×

แกะปมเปลืองไฟ-ผลาญพลังงานของบิตคอยน์ กับข้อหา ‘สกุลเงินนี้…ไม่สะอาด’ และ ‘สมควรตาย’ จริงหรือ?

24.05.2021
  • LOADING...
บิตคอยน์

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • ปัญหาพลังงานที่มีแนวโน้มหนักข้อขึ้นต่อเนื่อง ทำให้บิตคอยน์ถูกมองเป็น Dirty Currency หรือสกุลเงินที่ไม่สะอาดและเป็นพิษต่อโลก
  • มุมมองแง่ลบของบิตคอยน์กลายเป็นภาพจำชัดเจนสุดขีดหลังจากที่ ‘อีลอน มัสก์’ ได้เน้นให้โลกเห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสกุลเงินดิจิทัลนี้ ท่ามกลางรัฐบาลหลายประเทศและหลายองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เต็มตัวแล้ว
  • ฝ่ายที่โจมตีบิตคอยน์เชื่อว่าบิตคอยน์ ‘สมควรตาย’ เพราะการใช้พลังงานมหาศาลที่ไม่สมเหตุสมผล บิตคอยน์ยังเป็นสินทรัพย์เก็งกำไรที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานใดเลย และเงินบิตคอยน์ก็ไม่ได้รับการยอมรับจนถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนชี้ว่าบิตคอยน์ไม่ผิด เพราะมีการใช้พลังงานสะอาดแล้ว และมีหลักการที่ถูกต้องดีแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ ‘คน’ ที่อยากได้บิตคอยน์มากขึ้นไม่รู้จักพอ
  • อนาคตที่จะเกิดขึ้นกับบิตคอยน์คือการถูกจัดระเบียบงานขุดให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น แม้จะทำได้ยาก แต่นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศโลกก็ไม่ยอมแพ้ และกำลังผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลควบคุมเงินคริปโตฯ อย่างจริงจัง  เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจถูกเผาผลาญมหาศาลไปกับกระบวนการขุดเงินคริปโตฯ

ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน 2021 ชาวโลกตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อมีข่าวว่าบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งควักเงินซื้อโรงไฟฟ้าเก่าในนิวยอร์กมาปรับปรุงใหม่เพื่อขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะ โดยจะเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างพลังไฟสำหรับให้บริการเป็นเหมืองไฮบริดที่ขุดสกุลเงินดิจิทัลพร้อมกับเป็นโรงไฟฟ้าได้ในตัว (Powerplant-Cryptocurrency Mining Hybrid)

 

บริษัทเอกชนแห่งนั้นคือ Greenidge Generation Holdings ซึ่งมีแผนจะขายหุ้นเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปลายปีนี้ ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถขึ้นเป็น “ผู้ดำเนินการขุดบิตคอยน์ที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เป็นมหาชนเพียงรายเดียวในสหรัฐฯ ที่มีแหล่งพลังงานของตัวเอง”

 

ข่าวนี้สะท้อนได้สองมุม มุมแรกคือวงการเงินคริปโตฯ กำลังมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อเรื่องพลังงาน ขณะที่มุมที่สองคือการแพร่หลายของเงินคริปโตฯ ซึ่งกำลังเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง 

 

โดยในเอกสารที่นำเสนอต่อนักลงทุน โรงไฟฟ้าเหมืองไฮบริดนี้จะต่อท่อตรงเพื่อให้ก๊าซธรรมชาติช่วยผลิตเหรียญคริปโตฯ ได้ในราคาทุนต่ำราว 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ สะท้อนว่าเหมืองไฮบริดนี้จะให้อัตรากำไรที่สูงเมื่อเทียบกับเหมืองอื่นในจีน ซึ่งขณะนี้กำลังถูกปราบปรามอย่างหนักโดยหน่วยงานกำกับดูแลแดนมังกร

 

แม้ Greenidge จะย้ำว่ามีความภาคภูมิใจที่ได้เลิกใช้ถ่านหิน และกำลังเดินหน้าซื้อโรงไฟฟ้าเก่าเพิ่มเติมเพื่อขยายการดำเนินงานเต็มที่ แต่ก็ไม่พอที่จะทำให้นักเคลื่อนไหวด้านลดโลกร้อนคลายความกังวล โดยเฉพาะเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมากถูกนำมาเผาผลาญให้กลายเป็นพลังงานสำหรับขุดเงินคริปโตฯ

 

 

ตลอด 2-3 ปีมานี้ นักเคลื่อนไหวต่างเดินหน้าผลักดันให้หน่วยงานรัฐฯ ออกมากำกับดูแลควบคุมธุรกิจขุดเงินคริปโตฯ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 

 

แต่แรงกระเพื่อมใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ อีลอน มัสก์ ผู้บริหารระดับสูงของ Tesla ประกาศเปลี่ยนใจเลิกลงทุนในบิตคอย จากที่เคยเทเงินกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลับลำไม่รับเงินบิตคอยทั้งที่เคยเปิดให้ลูกค้าซื้อรถ Tesla ได้ด้วยเงินบิตคอย เหตุผลคือบิตคอยส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม 

 

หลับตามาหลายปี

การผลิตสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอย หรือที่เรียกว่า ‘การขุดบิตคอย’ นั้นต้องการฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้พลังงานและพลังไฟในการประมวลผลจำนวนมาก เงินดิจิทัลอย่างบิตคอยจึงได้ชื่อว่าเกิดขึ้นบนพลังงานมหาศาล 

 

มีการคำนวณพบว่าปริมาณพลังงานที่ใช้สร้างบิตคอยน์นั้นมากกว่าปริมาณการใช้พลังงานของบางประเทศทั้งปี คำพูดของ อีลอน มัสก์ จึงมีอิมแพ็กช่วยไฮไลต์ว่าปัญหาพลังงานที่ต้องใช้ขุดบิตคอยน์เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายละเลยมาตลอด 

 

ทั้งรัฐบาลหลายประเทศ องค์กรการกุศลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงธนาคารและสถาบันแลกเปลี่ยนเงินตราที่ยอมหลับหูหลับตาอำนวยความสะดวกจนอุตสาหกรรมคริปโตฯ มีขนาดใหญ่คับฟ้า

 

ศาสตราจารย์ ไบรอัน ลูซีย์ จาก Trinity College Dublin มหาวิทยาลัยแห่งเมืองดับลิน กล่าวกับสำนักข่าว Financial Times ว่า เฉพาะบิตคอยน์เพียงสกุลเดียวก็ใช้พลังงานไฟฟ้าในการสร้างเหรียญมากพอกับประเทศในยุโรปขนาดกลาง ถือเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มหาศาลมาก ดังนั้นจึงเปรียบได้ว่าเป็นธุรกิจที่สร้างมลพิษสูง บิตคอยน์จึงเป็น ‘สกุลเงินที่สกปรก’ ไปโดยปริยาย

 

 

หน่วยงานด้านเศรษฐกิจจำนวนมากกำลังเริ่มตื่นตัวในทางเดียวกัน โดยธนาคารกลางยุโรปออกมาประกาศว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงเกินไปของเงินคริปโตฯ นั้นเป็นประเด็นที่น่ากังวล ขณะที่ธนาคารกลางของอิตาลีเลือกชูว่าระบบชำระเงินเรียลไทม์ Target Instant Payment Settlement (TIPS) ของยูโรโซน นั้นมีค่าคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าบิตคอยน์ถึง 40,000 เท่าในปี 2019 ที่ผ่านมา

 

หากจะดูที่ตัวเลขดัชนีการใช้ไฟฟ้าผลิตบิตคอยน์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์คำนวณมา จะพบว่าการขุดบิตคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้า 133.68 TWh แม้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคิดเป็นตัวเลขมากกว่าสวีเดนที่ใช้ไฟไป 131.8 TWh ในปี 2020 

 

แต่ตัวเลขที่แท้จริงของบิตคอยน์อาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะเคมบริดจ์คำนวณโดยยึดกรณีที่นักขุดเงินคริปโตฯ เลือกใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปที่ยังคงทำกำไรได้

 

นอกจากนี้ ภาวะที่เงินบิตคอยน์เพิ่มมูลค่าสูง ยังถือเป็นช่วงที่ดึงดูดนักขุดรายใหม่ ทำให้การใช้พลังงานมีแนวโน้มยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะการขุดด้วยอุปกรณ์รุ่นเก่าและมีประสิทธิภาพน้อยกว่าก็ยังมีอยู่ 

 

ขณะเดียวกันราคาบิตคอยน์ที่สูงขึ้นยังหมายถึงเครื่องจักรที่ขุดบิตคอยน์ต้องถูกบังคับให้ไขปริศนาที่ยากขึ้น ส่งให้การใช้ไฟฟ้าของบิตคอยน์อาจสูงได้อีกถึง 500 TWh ต่อปี เทียบกับประเทศอังกฤษที่ใช้พลังไฟเพียง 300 TWh เท่านั้น

 

ใช้พลังงานสะอาดน้อยไป

ปัจจุบัน 65% ของการทำเหมืองบิตคอยน์นั้นมาจากประเทศจีน จุดนี้ Michel Rauchs ตัวแทนนักวิจัยที่มีส่วนกับการคำนวณดัชนีของเคมบริดจ์ ชี้ว่าเหมืองขุดเงินคริปโตฯ บางแห่งในประเทศจีนมีการใช้พลังงานน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็จริง แต่เมื่อหมดฤดูฝนจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากถ่านหินที่มีมลพิษแทน

 

เหมืองบิตคอยน์ ที่ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวนของจีน (Paul Ratje/For The Washington Post via Getty Images)

 

การเปลี่ยนแหล่งพลังงานแบบผสมตามช่วงฤดูนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างเช่นนอร์เวย์ที่อุดมไปด้วยพลังงานน้ำ แต่ก็จำเป็นต้องผสมพลังงานสิ้นเปลืองเพื่อให้สามารถส่งออกอะลูมิเนียมได้ ในทำนองเดียวกัน นักวิเคราะห์จึงมองว่าบิตคอยน์เป็นทางออกที่ปกติแล้วสำหรับจีนในการสร้างประโยชน์จากการพลังงาน ‘Dirty Energy’ 

 

ในภาพรวม Rauchs ย้ำถึงการศึกษาที่พบว่าเหมืองขุดบิตคอยน์ประมาณ 75% วันนี้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว แต่ปัญหาคือพลังงานหมุนเวียนยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่า 40% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด

 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่าบิตคอยน์ไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลที่ใช้พลังงานมาก แต่ประเด็นอยู่ที่การเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุด จนดึงดูดให้มีการขยายเหมืองเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้บิตคอยน์ถูกป้ายข้อหาใช้พลังงานมากเกินไป

 

ไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลที่ใช้พลังงานมาก แต่เป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุด

ตลอดเวลา 12 ปีที่กำเนิดบนโลก โดยคนที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ เงินบิตคอยน์ซึ่งซื้อขายผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะต้องทำงานผ่านเครือข่ายฮาร์ดแวร์ทั่วโลกที่มีจำนวนเกินแสนเกินล้านเครื่องที่ต้องเปิดเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยภายในเครือข่ายจะมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นร่วมกันประมวลผลและจัดเก็บธุรกรรมตลอด 

 

ราคาของบิตคอยน์ที่สูงขึ้นจึงมาพร้อมกับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น เพราะระบบที่ออกแบบมาให้นักขุดที่แข่งขันกันแก้สมการบนระบบบล็อกเชนของบิตคอยน์จะได้รับเหรียญเป็นรางวัลในทุก 10 นาที 

 

การให้รางวัลเป็นเหรียญบิตคอยน์เป็นส่วนหนึ่งของหลักการทำงานที่เรียกว่า Proof of Work ซึ่งจะป้องกันไม่ให้แฮ็กเกอร์และองค์กรอื่นเข้ามาแทรกแซงได้ กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Proof of Work ถูกมองเป็นนวัตกรรม ไม่ใช่ข้อผิดพลาดในการออกแบบบิตคอยน์จนทำให้ถูกโจมตีเรื่องพลังงาน

 

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าปมปัญหาเรื่องพลังงานของบิตคอยน์ อยู่ที่ ‘คน’ ซึ่งอยากได้บิตคอยน์มากขึ้นไม่รู้จักพอ ไม่ได้อยู่ที่การออกแบบระบบเหรียญ เพราะเมื่ออยากได้มากขึ้น นักขุดเงินจึงจำเป็นต้องแข่งขันกันเองเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร กลายเป็นแรงจูงใจที่มีผลมากในการทำให้นักขุดเหรียญไม่ยอมปิดคอมพิวเตอร์เลยทั้งที่รู้ว่าสิ้นเปลืองพลังงานสูงมาก

 

 

ขณะนี้บิตคอยน์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของมูลค่าตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่เกิดบนหลักการ Proof of Work ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 สกุล ซึ่งใช้พลังงานรวมประมาณ 2 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้กับเงินดิจิทัล ที่เหลือนั้นเป็นเงินที่สร้างบนหลักการ Proof of Stake ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่า

 

หลักการ Proof of Stake จะไม่เน้นแข่งขันประมวลผล แต่ระบบจะจัดสรรเหรียญให้กับผู้ตรวจสอบหรือ Verifier (คล้ายกับนักขุดหรือ Miner ของบิตคอยน์) ที่วางเหรียญเพื่อเป็นหลักประกัน 

 

ในกรณีที่มีการฉ้อโกง Verifier จะสูญเสียเงินเดิมพันไป เป็นการสร้างความไว้วางใจผ่านเหรียญที่ถือ แทนที่จะใช้ ‘งาน’ ที่ต้องใช้พลังงานมาก หลักการนี้เริ่มใช้ในเงิน Ether ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลคู่แข่งบิตคอยน์ที่เปลี่ยนมาใช้โมเดลนี้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังคงมีผลกระทบด้านเทคนิค ทำให้ระบบไม่เสถียรเท่า Proof of Work

 

ในทางทฤษฎี บิตคอยน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อนักขุดทุกคนจะต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่ในการขุด คนในวงการจึงมองว่าเป็นการยากที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะชุมชนคนบิตคอยน์ย่อมไม่เห็นด้วยทั้งหมด และอาจไม่ให้การสนับสนุนแผนดังกล่าวก็ได้

 

สรุปว่า Clean หรือ Dirty?

ในเมื่อภาพลักษณ์ความ Clean หรือ Dirty ของบิตคอยน์ยังขมุกขมัวและไร้ทางออก นักวิเคราะห์บางรายจึงมองว่าบิตคอยน์สมควรแล้วที่จะถึงกาลอวสาน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของโลก

 

ดร.ลาริสา ยาโลวายา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน มองว่าบิตคอยน์อาจเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นบิตคอยน์จึงควรจะตายไปเสียเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของโลก และถูกแทนที่ด้วยโมเดลใหม่ เพื่อไม่ให้บิตคอยน์เผาผลาญพลังงานไฟฟ้ามากกว่าบางประเทศบนโลกต่อไป

 

ยาโลวายา เป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำพาราลิมปิกของรัสเซียที่ไม่เห็นด้วยกับบิตคอยน์ เธอกล่าวว่าการใช้พลังงานมหาศาลนี้ไม่สมเหตุสมผลกับราคาที่สูงลิ่วของบิตคอยน์ ขณะเดียวกันบิตคอยน์ยังเป็นสินทรัพย์เก็งกำไรที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานใดๆ ด้วย แถมเงินบิตคอยน์ก็ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรม

 

วันนี้หน่วยงานมากมายเริ่มตัดขาดจากบิตคอยน์ โดยเฉพาะกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Greenpeace หรือ Friends of the Earth ที่เคยรับบริจาคเป็นเงินบิตคอยน์มาหลายปีก็เปลี่ยนมาไม่รับ

 

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารซึ่งเคยต่อต้านเงินดิจิทัล กลับประกาศแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องธุรกิจลงทุนเงินคริปโตฯ เช่น Citigroup ที่ระบุว่ากำลังสำรวจว่าจะมีบทบาทอย่างไรในบริการคริปโตฯ และ Goldman Sachs ที่เปิดการซื้อขายอนุพันธ์บิตคอยน์อีกครั้ง ด้าน Morgan Stanley ก็วางแผนขายกองทุนบิตคอยน์ โดยไม่มีธนาคารใดออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องปัญหาการใช้พลังงานของบิตคอยน์เลย

 

ประเด็นนี้ ยาโลวายา เชื่อว่าบริษัทใหญ่ที่สนใจในธุรกิจสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้คือกลไกสำคัญที่ทำให้บิตคอยน์มีมูลค่าราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มการใช้พลังงานในทางอ้อม ดังนั้นองค์กรใหญ่จำเป็นที่จะต้องอธิบายตัวเองให้สาธารณชนเข้าใจ และผู้ซื้อสกุลเงินดิจิทัลก็ควรรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ที่น่าสนใจคือ บิตคอยน์กลายเป็นประเด็นใหญ่ในวาระการอภิปรายเรื่องสภาพภูมิอากาศระหว่างรัฐบาลในระดับโลกแล้ว (การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์) ขณะที่ UN ยังประกาศจุดยืนมองหาวิธีที่จะป้องกันการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลด้วย 

 

ยังมีโครงการ ‘Crypto Climate Accord’ ซึ่งนำโดยสถาบัน Rocky Mountain Institute ท่ามกลางคำยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายที่จะชะลอการสร้างนวัตกรรมในวงการเงินดิจิทัล แต่ต้องการให้แน่ใจว่าโครงการที่ใช้บล็อกเชนในอนาคตจะได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้พลังงานน้อยลง

 

ในมุมของผู้ถือเงินบิตคอยน์พบว่าหลายคนไม่กังวลเกี่ยวกับการใช้พลังงาน หลายคนมองว่าต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเล็กน้อยมากเมื่อบิตคอยน์สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับระบบการเงินในอนาคตได้ 

 

ตัวอย่างเช่น แจ็ค ดอร์ซีย์ และ แคธี วูด ที่เชื่อว่าแท้จริงแล้ว เครือข่ายบิตคอยน์จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การเพิ่มขีดความสามารถในการขุดบิตคอยน์ยังอาจทำให้ผู้ให้บริการพลังงานสามารถพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบก้าวกระโดดได้ด้วย

 

จึงสรุปได้ยากเหลือเกินว่าบิตคอยน์ ‘สกุลเงินนี้…ไม่สะอาด’ จริงหรือ? 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising