×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

แบงก์ชาติเผย เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. เริ่มขยายตัวช้าลง แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

30.11.2022
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวแม้การส่งออกสินค้าจะลดลงจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว พร้อมกับปัจจัยชั่วคราวที่ต้องปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมัน ส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามา อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังปรับตัวดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลที่แล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า และหมวดเคมีภัณฑ์ที่ลดลงต่อเนื่องตามการส่งออกไปจีน สุดท้ายในหมวดปิโตรเลียมที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ในหมวดสินค้าเกษตร รวมถึงยานยนต์และชิ้นส่วนปรับดีขึ้นในบางสินค้า เช่น การส่งออกข้าวและรถยนต์นั่งไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดปิโตรเลียมที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า แต่การผลิตในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนมีการปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการลงทุนในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น

 

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำมีการปรับลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่ลดลงมากตามน้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น นอกจากนี้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติปรับลดลงจากราคาเป็นสำคัญ หลังจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับดีขึ้น

 

สักกะภพกล่าวอีกว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีการปรับลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด ในหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกับการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น

 

ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนปรับตัวหดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวจากผลของฐานที่มีการเบิกจ่ายสูงในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ นอกจากนี้รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ

 

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนตามราคาหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาดและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุลน้อยลงจากการลดลงของรายจ่ายค่าระวางสินค้า ประกอบกับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย

 

“ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว การขยายตัวอาจจะลดต่ำลง แต่ช่วงก่อนหน้าก็ได้รับแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง มีทั้งสองส่วนคืออุปสงค์ของโลกและปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเครื่องชี้ของภาคลงทุนและภาคเอกชนปรับลดลง แต่เราก็ยังเห็นภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้เองที่เป็นปัจจัยทำให้กำลังซื้อกับการจ้างาน Sentiment ของผู้บริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมาจากเรื่องพลังงานและอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย” สักกะภพกล่าว

 

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า ในเดือนพฤศจิกายนคาดว่าภาพรวมจะมีแนวโน้มฟื้นตัวตามอัตราการท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ ในระยะต่อไปต้องติดตามผลกระทบของอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนเพิ่มมากขึ้น กับการปรับตัวของต้นทุน ค่าครองชีพ ราคาสินค้าต่างๆ และความต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงผลดีของการท่องเที่ยวว่าจะส่งผลต่อภาพรวมของการบริโภคได้ดีอย่างที่คาดไว้หรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising