×

ทำไมจีนต้องปฏิรูปสังคม คนจีนรู้สึกอย่างไร และไทยควรเอาอย่างหรือไม่

08.09.2021
  • LOADING...
จีน

ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตะลึงงันไปกับมาตรการต่างๆ ที่ออกมาโดยรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การห้ามกิจการขนาดยักษ์ทำกิจกรรมทางธุรกิจบางอย่าง หรือการออกมารวมกลุ่มของบริษัทขนาดยักษ์ของจีนเพื่อสร้างกองทุนเพื่อการพัฒนาและลดความยากจนของประชาชน ลงไปจนถึงการออกคำสั่งควบคุมการดำเนินกิจการของโรงเรียนกวดวิชา การออกกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.2 มีการจัดสอบข้อเขียน รวมทั้งบรรจุกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นทักษะทางสังคมและกีฬาเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันก็จำกัดสิทธิในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กๆ ไปจนถึงวัยรุ่น และสำหรับแฟนด้อมของดารานักร้อง โดยเฉพาะดารา นักร้อง และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีพฤติกรรมทางสังคมไม่เหมาะสม (ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่าไม่เหมาะสม) ก็คงจะแปลกใจที่ Digital Footprint ทั้งหมดของดารา นักร้อง นักแสดง และอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น อยู่ดีๆ ก็หายไปจากระบบเหมือนกับว่าพวกเขาไม่เคยมีตัวตนอยู่ เช่นเดียวกับแฟนด้อมทั้งหลายที่จะถูกจำกัดสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการของดาราที่ตนเองชื่นชอบที่ทางการจีนเห็นว่า คุณใช้เงินกับเรื่องพวกนี้มากจนเกินไปแล้วนะ

 

ทั้งหมดรวมอยู่ในนโยบายการปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic Reform) ของจีน ที่เรียกว่า 共同富裕 (อ่านว่า Gòngtóng fùyù) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Common Prosperity หรือคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยก็คือ ความเจริญก้าวหน้าร่วมกันหรือความเจริญถ้วนหน้า

 

คำถามสำคัญ 3 คำถามเกิดขึ้นครับ

 

  1. ทำไมจีนต้องปฏิรูปสังคม?
  2. คนจีนรู้สึกอย่างไรกับการปฏิรูปสังคมในครั้งนี้?
  3. ประเทศไทยสมควรเอาอย่างและทำการปฏิรูปสังคมในรูปแบบเดียวกันกับจีนหรือไม่?

 

ทำไมจีนต้องทำการปฏิรูปสังคม?

ต่อคำถามแรก ทำไมจีนต้องปฏิรูปสังคม? โดยส่วนตัวผมคิดว่ามีเหตุผลที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเริ่มทำการปฏิรูปสังคมด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 3 ข้อ

 

  1. นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์
  2. ความท้าทายในอนาคตที่ประเทศกำลังเผชิญ
  3. นี่คือห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

 

1. นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศจีนเริ่มต้นในปี 1949 เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ผู้นำรุ่นที่ 1 ของจีน ภายใต้การนำของประธาน เหมาเจ๋อตุง เริ่มต้นโดยการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์ของพรรคหยั่งรากลึก สร้างความมั่นคงทางการเมืองให้กับประเทศ แต่สิ่งที่เหมาเจ๋อตุงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง คือการปฏิรูปเศรษฐกิจที่นโยบายก้าวไปข้างหน้า 1958-1962 (The Great Leap Forward 大跃进) พังทลายเศรษฐกิจของจีนและทำให้คนจีนจำนวนมากต้องเสียชีวิตด้วยความอดอยาก ในขณะที่การปฏิรูปสังคม ซึ่งถูกขนานนามว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม 1966-1976 (Great Proletarian Cultural Revolution 文化大革命) ก็สร้างรอยด่างในประวัติศาสตร์จีนมาจนถึงทุกวันนี้

 

แน่นอนว่าภารกิจการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในช่วงเวลาของผู้นำรุ่นที่ 2 เติ้งเสี่ยวผิง ในปี 1978 ที่เริ่มต้นทำความรู้จัก ทดลอง ปรับใช้ระบบกลไกตลาดของทุนนิยมเข้ากับสังคมนิยม จนกลายเป็นสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน ภายใต้แนวคิดปฏิรูปและเปิดกว้าง (改革开放) และนโยบาย 4 ทันสมัย (Four Modernizations 四个现代化) ซึ่งวางอยู่บนทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง (邓小平理论) จนจีนสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้งในปี 1991-1992 และนั่นทำให้เศรษฐกิจจีนขึ้นสู่จุดสูงสุดและครองตำแหน่งเศรษฐกิจระดับแถวหน้าของโลกได้ในสมัยของผู้นำรุ่นที่ 3 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ที่ดูแลประเทศในปี 1993-2003 ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของการเริ่มต้นแก้ปัญหาสิ่งตกค้างจากแนวคิดทุนนิยม เช่น ปัญหาคนจนเมือง ปัญหาความยากจนในชนบท และปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมในยุคของผู้นำรุ่นที่ 4 ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา โดยการนำเอาแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

 

และการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนก็เดินทางมาถึงจุดเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในยุคของผู้นำรุ่นที่ 5 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งได้ประกาศในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศจีนได้ปราศจากประชาชนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนแล้ว (Absolute Poverty)

 

ดังนั้นภารกิจต่อไปของผู้นำจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงต้องเดินหน้าทำภารกิจที่ตกค้างในประวัติศาสตร์ นั่นคือการปฏิรูปสังคมต่อจากการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งได้ทำสำเร็จลุล่วงไปแล้ว (อยากรู้ความโดยละเอียดของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน สามารถอ่านได้จากบทความ ‘พรรคคอมมิวนิสต์จีนกับการประกาศความสำเร็จของ 100 ปีแรก และเป้าหมายสำหรับ 100 ปีถัดไป’ https://thestandard.co/100-years-china-communist-party-achievement/ ‘ถอดบทเรียน 70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน: จากศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ China Corp’  https://thestandard.co/70th-anniversary-of-the-peoples…/ และ ‘ถ้าไม่มีโจว เอินไหล… ก็ไม่มีมหาอำนาจจีนในวันนี้’ https://www.the101.world/in-remembrance-of-zhou-enlai/ )

 

2. ความท้าทายในอนาคตที่ประเทศต้องเผชิญ

แม้จะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่จีนก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายและภาวะคุกคามในโลกยุคไร้ระเบียบ (Global Disorder) โดยสิ่งที่จีนต้องเผชิญในระยะสั้นคือ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามวัคซีน ฯลฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะกันทางดุลอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกา ที่นักวิชาการจำนวนมากพิจารณาว่ากำลังอยู่ในสถานะถดถอยในเชิงดุลอำนาจ กับประเทศจีน ที่กำลังผงาดขึ้นมาขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งในความคิดส่วนตัวของผู้เขียน ผู้เขียนมองว่าจีนไม่ได้กังวลในประเด็นนี้มากนัก

 

หากแต่สิ่งที่จีนกำลังพะวักพะวนอยู่ในขณะนี้คือ ความท้าทายในระยะกลางและระยะยาว โดยในระยะกลาง ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือเพดานของการใช้นโยบายการลงทุนนำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Investment-Driven Growth) ซึ่งจีนใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่ ณ ปัจจุบัน โมเมนตัมของการเร่งสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนของจีนกำลังจะถึงจุดอิ่มตัวและเริ่มสร้างภาระ อาทิ ล่าสุดสถานะหนี้ทั้งของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนจีนรวมกันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 4 เท่าตัวของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถามว่านี่คือความน่าวิตกกังวลหรือไม่ คำตอบคือยัง เพราะประเทศอื่นๆ สัดส่วนหนี้รวมของทั้งประเทศต่อ GDP สูงกว่านี้ก็มีอีกมาก แต่สิ่งนี้เริ่มส่งสัญญาณว่าทางการจีนต้องเข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2021บริษัทเอกชนจีนมีการหยุดพักชำระหนี้เงินกู้สูงถึง 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีน

 

ดังนั้นการเข้ามาควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทจีน ที่เริ่มเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่คนจีนไม่ยากจน แต่เป็นชนชั้นกลางที่พร้อมจะเข้าไปเป็นแมลงเม่าในตลาดหุ้น และต้องมาแบกรับภาระหากบริษัทมีปัญหาในการดำเนินกิจการ หรือการที่บริษัทขนาดใหญ่ของจีนผูกขาดตลาดโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ที่ทำให้ SMEs จีน ซึ่งเกิดขึ้นคู่กับชนชั้นกลางของจีนที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ปรารถนา เช่นเดียวกับการที่บริษัทบางบริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมากจนเกินไป อาทิ ข้อมูลการเดินทาง การบริโภค พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทางการจีนต้องการเข้ามาเริ่มต้นการจัดระเบียบ

 

ในขณะที่ความท้าทายและภาวะคุกคามในระยะยาว ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในด้านสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic Threat) อาทิ การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society) ที่อาจจะมาเร็วและรุนแรงที่สุดในโลก จนทำให้ระบบสวัสดิการสังคมอาจจะมีปัญหา ปัญหาความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง การพัฒนาเมืองและชนบท ปัญหาการเข้าถึงโอกาส การเข้าถึงสวัสดิการสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนทำให้จีนยิ่งต้องเร่งเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปสังคม

 

ลองนึกภาพดูว่าถ้าเด็กวัยรุ่นจีนยุคปัจจุบันเติบโตมาภายใต้นโยบายคุมกำเนิดประชากร (One Child Policy 一孩政策) เขาโตมาภายใต้การดูแลประคบประหงมจากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา แต่ในอนาคต เมื่อเขาทำงาน เขาต้องมาแบกรับภาระในการดูแลย้อนกลับ นั่นคือต้องดูแลทั้งพ่อ แม่ พ่อตา แม่ยาย ปู่ ย่า ตา และยาย ของทั้ง 2 ครอบครัว และยังต้องดูแลลูกๆ ของตนเอง หากเขาติดเกมตั้งแต่เด็กๆ ติดดาราเป็นแฟนด้อม ใช้เงินจำนวนมากเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ดาราและภาคธุรกิจ ในขณะที่ตนเองในฐานะสาวกเสียเงินจำนวนมาก พร้อมๆ กับที่ต้องเสียเวลาไปนั่งเฝ้าดารา และยังต้องเสียเวลาไปเรียนกวดวิชาเพื่อให้ได้ทักษะที่อาจจะไม่ได้ใช้ในชีวิตในศตวรรษที่ 21 เหล่านี้คือเหตุผลที่รัฐจีนต้องเข้ามาบริหารจัดการการปฏิรูปสังคม

 

3. นี่คือห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

ประเทศจีนจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China (CPC) National Party Congress) โดยในแต่ละรอบจะใช้เวลา 5 ปี ซึ่งทุกๆ 5 ปี โดยปกติจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จำนวน 370 คน ซึ่งจะเป็นคนคัดสรรสมาชิกกรมการเมือง (Politburo) จำนวน 25 คน และสมาชิกแกนกลางกรมการเมือง (Politburo Standing Committee: PSC) จำนวน 7 คน ซึ่งทั้ง 7 คนนี้คือผู้นำสูงสุดของจีน โดยมีตำแหน่งเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีเป็นหมายเลข 1 ของ PSC ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ 2 รอบของการประชุม Party Congress นั่นคือประมาณ​ 10 ปี ซึ่งผู้นำรุ่นที่ 5 นั่นคือสีจิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในปี 2012 ในการประชุม Party Congress สมัยที่ 18 และอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยปัจจุบันที่เป็นสมัยที่ 19 และโดยธรรมเนียมปกติ อายุเฉลี่ยของผู้บริหารระดับสูงของจีน พวกเขาจะทำงานจนมีอายุ 68 ปี ซึ่งในปี 2022 ที่จะมีการเปิดประชุม CPC Party Congress สมัยที่ 20 สีจิ้นผิงจะดำรงตำแหน่งมาครบ 2 วาระ และเขาจะมีอายุ 69 ปี ดังนั้นโดยธรรมเนียมปฏิบัติ เราน่าจะต้องได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ผู้นำรุ่นที่ 6 ของจีนในปีหน้า

 

และโดยธรรมเนียมปฏิบัติเช่นกัน พรรคคอมมิวนิสต์จะเชื่อในเรื่องของการบริหารจัดการกิจการภายในของพรรคให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะนำเอามติที่ปรองดองสมานฉันท์ของพรรคออกมาบังคับใช้ในการบริหารจัดการประเทศ โดยการประชุมลับที่เกิดขึ้นทุกปี เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงออกทางความคิดเห็น รับฟัง และประสานผลประโยชน์ เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด มักจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี ที่ผู้นำระดับสูงของจีน ทั้งรุ่นปัจจุบัน รุ่นอดีต และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับเชิญ มักจะเดินทางไปประชุมลับร่วมกันในช่วงหยุดพักฤดูร้อนที่เมืองพักผ่อนชายทะเล Beidaihe (北戴河区) เมืองฉินหวงเต่า มณฑลเหอเป่ย

 

แน่นอนว่าทุกๆ 5 ปี ก่อนการเปลี่ยนสู่สมัยประชุมใหม่ของ Party Congress ในการประชุม Beidaihe ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าก็จะกลายเป็นเวทีของการเจรจาต่อรองระหว่างอดีตผู้นำอาวุโส ผู้นำปัจจุบัน ดาวรุ่งรุ่นใหม่ของพรรค รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ภายในพรรค แรงกระเพื่อมภายในพรรคทั้งหมดจะมีการบริหารจัดการโดย Power Broker จนในที่สุดทุกอย่างจะนิ่ง และหลายๆ ครั้งก็มีการใช้เวทีนี้ในการเช็กบิลคู่ขัดแย้งต่างๆ

 

แต่ในปีนี้ เป็นวาระพิเศษที่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ผมเล่ามาข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้น เหมือนๆ กับทุกๆ รอบ 5 ปี และรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ปี 2013 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ รวมทั้งรัฐธรรมนูญของประเทศจีนก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วว่าประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ยาวนานเกินกว่า 2 วาระ (10 ปี) นั่นทำให้ตลอดทั้ง 10 ปีที่ผ่านมา การกระชับอำนาจภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้มีการลงหลักปักฐานไปแล้วอย่างมั่นคง 

 

ดังนั้นถ้าประเทศจีนจะต้องมีการก้าวกระโดดอีกครั้งจากการปฏิรูปสังคม การก้าวกระโดดครั้งนี้ก็ต้องการรากฐานที่มั่นคง ภาคการเมืองที่นิ่ง ภาวะผู้นำที่มีเสถียรภาพสูง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ ณ ชั่วโมงนี้ ที่การประชุม Beidaihe กลายเป็นการหยุดพักผ่อนอย่างแท้จริง รวบรวมสมาธิ รวบรวมความคิดเห็น และข้อมูลในการวางแผน การเดินหน้าปฏิรูปสังคม จึงกลายเป็นเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดที่จะเดินหน้า

 

คนจีนรู้สึกอย่างไรกับการปฏิรูปสังคมในครั้งนี้?

คำถามที่ 2 กลายเป็นคำถามที่ตอบยากมากที่สุด แต่สิ่งที่เราเห็น ณ ปัจจุบัน คือคนจีนแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะในแต่ละรุ่น แต่ละ Generation มีเสียง มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมาก โดยหากพิจารณาจากความคิดเห็นของคนจีนผ่าน Weibo (ซึ่งเทียบเท่ากับ Twitter ในโลกตะวันตก) เราจะเห็นได้ว่าคนรุ่น Generation X และ Generation Y ตอนต้น ร่วมกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการปฏิรูปสังคมของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่น (Generation Y ตอนปลาย และ Millennials) จะแสดงออกในรูปแบบของการประชดประชันในการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียของจีน (ซึ่งแน่นอนว่า การพูดตรงๆ ในสื่อ เป็นเรื่องลำบากใจสำหรับคนจีนอยู่แล้ว)

 

แต่หากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม โดยนำเอาเรื่องของสิทธิเสรีภาพตามกรอบความคิดแบบเสรีนิยมของโลกตะวันตก (Western Liberal Democracy) ออกไปเสียก่อน แล้วลองตั้งคำถามแบบนี้ นั่นคือเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทุกคนอยากได้หรือไม่ ในการที่รัฐจะเข้ามาควบคุมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทุน (แทบจะเรียกได้ว่าไม่จำกัด) ต้องดำเนินกิจการโดยไม่สร้างภาวะผูกขาดและกีดกัน SMEs/Start-Up ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน ทุกคนอยากได้หรือไม่ ในการที่รัฐจะเข้ามาคุ้มครองให้นักลงทุนรายย่อยไม่ต้องเข้าเสี่ยงแบกรับภาระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่โดยที่ตนเองไม่ได้มีความรู้ทางการเงินเพียงพอ ทุกคนในสังคมอยากเห็นหรือไม่ ที่บริษัทขนาดใหญ่เอาเงินและทรัพยากรมารวมกันเพื่อพัฒนาชนบทและลดความยากจนให้กับกลุ่มเปราะบางของสังคม

 

เชื่อว่าทุกๆ คนอยากเห็นเด็กเล็กๆ ไม่ต้องเครียดเรื่องการสอบ ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาไปเรียนกวดวิชาถึงดึกๆ ดื่นๆ ทุกคนอยากเห็นการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เน้นทักษะมากยิ่งขึ้นในรูปแบบเดียวกับที่จัดการเรียนการสอนกันอยู่ในเยอรมนีและประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย และทุกๆ คนก็คงอยากเห็นเด็กวัยรุ่นที่ไม่ติดเกม ถ้าคุณไม่ได้เป็นพ่อแม่ที่มีลูกติดเกม คุณไม่มีวันรู้หรอกว่ามันชอกช้ำใจแค่ไหน เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ก็คงไม่พอใจอยู่แล้วที่ลูกๆ ของพวกเขาไปนั่งเฝ้าดารานักร้องทั้งวันทั้งคืน และเสียเงินทองมหาศาลไปกับการซื้อสินค้าของบริษัทการบันเทิงเหล่านั้น ทั้งที่ตนเองก็ยังหาเงินไม่ได้ และเชื่อว่าสามี ภรรยา ลูกๆ ก็คงอยากให้คนในครอบครัวของตนเองไม่ใช้เวลาและเงินทองไปกับการเล่นเกมออนไลน์ หรือการใช้จ่ายเพื่อให้เป็นแฟนด้อมตัวยงของดาราคนใดคนหนึ่ง

 

รวมทั้งเชื่อว่าทุกประเทศก็คงอยากทำได้อย่างจีน ในการจัดระเบียบสังคมเพื่อให้คนช่วยกันขยันทำมาหากินและยอมที่จะเลี้ยงดูครอบครัวของตนเพื่อช่วยลดภาระของระบบสวัสดิการสังคมที่เป็นรายจ่ายมหาศาลของภาครัฐ รวมทั้งการใช้การปฏิรูปทางสังคม-เศรษฐกิจที่นำโดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง การพัฒนาเมืองและชนบท ปัญหาการเข้าถึงโอกาส การเข้าถึงสวัสดิการสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ซึ่งเหล่านี้คือเรื่องที่จีนกำลังดำเนินการอยู่เพื่อปฏิรูปสังคมภายใต้นโยบาย Common Prosperity

 

วิชาเศรษฐศาสตร์สอนเราเสมอๆ ว่า ในบางครั้ง ในบางเรื่อง กลไกตลาดก็ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น การเข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวของกลไกตลาด (Market Failure) ก็มีความจำเป็นเพื่อให้ระดับสวัสดิการหรือความพึงพอใจของประชาชนสูงขึ้น และนี่คือวิธีการบริหารจัดการในรูปแบบที่ถูกขนานนามว่า สังคมนิยมอัตลักษณ์จีน (Socialism with Chinese Characteristics 中国特色社会主义) ที่ทางการจีนจะยอมให้กลไกตลาดดำเนินการไปได้อย่างมีเสรีภาพเต็มที่ หรือบางครั้งอาจจะถึงขั้นเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนบางกิจการให้เติบโตร่ำรวยก่อนเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อไรก็ตามที่ทางการจีนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันหลุดจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทางการจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็พร้อมที่จะเข้ามาแทรกแซงได้เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งการแทรกแซงนั้นก็อาจจะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบริษัทและบุคคล และนั่นก็นำไปสู่คำถามสำคัญที่ 3 นั่นคือ

 

ประเทศไทยสมควรเอาอย่างและทำการปฏิรูปสังคมในรูปแบบเดียวกันกับจีนหรือไม่?

ผมเชื่อว่าหลายๆ เรื่องที่ผมอธิบายมาก็คงทำให้คุณผู้อ่านจำนวนหนึ่งสนับสนุนอยากจะให้ประเทศไทยปฏิรูปสังคมในรูปแบบนี้บ้าง ในขณะที่ผู้อ่านหลายท่านก็คงยอมรับไม่ได้ เพราะมันหมายถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ

 

ดังนั้นผมจึงอยากจะสรุปสุดท้ายว่า เราจะเดินหน้าปฏิรูปสังคมหรือไม่ และหากจะทำ ต้องดำเนินการไปในทิศทางใด รูปแบบของสังคมแบบไหนที่ประเทศไทยตั้งเป็นเป้าหมาย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการได้แสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายของสังคมไทยด้วยคนไทยขึ้นมาเอง และคงตั้งยึดหลักการสำคัญไว้ 3 ข้อ ดังนี้

 

  1. เราต้องสนใจ ติดตาม และเรียนรู้แนวคิด เหตุผลเบื้องหลัง และวิธีการปฏิรูปสังคมของจีนอย่างใกล้ชิด (และข้อดีอย่างยิ่งของจีนก็คือ จีนไม่เคยมาบังคับให้ชาติอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ต้องทำตามวิธีการของจีน)

 

  1. พิจารณาสิ่งที่จีนดำเนินการด้วยใจเป็นธรรม และต้องพยายามคิดให้ออกจากกรอบแนวคิดที่ครอบงำโดย Western Liberal Democracy

 

  1. บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของไทยและของจีนมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง ดังนั้นไทยต้องพัฒนา ปรับปรุง และสร้างแนวทางการเดินหน้าปฏิรูปของไทยขึ้นมาเอง โดยต้องรับฟังความคิดเห็นและต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม

 

ภาพ: Noel Celis / AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising