×

Burnout Syndrome ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นภาวะหมดไฟในงาน ที่ทำให้คุณหมดใจ คล้ายๆ จะหมดแรง

21.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เครียด หดหู่ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน หงุดหงิด ก้าวร้าว ร่างกายอ่อนแรง ไม่มีสมาธิ ฯลฯ​ เป็นอาการที่เข้าข่ายโรคซึมเศร้า แต่แท้จริงแล้ว อาการเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงภาวะซึมเศร้าได้อย่างชัดเจนเสียทีเดียว แต่อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่ากำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงาน
  • ภาวะ Burnout เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานเป็นหลัก คนที่มีอาการ Burnout ไม่ได้หมายความว่าจะต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพียงแต่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

     ช่วงนี้หลายต่อหลายคนให้ความสนใจหันมาตรวจสอบภาวะซึมเศร้าของตัวเอง และอาจจะค้นพบว่าอาการความทุกข์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น เครียด หดหู่ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน หงุดหงิด ก้าวร้าว ร่างกายอ่อนแรง ไม่มีสมาธิ ฯลฯ ซึ่งเข้าข่ายอาการของโรคซึมเศร้า จนทำให้เกิดความกังวลว่าตนเองป่วยเป็นโรคดังกล่าวหรือเปล่า?

     แต่แท้จริงแล้ว อาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงภาวะซึมเศร้าได้อย่างชัดเจนเสียทีเดียว แต่อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานเท่านั้น

     ปัจจุบัน ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) หรือในบางบทความใช้คำว่า ‘ภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน’ ยังไม่ได้ถูกให้คำจำกัดความหรือระบุเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอย่างชัดเจน และเนื่องด้วยบุคคลที่อยู่ในภาวะ Burnout มักมีอาการคล้ายคนเป็นโรคซึมเศร้า และมักมีความวิตกกังวลสูง จึงอาจทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด ภาวะ Burnout เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานเป็นหลัก บุคคลที่มีอาการ Burnout ไม่ได้หมายความว่าจะต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพียงแต่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

     คนที่มีภาวะซึมเศร้าและภาวะ Burnout มักจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ รู้สึกหดหู่ เหนื่อย หมดแรง และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง แต่คนที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอาการรุนแรงมากกว่า มีความผิดปกติทางด้านความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่จะเป็นไปในทิศทางลบ รู้สึกไม่ชอบตนเองและมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย ฉะนั้นคุณจึงไม่ควรตั้งข้อสรุปด้วยตัวเอง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง

ถ้าหากคุณพบว่าตนเองเข้าข่ายว่าอยู่ในภาวะ Burnout นั่นหมายความว่า คุณต้องเพิ่มการพักผ่อนและเริ่มปรับสมดุลการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานในทันที

ภาวะ Burnout ในบุคคลทำงาน มักเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
  • ตกอยู่ในสภาวะการทำงานที่เคร่งเครียดและกดดันเป็นเวลานานจนเกินไป
  • ต้องรับผิดชอบทำงานในส่วนที่ตนเองไม่ได้มีความรักและปรารถนาที่จะทำ (Passion) ขาดความถนัด หรืองานมีลักษณะน่าเบื่อ ขาดความท้าทาย
  • ไม่ได้รับความใส่ใจ การยอมรับ หรือได้รับค่าตอบแทนน้อย ไม่เหมาะสมกับงานที่ทำ
  • งานมีปริมาณมากแต่อัตราคนน้อย หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานขาดแคลน
  • องค์กรขาดความมั่นคง ความชัดเจนในนโยบายการบริหาร หรือมีค่านิยมองค์กรที่ขัดแย้งกับค่านิยมในใจของบุคคล
  • ระบบการทำงานขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถตัดสินใจหรือไม่มีอำนาจในการสั่งการ แต่มีความรับผิดชอบมาก
  • ความไม่ยุติธรรมในองค์กร ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย

 

  1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของบุคคล
  • ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • นอกเหนือจากการทำงานแล้ว ยังมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวหรือสิ่งอื่นๆ โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ เช่น ต้องดูแลพ่อแม่สูงอายุและลูกเพียงลำพัง
  • อยู่ในสัมพันธภาพกับคู่สมรสหรือครอบครัวที่มีปัญหาความขัดแย้ง ไม่รู้สึกปลอดภัย

 

  1. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพส่วนบุคคล
  • เป็นคนที่ยึดติดความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) มีมาตรฐานในการทำงานสูงจนเกินไป
  • ไม่ยืดหยุ่น ต้องการที่จะควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปในทิศทางของตน
  • มีความคาดหวังที่มากเกินกว่าความเป็นจริง

 

     ทั้งนี้ คุณสามารถสังเกตและประเมินภาวะ Burnout ในเบื้องต้นได้หากเกิดความผิดปกติใน 3 ลักษณะ

 

     ทางกาย:  เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อย หมดแรง ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันโรคทางร่างกายลดลง ความสามารถในการจำและสมาธิในการทำงานลดลง

     ทางอารมณ์: เช่น รู้สึกล้มเหลว เบื่อ สิ้นหวัง ขาดแรงจูงใจ และไม่มีความสุขในการทำงาน มีทัศนคติที่ไม่ดีต่องานที่ทำอยู่ มองสิ่งที่ทำอยู่ในแง่ร้ายตลอดเวลา โกรธและหงุดหงิดง่าย พูดดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น มีความขัดแย้งกับคนในที่ทำงานมากขึ้น ไม่สนใจในสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

     ทางพฤติกรรม: เช่น เริ่มพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวน้อยลง แยกตัวไม่สุงสิงกับผู้อื่น หมกมุ่นอยู่กับการทำงานแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ที่ทำงาน มาทำงานสาย กลับบ้านก่อนเวลา ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่กระตือรือร้น ทำงานเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ ขาดความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือในบางคนส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้สิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ เหล้า กัญชา ฯลฯ  

     และถ้าหากคุณพบว่าตนเองเข้าข่ายว่าอยู่ในภาวะ Burnout นั่นหมายความว่า คุณต้องเพิ่มการพักผ่อนและเริ่มปรับสมดุลการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานในทันที

 

อาการ Burnout ที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเองดังนี้

  1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งเสพติด หรือดื่มกาแฟมากจนเกินไป และถ้าหากเป็นไปได้ คุณควรลาพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ
  2. จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน เช่น โฟกัสกับงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาที่คุณจะใช้ตอบอีเมลในแต่ละวัน (ในกรณีที่คุณไม่ได้ทำงานบริการหรืองานที่ต้องการความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร) สร้างกฎเหล็กให้ตนเอง ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้านหรือนอกเวลางาน
  3. ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่คุณชอบ และสร้างความผ่อนคลายนอกเวลาทำงาน เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ท่องเที่ยว ฯลฯ คุณควรเติมพลังในชีวิตด้วยการทำสิ่งที่คุณชอบ ทำแล้วมีความสุข ปราศจากความกังวล นอกจากนี้การทำสมาธิและฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลาย ก็เป็นสิ่งที่คุณควรทำเป็นประจำ
  4. ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการที่คุณออนไลน์ตลอด เป็นเสมือนการเปิดช่องทางให้ทุกการสื่อสารรวมทั้งเรื่องงานเข้ามาหาคุณ และโดยที่คุณไม่รู้ตัวคุณก็อาจจะติดกับดัก นั่งตอบอีเมลในวันหยุด หรือเสียเวลาพักผ่อนทั้งวันกับการเล่นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
  5. ปรับทัศนคติในการทำงานของคุณ จัดการความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะ Burnout อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ ความเครียดในการทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ความเครียดในระดับที่เหมาะสมบ่งบอกถึงความใส่ใจในการทำงานของคุณ อันจะนำมาซึ่งความรักในตัวเองและการเติบโตในชีวิต
  6. พัฒนาทักษะการปรับตัว การสื่อสาร การแก้ปัญหา และเพิ่มความยืดหยุ่นในทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและสร้างขอบเขตในการทำงาน หากคุณไม่เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ยึดถือความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ไม่เชื่อใจให้ผู้อื่นร่วมทำงานด้วย คุณจะกลายเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ เคร่งเครียดแบกภาระงานที่มากเกินไป
  7. ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้เวลามากขึ้นกับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวของคุณ

     ถ้าหากอาการของคุณมีความรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้ คุณควรปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

 

อ่านเรื่องไม่หวั่นแม้วันหมดแรงหมดใจ เพราะนี่คือเทคนิคต่อสู้กับภาวะ Burnout Syndrome ที่ได้ผลที่สุดได้ที่นี่

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising