมีซุปให้ซด ของทอดมีได้แต่อย่าลืมชาร้อนไว้จิบตัดเลี่ยน วันนี้เราจะได้กินข้าวต้มพร้อมกับข้าวที่มาครบทุกกรรมวิธีและสมดุลในรสชาติ

 

 

ของนึ่งบนโต๊ะคือ ขนมจีบหมู (ไซส์เล็ก 45 บาท) มาในรูปร่างหน้าตาที่อาจเรียกความทรงจำวัยเยาว์ของใครบางคนกลับมา ‘นี่มันขนมจีบที่อาม่าของฉันเคยทำให้กิน’

 

“ขนมจีบมีหลายแบบใช่ไหมคะ มีแบบที่เป็นเหลาขึ้นภัตตาคาร มีขนมจีบที่เป็นสตรีทฟู้ด และก็มีขนมจีบที่อาม่าเราทำให้กิน เราบดหมูเอง ซื้อเครื่องบดมาเลย เพราะเรามีสัดส่วนอยู่ หมูต้องเท่านี้ มันต้องเท่านี้ ความหยาบเท่านี้ เอามาปั้นๆ ไม่เรียบร้อยมาก ไม่มีโปะไข่กุ้งหรืออะไร คือขยำๆ แล้วลงนึ่ง กินง่าย ซึ่งตรงคอนเซปต์ของเราคือ Home Cooked”

 

น้ำจิ้มมีจิ๊กโฉ่วที่เป็นซอสเปรี้ยว เสิร์ฟมากับซอสหวานที่ร้านทำเอง ตักราดผสมไปบนขนมจีบ ได้รสอร่อยไปอีกแบบ

 

ขนมจีบหมู

 

ฮ่อยจ๊อปู (200 บาท) เสิร์ฟมาเป็นของกินเล่น “เราเน้นที่ปู ให้ปูหนักแน่น” สั้นๆ แต่ตรงประเด็น เพราะฮ่อยจ๊อจะอร่อยย่อมอยู่ที่ไส้ ซึ่งก็ให้มาแบบไม่หวงของจริงๆ ทอดในน้ำมันร้อนจนข้างนอกกรอบ แต่ไม่อบน้ำมัน เป็นจานที่วางตรงหน้าเราแล้วพร่องไปเร็วมาก

 

CHU Chinese Home Cooked

ฮ่อยจ๊อปู

 

ที่ห้ามขาดจากโต๊ะคือ บักกุ๊ดเต๋ (พร้อมปาท่องโก๋ 280 บาท) ไฮไลต์อยู่ที่กระดูกหมูชิ้นใหญ่ตุ๋นจนเนื้อเปื่อย พร้อมเครื่องในต้มจนนุ่ม ซุปทำจากเครื่องเทศและเครื่องยาจีนถึง 13 ชนิด ตามต้นตำรับสิงคโปร์

 

“ถ้าเป็นมื้อกลางวัน เราเสิร์ฟบักกุ๊ดเต๋แบบจบในชามเดียวค่ะ แต่มื้อกลางคืน เราเสิร์ฟเป็นหม้อ มีปาท่องโก๋แยกให้ วิธีการกินคือตักน้ำแกงใส่ชาม แล้วใส่ปาท่องโก๋ลงไปให้นิ่ม จะกินแทนข้าวก็ได้”

 

บักกุ๊ดเต๋

 

กับข้าวจานผัดจัดมาสองอย่าง มี ผัดแขนงหมูกรอบ (160 บาท) ที่เรียบง่ายแต่ถูกปาก “เราทำหมูกรอบเอง เพราะหมูกรอบต้องกรอบจริงๆ และในการผัด ไฟต้องลุกฟู่ ต้องหอมกลิ่นกระทะ”

 

CHU Chinese Home Cooked

ผัดแขนงหมูกรอบ

 

ส่วน หมูสับผัดหนำเลี้ยบ (130 บาท) ใช้หนำเลี้ยบที่สั่งตรงมาจากจีน “ที่เรากินที่ร้านทั่วไปเป็นหนำเลี้ยบที่ไม่มีกลิ่น ซึ่งเป็นหนำเลี้ยบในไทย แต่เราใช้หนำเลี้ยบออริจินัลคือนำเข้าจากประเทศจีน มีกลิ่นหนำเลี้ยบ คนไม่รู้อาจรู้สึกว่ามีกลิ่นแปลกๆ แต่กลิ่นนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง” หนีบหนำเลี้ยบเข้าปากสลับกับพุ้ยข้าวต้มตาม สุดจะได้อารมณ์ข้าวต้มรอบดึก

 

CHU Chinese Home Cooked

หมูสับผัดหนำเลี้ยบ

 

ไม่มีเครื่องดื่มใดที่เหมาะกับอาหารจีนได้เท่ากับชา CHU จัด เซตชาจีนร้อน (150 บาท) ที่ลูกค้าสามารถสนุกกับการชงเองได้ไว้จิบระหว่างมื้อ ซึ่งมีให้เลือกระหว่างชาอู่หลงและชาดอกหอมหมื่นลี้

 

เซตชาจีนร้อน

 

The Drinks

CHU Bar ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกัน เพียงราวเหล็กและกระจกกั้น ไฟนีออนเปล่งแสงแต่ไม่ถึงกับสว่างจ้า คุมอารมณ์ของการดื่มยามค่ำคืนไว้ได้ดี

 

CHU Chinese Home Cooked

 

“ด้วยความสมบูรณ์ของมื้อ บางทีเราไปกินข้าวแล้วก็อยากไปต่อ ข้าวต้มเราเลิกเที่ยงคืนก็นั่งต่อที่นี่สิ จะไปที่อื่นทำไม เราออกแบบบาร์ให้เป็น Modern Chinese เช่นกัน เรารู้สึกว่าฮ่องกงมีความเป็นนีออนอยู่ แต่เราเอาไฟ LED มามินิไมซ์ให้เป็นกราฟิก เป็นคำ เหนือบาร์มีจอฉายหนัง เหมือนหนังกลางแปลงเล็กๆ ดูแล้วดื่มไปด้วย และในคืนวันเสาร์ DJ Sonny จะมาเปิดเพลงให้”

 

CHU Chinese Home Cooked

Train to 2046

 

CHU Chinese Home Cooked

As Tiger Goes By

 

บาร์เทนเดอร์เผยถึงไอเดียการทำซิกเนเจอร์ค็อกเทลว่า ต้องการนำวัตถุดิบจากฝั่งร้านอาหารมาใช้ให้เกิดการเชื่อมกันระหว่างกลิ่นอายจีนและตะวันตก เช่นแก้วที่ชื่อ Train to 2046 (340 บาท) มีส่วนผสมของชาดอกหอมหมื่นลี้และเครื่องเทศบักกุ๊ดเต๋ ขณะที่ As Tiger Goes By (360 บาท) ใช้สมุนไพรจีนดองเหล้าเสือ 11 ตัว เบลนด์กับแอลกอฮอล์ เพิ่มความหอมด้วยอบเชย ส่วนการตั้งชื่อซิกเนเจอร์ค็อกเทล ถนอมขวัญบอกว่าอยากให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังของหว่องกาไวในทางหนึ่งทางใด ชื่อหนังตรงๆ บ้าง หยิบบาง Elements จากหนังมาบ้าง แล้วโยงเข้ากับส่วนผสมบางตัว พรีเซนต์ความเป็นจีนสมัยใหม่

 

ฟ้าข้างนอกมืดลงแล้ว ตรงหน้ามีซิกเนเจอร์ค็อกเทลให้จิบ จอหนังกำลังฉายเรื่อง Comrades: Almost a Love Story หรือที่เรียกคุ้นปากว่าเถียนมีมี่ และด้วยบรรยากาศห้อมล้อม ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่จะจินตนาการไปว่าเดี๋ยวต้องมีผู้หญิงสักคนเปิดประตูเข้ามา และเธอคนนั้นคือหญิงสาววิกผมสีทองที่หลุดมาจากเรื่อง Chungking Express ของหว่องกาไว

 

CHU Chinese Bangkok

Open: ร้านอาหาร เปิด 11.00-24.00 น. CHU Bar เปิด 17.00-02.00 น.

Address: ซอยสุขุมวิท 49 กรุงเทพฯ

Contact: 06 1056 5636 หรือ 0 2120 4199

Page: www.facebook.com/chuchinesebangkok

Map: 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X