×

‘BTS’ ขายหุ้นกู้ 1.3 หมื่นล้าน นำเงินให้ ‘BTSC’ ยืมใช้ทำธุรกิจ หลังขาดสภาพคล่อง เพราะ กทม. ยื้อจ่ายค่าจ้าง 4 หมื่นล้าน จ่อยื่นฟ้องเพิ่มสิ้นปี

24.11.2022
  • LOADING...
BTSC

บีทีเอสซี (BTSC) ออกมาเรียกร้องให้ กทม. จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ BTS ที่ติดค้างตั้งแต่ปี 2562-2565 ปัจจุบันมียอดหนี้รวมดอกเบี้ยสูงถึงประมาณ 4 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดแผนหาเงินมาแก้ปัญหาด้วยการขอกู้เงินบริษัทแม่ โดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินมาให้ยืมใช้เดินหน้าธุรกิจก่อน

 

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า บริษัทเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครกับรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหากรณีติดค้างหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ BTS ตั้งแต่ปี 2562-2565 ปัจจุบันมียอดหนี้รวมดอกเบี้ยสูงถึงประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก BTS ในฐานะบริษัทเอกชนที่รับผิดชอบบริหารเดินรถ ก็มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถสายสีเขียวรวมอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้นของบีทีเอสซี ขณะนี้คือการขอกู้ยืมเงินจากบริษัทแม่คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่จะออกหุ้นกู้วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในช่วงระหว่างที่รอ กทม. จ่ายเงินที่ค้างติดค้างหนี้กับบริษัท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวคาดว่าจะสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อีกซึ่งคาดว่าจะไม่เกิน 2-3 ปีเท่านั้น

 

โดย BTS เตรียมออกขายหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน แบ่งออกเป็น 4 รุ่น วงเงินเสนอขายรวม 1.3 หมื่นล้านบาท โดยได้เครดิตเรตติ้งที่ระดับ A จากทริสเรทติ้ง จะเสนอขายระหว่างวันที่ 25 และ 28-29 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจะเปิดจองขายผ่านธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)

 

สำหรับการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ สัดส่วนหลักๆ จะจัดสรรให้กับบริษัทลูกคือ บีทีเอสซี ซึ่งดำเนินธุรกิจไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้ทั้งการปรับปรุงระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ดีขึ้น รวมถึงจะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2566 และนำไปลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมความยั่งยืน และดูแลสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

 

“ความตั้งใจของ BTS คือไม่อยากทำให้ประชาชนเดือดร้อนแน่นอน หากกรณีร้ายแรงสุดบริษัทต้องหยุดเดินรถไฟฟ้า เพราะ BTS ในฐานะบริษัทเอกชนในการทำธุรกิจก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน เมื่อไม่มีรายได้เข้ามาก็ต้องไปหาเงินกู้จากผู้ถือหุ้นให้เข้ามาช่วย เมื่อถึงจุดหนึ่งคงช่วยต่อไม่ไหว เราคงต้องหยุดเดินรถไฟฟ้าเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปไม่ไหว ซึ่งความต้องการของ BTS คืออยากให้แก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ต้องหยุดเดินรถไฟฟ้าขึ้นมา”

 

ปัจจุบัน BTS อยู่ระหว่างรอพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดที่ กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ให้ กทม. ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างชำระจำนวน 1.17 หมื่นล้านบาท โดยคำตัดสินที่จะออกมาดังกล่าวนี้จะเป็นคำสั่งถึงที่สุด ซึ่ง กทม. ต้องปฏิบัติตาม

 

ด้าน สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในปีนี้บริษัทเตรียมจะยื่นฟ้อง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพิ่มอีก 1 คดี เพื่อเรียกร้องให้จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเป็นของส่วนใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพิ่มเติมของปีล่าสุด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ทีมกฎหมายรวบรวมข้อมูลและรอทำสรุปตัวเลขหนี้จำนวนดังกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising