×

ล้วงความลับผู้วางกลยุทธ์ BNK48 ตั้งเป้าร้อยล้าน ดังแบบไม่ใช้คุกกี้เสี่ยงทาย

24.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins read
  • BNK48 เกิดขึ้นจากการประมูลช่องทีวีดิจิทัลของโรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทสื่อผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นเมื่อปี 2556
  • วัฒนธรรมต่างๆ ของวงที่ยึดเป็นโมเดลจากวงแม่ AKB ประเทศญี่ปุ่น เช่นการแทรกบัตรจับมือและกฎการห้ามถ่ายรูปคือเครื่องมือกระตุ้นให้สินค้าที่ระลึกและแผ่นซีดีเพลงยังขายดิบขายดีสวนทางกระแสขาลงของสื่อความบันเทิงในปัจจุบัน
  • ซีดีเพลง 2 ซิงเกิลจำหน่ายได้รวมกัน 43,500 แผ่น มูลค่า 15,225,000 บาท (แผ่นละ 350 บาท) ส่วนบัตร Founder Member BNK48 ที่ลือว่าขายไปแล้วกว่า 400 ใบ มูลค่า 8,000,000 บาท ปีนี้ตั้งเป้าร้อยล้านบาท
  • จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด มองแฟนคลับวง BNK หรือเหล่า ‘โอตะ’ เป็นมากกว่าแฟนคลับทั่วๆ ไป แต่เปรียบได้ดั่ง User Generated Content ที่ช่วยโปรโมตให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจวงการบันเทิง-วงการดนตรีบ้านเราดูจะเหงียบเหงาพอสมควร โดยเฉพาะในวันที่คนฮิตฟังเพลงจากสตรีมมิงมิวสิกมากกว่าแผ่นซีดีหรือตลับเทปคาสเซตต์แบบเดิมๆ

 

ค่ายเพลงหลายแห่งจำต้องปรับตัวผันไปทำธุรกิจผลิตสื่อชนิดอื่นๆ หรือไม่ก็จับธุรกิจเสริมความงามแทน…

 

ท่ามกลางสภาวะซบเซาที่กำลังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้ วงดนตรีเกิร์ลกรุ๊ปลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นอย่าง BNK48 ก็ทวนกระแสถือกำเนิดขึ้นมา (เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 12 ก.พ. 2560) พร้อมสร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ชนิดที่แฟนคลับทั้งหญิงชายหลงใหล ‘ตกหลุมรัก’ กันทั่วบ้านทั่วเมือง

 

 

ความสำเร็จที่จับต้องได้ลำดับแรกคือยอดขายแผ่นซีดีเพลง 2 ซิงเกิลที่สูงลิบลิ่วทั้ง ‘อยากจะได้พบเธอ’ และ ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ซึ่งจำหน่ายได้ถึง 13,500 และ 30,000 แผ่นตามลำดับ คิดเป็นรายรับคร่าวๆ ก็อยู่ที่ประมาณ 15,225,000 บาท (แผ่นละ 350 บาท) ส่วนปีนี้ผู้บริหารตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำรายได้รวมตลอดทั้งปีแตะหลักร้อยล้านบาทให้ได้!

 

เกือบ 1 ปีแล้วที่สาวๆ ทั้ง 28 คนกำลังเดินหน้าสั่งสมประสบการณ์ พัฒนาตนเองจนมีความสามารถรอบด้านและก้าวเข้าไปนั่งในหัวใจโอตะ (โอตะคุ ชื่อเรียกแฟนวง BNK48) THE STANDARD ชวน จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด พี่ชายแท้ๆ ของ ‘จ๊อบซัง’ ณัฐพล บวรวัฒนะ ผู้จัดการวงมาพูดคุยเพื่อสำรวจแนวคิดการปั้นวงเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 ให้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จในวงกว้างเหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้

 

 

ลิขสิทธิ์การ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่น การพลาดสิทธิ์ช่องทีวีดิจิทัล และ BNK48

 

หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า 3 สิ่งนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

 

ต้องท้าวความย้อนเล่าก่อนว่าบริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด เกิดขึ้นภายใต้การบริหารจัดการโดย โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ อีกที โรสในที่นี้ก็คือโรสเดียวกับ ‘โรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอร์ปอเรชั่น’ บริษัทสื่อผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นหลากหลายเรื่อง เช่น ซูเปอร์เซนไท ขบวนการ 5 สี, นารูโตะ, ผ่าพิภพไททัน เป็นต้น

 

แต่ถ้าจะพูดถึงจุดกำเนิดของ BNK48 จริงๆ คงต้องย้อนไปราวช่วงปลายปี 2556 สมัยที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพิ่งเริ่มโครงการประมูลใบอนุญาตทำช่องทีวีดิจิทัลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

โรส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ นำโดย โรส-อรพรรณ มนต์พิชิต บวรวัฒนะ รองประธานบริษัทในขณะนั้น (ภรรยาของจิรัฐ) คือหนึ่งในบริษัทที่เข้าไปประมูลสัมปทานช่องโทรทัศน์ประเภทรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัวกับเขาด้วย

 

“ตอนนั้นแฟนผมจะเข้าประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งเขาก็มีช่องและการ์ตูนที่คิดว่าประสบความสำเร็จอยู่แล้วและก็อยากจะทำอีกช่องหนึ่ง ทีนี้ถ้าจะทำช่องโทรทัศน์มันก็ต้องมีศิลปิน ผมเลยบอกเขาว่าถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวผมไปเอาฟอร์แมตศิลปิน AKB เข้ามา ตอนนั้นผมคิดไว้แล้วเสร็จสรรพ เตรียมพรีเซนต์และพิตช์ข้อมูลเต็มที่” จิรัฐย้อนความ

 

ไม่รู้จะเรียกเป็นโชคดีหรือร้ายของโรส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ดี เพราะสุดท้าย พวกเขาก็พลาดสิทธิ์ทำทีวีดิจิทัลและเป็นทีวีสีช่อง 3 (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด), โมเดิร์นไนน์ทีวี (บริษัท อสมท จำกัด) และทีวีพูล (บริษัท ไทยทีวี จำกัด) ที่คว้าใบอนุญาตไปแทน

 

“ตอนนั้นเราเลือกเดินหน้าทำโปรเจกต์ทำศิลปินต่อ เพราะเชื่อว่าทุกวันนี้มันเป็นเรื่องของ celebrity marketing ผ่านโซเชียลมีเดียไปแล้ว คนสนใจตัวบุคคลมากกว่าความเป็นดราม่าของละคร คนดูอินสตาแกรม ฟอลโลว์เฟซบุ๊กก็เห็นเรื่องราวของคนจริงที่มีเรื่องราวมากกว่า ตอนนั้นเลยคิดว่าถ้าลองเอาโมเดล AKB เข้ามาทำน่าจะตอบโจทย์ได้

 

“ด้วยสองส่วนที่เราทำธุรกิจเกี่ยวกับญี่ปุ่นมานานกว่า 15-18 ปี เลยเห็นวัฒนธรรมของเขาซึ่งคนไทยก็ชื่นชอบกันเยอะ ขนม รถยนต์ แบรนด์รอบตัวเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นกันทั้งนั้นเลย กระทั่งญี่ปุ่นพยายามดึงนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ผมเลยสงสัยว่าทำไมไทยถึงไม่มีสื่อบันเทิงสไตล์ญี่ปุ่น หรือไอดอลญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยบ้างเลย มันจึงเป็นช่องว่างที่ทำให้เราเข้ามาทำในส่วนนี้”

 

คิดได้เช่นนั้น จิรัฐก็เลือกเดินหน้าฟอร์มทีมศิลปินที่ใช้โมเดลเดียวกับ AKB เริ่มต้นจากการเข้าไปติดต่อพูดคุยกับบริษัทต้นสังกัด AKS ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องบังเอิญไม่น้อยที่ค่ายธุรกิจบันเทิงยักษ์ใหญ่จากไทยหลายเจ้าติดต่อเข้าไปพร้อมๆ กันกับจิรัฐ

 

 

“สุดท้ายเราเอาจุดแข็งสองอย่างคือความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการศึกษา AKB มาอย่างดี และการทุ่มเทให้ความสำคัญกับสื่อโซเชียลมีเดียเข้าไปนำเสนอ ทำแผนธุรกิจ จนในที่สุดเราก็ได้สิทธิ์ในการทำ BNK มา เราไม่ได้ขายคอนเซปต์การทำธุรกิจเพลงอยู่แล้ว แต่ขายการเป็นผู้ดูแลจัดการศิลปิน (artist management) สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจลงไปสู่โซเชียลมีเดียด้วย ที่สำคัญเรามีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับญี่ปุ่นมายาวนาน ผมบินไปเจอเขาแทบทุกเดือน หลายๆ สิ่งมันเป็นองค์ประกอบกับความสำเร็จในครั้งนั้น”

 

เมื่อได้สิทธิ์ฟอร์มวง BNK48 มา กระบวนการเฟ้นหาศิลปินหญิงเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น จากเด็กสาวช่วงวัยอายุ 12-22 ปี จำนวนกว่า 1,375 คน ถูกคัดให้เหลือ 30 คนและเปิดตัวครั้งแรกที่งานเจแปนเอ็กซ์โป อิน ไทยแลนด์ 2017 เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2560 ก่อนกลับมาซักซ้อมและฝึกฝนอย่างหนัก และเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 2 มิ.ย. ณ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์

 

“เราพยายามหาคนที่มีเสน่ห์ ไม่ใช่คนที่อยากดังหรือสวยอย่างเดียว บางคนไม่ต้องร้องดีเต้นดีก็ได้ แต่ขอให้มีอะไรดีๆ ที่จะนำเสนอออกมา เราสนใจเรื่องของการนำเสนอ และคนที่พร้อมจะทำตัวเป็นแก้วเปล่าเพื่อฝึกฝนเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกัน”

 

 

วัฒนธรรมความเป็น BNK48 การสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มมูลค่าทางอ้อม

จะด้วยโชคชะตาอะไรก็ตาม จากเด็กสาว 30 คนในวันนั้นจึงเหลือเพียง 28 คนในวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เรากล้าพูดได้เต็มปากคือสมาชิก BNK48 ทุกๆ คนล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ พรสวรรค์ และความสามารถในแบบฉบับของตัวเองกันหมด ซึ่งอาจจะหาได้น้อยจากศิลปินไอดอลยุคนี้

 

เหนือสิ่งอื่นใด ทราบหรือไม่ว่าวัฒนธรรมการเป็นศิลปินไอดอลโมเดลญี่ปุ่นมีข้อห้ามอยู่หลายประการเหมือนกัน ทั้งห้ามมีแฟน (ในไทยอาจจะไม่ได้เป็นกฎที่คอขาดบาดตาย แต่ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อรักษาภาพลักษณ์และความนิยม), ห้ามทำศัลยกรรม, ห้ามถ่ายแฟชั่นแนวเซ็กซี่หรือกราเวียร์ (ต่างจากญี่ปุ่น) และห้ามถ่ายภาพเซลฟีกับแฟนๆ เด็ดขาด !?

 

ทำไมถึงต้องห้ามอะไรมากมายขนาดนั้น? นี่คือคำถามที่เราและคนที่ไม่ได้เป็นโอตะสงสัย

 

ทุกข้อห้ามล้วนมีเหตุผล และทุกธรรมเนียมปฏิบัติก็มีที่มาที่ไปในตัวของมันเอง

 

สำหรับกฎเรื่องการห้ามมีแฟน จิรัฐอธิบายมุมมองความรู้สึกของแฟนคลับ ว่าหากศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบมีแฟน (คนรู้ใจ) กองเชียร์หรือแฟนคลับเหล่านั้นก็จะรู้สึกว่าตัวศิลปินไม่ได้ใส่ใจความรักที่พวกเขาหรือเธอมอบให้ แต่กลับเลือกทุ่มเทความรู้สึกห่วงใยไปให้กับผู้ชายคนเดียว ผลที่ตามมาก็จะทำให้น้องๆ ศิลปินคนนั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

 

ส่วนเรื่องการทำศัลยกรรม จิรัฐบอกว่าเป็นผลพวงมาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวแต่แรกว่าศิลปินจะต้องเพียบพร้อม 100% ในทุกๆ ด้านตั้งแต่ความสามารถและเรือนร่างหน้าตาภายนอก แต่จะเน้นขายเรื่องราวความพยายามและการฝึกฝนตัวเองทุกวี่วันออกมาให้แฟนๆ ได้รู้สึกซึมซับตามไปด้วยมากกว่า

 

“กระทั่งวันที่เขาเก่งขึ้นมาได้ มันก็คือการทำงานร่วมกันระหว่างเมมเบอร์ในวง แฟนคลับ และทีมจัดการซึ่งจะช่วยพัฒนาน้องๆ ให้โตขึ้นไปเรื่อยๆ มันถึงสนุกไงครับ สนุกกว่าการที่ศิลปินจะเก่งและสมบูรณ์อยู่แล้วตั้งแต่ต้น เราเชื่อในแนวทางที่ต่างออกไป เช่นเดียวกับเพลงที่เป็นแค่องค์ประกอบ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของวง”

 

 

กรณีการถ่ายแบบเซ็กซี่หรือกราเวียร์ที่ศิลปินวงแม่ AKB48 ทำได้ แต่ BNK48 ไม่สามารถทำได้นั้น จิรัฐบอกว่าเขาอยากให้ไอดอลลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไทยวงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน ไม่ต้องการให้ขายเนื้อหนังมังสาและร่องอก ที่สำคัญสังคมไทยก็ค่อนข้างอ่อนไหวกับประเด็นเหล่านี้

 

สำหรับการห้ามศิลปินและน้องๆ ในวงถ่ายภาพเซลฟีกับแฟนคลับก็นับเป็นเหตุผลและที่มาในเชิงการตลาดล้วนๆ เพราะแม้แต่งานจับมือที่ต้องเสียเงินซื้อซีดีเพลงเข้าไปร่วมงาน คุณก็ไม่สามารถขอถ่ายรูปกับศิลปินได้ หรือต่อให้บังเอิญเดินเจอศิลปินตามท้องถนนหรือร้านสะดวกซื้อ กฎของบริษัทก็ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามถ่ายภาพร่วมกันเด็ดขาด!

 

เร็วๆ นี้ได้มีการประกาศขายบัตร Founder Member BNK48 ออกมา ราคาจำหน่ายอยู่ที่ใบละ 20,000 บาท พร้อมสินค้าที่ระลึกน่าสะสมมากมายเช่น สายคล้องคอบัตร, เสื้อโปโลลาย, บุ๊กเลต, บัตรถ่ายรูป 2 ช็อตกับเมมเบอร์ BNK48 ด้วยกล้องโพลารอยด์ 1 ใบ, บัตรเข้าชมเธียเตอร์ 50 ใบ (มูลค่าใบละ 400 บาท) ฯลฯ

 

ที่น่าสนใจคือบัตรถ่ายรูปร่วมกับสมาชิกในวง ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องจ่ายเงินซื้อเพื่อให้ได้มาเท่านั้น และถึงโรงละครของ BNK ที่ตั้งอยู่บนเดอะมอลล์บางกะปิจะยังสร้างไม่เสร็จ แต่ข่าวลือก็ระบุว่าตอนนี้บัตร Founder Member BNK48 สามารถจำหน่ายออกไปได้มากกว่า 400 ใบแล้ว! คิดเป็นมูลค่ารวมก็ประมาณ 8 ล้านบาทถ้วนเท่านั้นเอง

 

 

กลยุทธ์ทางธุรกิจที่คิดมาอย่างดีเพื่อช่วยให้ซีดีเพลงและสินค้าที่ระลึกขายดิบขายดีราวแจกฟรี!

  • ซีดีเพลง 2 ซิงเกิลจำหน่ายได้รวมกัน 43,500 แผ่น มูลค่า 15,225,000 บาท (แผ่นละ 350 บาท)
  • บัตร Founder Member BNK48 ที่ลือว่าขายไปแล้วกว่า 400 ใบ มูลค่า 8,000,000 บาท
  • สินค้าที่ระลึกอื่นๆ ไม่ว่าจะโฟโต้เซตหรืออะไรอีกหลายๆ อย่างก็ถูกขายออกไปแล้วมากมาย รวมถึงข่าวลือที่ว่าภาพของเฌอปราง กัปตันวงพร้อมลายเซ็นเจ้าตัว เตรียมถูกนำไปประมูลในราคาเหยียบหลักแสนมาแล้ว!

 

ความสงสัยของเราเกิดขึ้นทันทีที่ค้นพบชุดข้อมูลนี้ ทำไมในยุคดิจิทัล 4.0 ที่ค่ายเพลงส่วนใหญ่ขายแผ่นซีดีเพลงไม่ออก ส่วนภาพศิลปินต่างๆ ก็ดาวน์โหลดและพิมพ์ได้ด้วยตัวเองที่ปรินเตอร์ที่บ้าน แต่สินค้าที่ระลึกของ BNK48 กลับขายดีไม่แคร์ใคร?

 

ที่ Physical Products ของ BNK48 สามารถทำเช่นนั้นได้ นอกจากเหตุผลความสุขทางใจกับการได้หยิบจับและสะสมสินค้า การสอดแทรกการได้มีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ ลงไปควบคู่กับสินค้าแต่ละตัวก็มีผลทำให้โปรดักส์ของบริษัทถูกกว้านซื้อไปถล่มทลาย

 

ตัวอย่างเช่นซีดีเพลงที่ขายคู่กับบัตรจับมือศิลปินคนโปรดเป็นเวลา 7-8 วินาที ซึ่งมีผลต่อการคัดเลือกเซมบัตสึ (สมาชิกหลัก 16 คนที่จะได้ออกผลงานเพลงแต่ละซิงเกิล) จากคะแนนความนิยมการจับมือโดยคณะกรรมการ ส่วนในอนาคต นอกจากบัตรจับมือก็จะมีการแถมบัตรเลือกตั้งให้แฟนๆ ได้โหวตเซมบัตสึด้วยตัวเองอีกด้วย

 

จิรัฐบอกว่า “ผมมองว่ามันคือคุณค่าทางจิตใจนะ มันมากกว่าการนำไปใช้ ถ้าจะฟังเพลงจริงๆ ไปโหลดเพลงฟังเอาก็ได้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่าเขาอยากสนับสนุนน้อง (ศิลปิน) ด้วยความรักและความชอบจริงๆ

 

“ความต้องการสนับสนุนน้องๆ เป็นสิ่งสำคัญ จะเกิดสิ่งนั้นขึ้นได้ก็เป็นเพราะว่าทั้งแฟนคลับ น้อง และทีมจัดการเข้าใจตรงกันว่าน้องยังต้องพัฒนาต่อไป แต่จะพัฒนาได้เขาก็ต้องมีโอกาสและมีงานที่จะทำเสียก่อน

 

“ผมเองมีหน้าที่ในการสร้างงานและโอกาส น้องๆ ในวงก็มีหน้าที่ทำงานให้ดีที่สุด แฟนคลับมีหน้าที่สนับสนุนน้องให้ไปถึงเป้าหมาย ทุกคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่แฟนคลับ ‘ซื้อ’ ก็เพราะเขาต้องการสนับสนุนให้ทั้งวงและบริษัทที่จัดการอยู่ได้อย่างยั่งยืน ความมีส่วนร่วมคือหัวใจหลักที่ทำให้สินค้าเรายังขายได้”

 

 

ยุคที่แฟนคลับเป็นมากกว่าแค่เสียงตะโกนเชียร์ เพราะโอตะคือ ‘User Generated Content’

ร้อยทั้งร้อยแฟนคลับศิลปินทุกวง ใครๆ ก็อยากจะเห็นนักร้องที่ตนรัก วงที่ตัวเองเชียร์ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เติบใหญ่ในวงการบันเทิงและเป็นที่รักของผู้คนทั่วไปเป็นธรรมดา

 

ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มโอตะ ที่จิรัฐบอกว่าแฟนคลับวง BNK48 ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเป็นโปรโมเตอร์และ User Generated Content ในตัว พร้อมช่วยโปรโมตวงและศิลปินได้อย่างแพร่หลายและทั่วถึง ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นและแต้มต่อที่ช่วยให้ BNK เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

 

“ถ้าเรียกในภาษาเทคนิคเราเรียกว่าพวกเขามีเอ็นเกจเมนต์สูง ไม่ใช่แค่คลิกดูหรือกดไลก์เท่านั้น แต่ช่วยแชร์ ช่วยนำคอนเทนต์มาโปรเซสซิ่งแล้วส่งต่อ พวกเขาเป็นหนึ่งใน Ecosystem ที่ช่วยผลักดันให้น้องๆ ในวงประสบความสำเร็จ มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะทำให้น้องๆ สำเร็จ อยากผลักดันให้คนรอบข้างหันมาสนใจและรู้จัก BNK

 

“แม้กระทั่งบัตรจับมือที่ถูกแจกจ่ายออกไปในจำนวนจำกัด 30,000 ใบ แฟนคลับของสมาชิกบางคนยังใช้วิธีทำของที่ระลึกด้วยตัวเองเพื่อแจกให้กับผู้ที่เข้าไปจับมือศิลปินคนที่เขาเชียร์ มันคือการทำให้น้องที่ตัวเองรักเป็นที่สนใจ ได้รับความนิยม เติบโตไปเรื่อยๆ การเติบโตในที่นี้วัดจากการที่เขายืนระยะเป็นเซมบัตสึได้ตลอด ได้เป็นเซนเตอร์ของวง มันมีเครื่องมือและกลไกของมันอยู่”

 

ยิ่งไปกว่านั้นการที่คนในวงการบันเทิงอย่าง แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข, เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือ โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ฯลฯ กลายเป็นโอตะโดยทั่วกันก็มีส่วนช่วยนำพา BNK48 ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกระดับ

 

 

เลือกหยิบจับพาร์ตเนอร์สื่อให้หลากหลาย รู้จักใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้รอบด้าน

ตั้งแต่เริ่มฟอร์มวง BNK48 ขึ้นมาเมื่อปี 2560 จนเป็นรูปเป็นร่างและเห็นเค้าลางความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน จิรัฐบอกว่า บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ ภายใต้การจัดการของโรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จะรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตสื่อทุกช่องทางของวงด้วยตัวเองมาโดยตลอด

 

แต่มาปีนี้จิรัฐเผยว่าบริษัทจะเริ่มเปลี่ยนแผนการผลิตสื่อให้ต่างออกไป ด้วยการกระจายความร่วมมือไปยังพาร์ตเนอร์สื่อต่างๆ มากขึ้นเพื่อให้เกิดความหลากหลายและปรับบทบาทขอบเขตในการทำงานของบริษัทให้ชัดเจน

 

“ตอนที่ทำเองคนเดียวก็พบว่าเหนื่อยมากครับ และเราก็คงไม่สามารถทำได้เองทุกอย่างหรอก ซึ่งการจะทำให้ยั่งยืนได้คือการให้คนเก่งๆ มาทำร่วมกับเรา บทบาทของโรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จะชัดขึ้นในปีนี้ เพราะปีที่ผ่านมาเราดูเป็นค่ายเพลง
เราจะพูดอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่ค่ายเพลง ปีนี้เราจึงจะให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่าย บริหารคอนเน็กชัน-พาร์ตเนอร์ชิป และบริหารดูแลศิลปินเป็นหลัก”

 

โดยในปีนี้นอกจากรายการ The Journey และ อยากจะได้พบเธอ! ญี่ปุ่น ที่ออนแอร์ทางช่อง MCOT HD และ Amarin TV เราจะได้เห็นรายการ BNK48 Senpai เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งรายการ (ออนแอร์ทางสถานีโทรทัศน์) รวมถึงความร่วมมือกับค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ และการจับมือกับค่ายสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อผลิตผลงานร่วมกัน

 

หัวข้อสำคัญที่เราจะลืมพูดถึงไม่ได้เป็นอันขาด คือการเกิดขึ้นมาของ BNK ในวันที่สื่อโซเชียลมีเดียกำลังเรืองอำนาจ โดยข้อมูลจากคำบอกเล่าของจิรัฐเผยว่าทุกๆ ครั้งที่น้องสมาชิกไลฟ์สดลงเพจ ยอดรีชและเอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 400,000

 

นอกจากนี้ในแต่ละวันก็จะมีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้สมาชิกแต่ละคนขึ้นมาไลฟ์สดผ่านแอปพลิเคชัน VOOV เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับในวงไม่ให้ขาดตอน

 

 

เราถามความเห็นของจิรัฐว่าเป็นไปได้ไหม หาก BNK เกิดขึ้นมาในวันที่เรายังไม่มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ใช้ น้องๆ ก็อาจจะไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้?

 

“อาจจะยังไม่บูมขนาดนี้ก็ได้นะครับ เราอาจจะต้องไปใช้สถานีโทรทัศน์ ซึ่งอาจจะไม่เวิร์กเลยก็ได้ เพราะการเข้าหาคนมันวัดผลอะไรไม่ได้ เป็นรูปแบบการสื่อสารทางเดียว แต่ทุกวันนี้เราก็ทำอะไรหลายๆ อย่างควบคู่กันไปตลอด มีทั้งตู้ปลาไลฟ์ (เอ็มควอเทียร์), ไลฟ์สดผ่านแอปพลิเคชัน

 

“กลยุทธ์เราคือการสร้างคอนเทนต์แล้วใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียขยายความนิยมบวกรวมกับรายการทีวีไปพร้อมๆ กับการทำโรดโชว์ มีกิจกรรมออฟไลน์ มันก็เหมือนการที่เรากำลังสร้างแบรนด์ขึ้นมา แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือโปรดักส์หรือตัวศิลปินจะต้องมีความน่าสนใจไม่แพ้กันด้วย”

 

มาถึงวันนี้ เราไม่อาจจะปฏิเสธกระแสความนิยมของ BNK48 ได้เลยว่าพวกเธอคือศิลปินกลุ่มที่กำลังมาแรงจริงๆ นับวันก็ยิ่งจะเก็บแต้มคะแนนความนิยมเพิ่มพูนไปได้เรื่อยๆ ส่วนจะยืนระยะอยู่ในวงการบันเทิงได้ยาวนานแค่ไหน ประสบความสำเร็จในด้านโมเดลธุรกิจระยะยาวเพียงใด ก็คงต้องให้คุกกี้ช่วยทำนายกัน…

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising