×

เปลือยความคิดสีเขียวของ อรยา สูตะบุตร กลุ่ม Big Trees กับภารกิจปกป้องต้นไม้ในป่าคอนกรีต

13.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กลุ่ม Big Trees ก่อตั้งจากแนวคิดในการเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่เน้นเรื่องการสื่อสาร สร้างความตระหนัก และจัดกิจกรรมให้คนในเมืองได้ไปสัมผัสธรรมชาติใกล้ตัว เช่น ขี่จักรยานไปดูต้นไม้ใหญ่ เช่น ช่วยกันทำแผนที่ต้นไม้แบบประชาชน
  • ปัจจุบันกลุ่ม Big Trees ต่อยอดด้วยการจัดอบรมสร้างทีมและเครือข่ายรุกขกรดูแลต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อันน้อยนิด จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ชื่อ Urban Tree Care
  • บทบาทสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในป่าคอนกรีตเมืองกรุงคือ การทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ต้นไม้กลายๆ และเป็นศูนย์กลางที่คนจะส่งเรื่องร้องเรียนหากมีการตัดต้นไม้ในที่สาธารณะ

ข่าวสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่สีเขียวในเมืองช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ การที่เขตจตุจักรสั่งปรับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 170,000 บาท เนื่องจากฝ่ายหลังตัดต้นไม้ 14 ต้น หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยพลการ เพื่อขยายพื้นที่ก่อสร้าง BTS สายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

 

เมื่อพิจารณาจากกระแสกดดันให้เอาผิดผู้บริหารบริษัทเดียวกัน จากกรณีบุกเข้าพื้นที่ป่าหวงห้ามเพื่อล่าเสือดำที่ยังเป็นข่าวต่อเนื่อง เราอาจจะมองในแง่ดีได้ว่า จิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพื้นที่สีเขียวในหมู่คนไทยเติบโตสวนทางกับจำนวนต้นไม้ที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตามในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรายังเห็นการผนึกกำลังของคนตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาก่อตั้งกลุ่มก้อน คอยเป็นหูเป็นตา และทำหน้าที่ประหนึ่งองครักษ์พิทักษ์ต้นไม้ในป่าคอนกรีตนามว่า กรุงเทพฯ

 

THE STANDARD พูดคุยกับ อาจารย์ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Big Trees ที่สนับสนุนให้เมืองรักษาไม้และพื้นที่สีเขียวให้งดงาม

 

Big Trees เป็นหนึ่งในองค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องป่าในเมืองมาก อยากให้เล่าให้ฟังถึงบทบาทการทำงานในตอนนี้

ตอนแรกที่ตั้งใจเนี่ย คือตั้งใจแค่เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่จะเน้นเรื่องการสื่อสาร รวมกลุ่มทำเฟซบุ๊กเรื่องการสร้างความตระหนัก กิจกรรมต่างๆ ให้คนในเมืองได้ไปสัมผัสธรรมชาติใกล้ตัวง่ายๆ เช่น ขี่จักรยานไปดูต้นไม้ใหญ่ ช่วยกันทำแผนที่ต้นไม้แบบประชาชน ถ่ายรูปแล้วปักหมุด หรือจะเป็นการช่วยกันปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะในเมือง จะเป็นกิจกรรมง่ายๆ วันเดียวจบ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นกิจกรรมเฉพาะทาง เป็นอาชีพที่สุดท้ายมันต้องมีใบอนุญาต อะไรอย่างนี้ คือไม่คิดว่าเราต้องมาขนาดนี้ เช่น การฝึกอบรม สร้างทีมรุกขกร กลายเป็นว่า เหมือนกับเป็นหนึ่งในคนที่เผยแพร่และสร้างทีมอาชีพขึ้นมา

 

ความตั้งใจแรกแค่สร้างกิจกรรมพื้นฐาน พาคนกับพื้นที่สีเขียวมาเจอกันอย่างนี้ใช่ไหม

คือเปลี่ยนจากความเคยชินที่ว่า ถ้าเรารักธรรมชาติ เราต้องไปเดินหา

 

หรือต้องเอาตัวออกไปนอกเมืองใช่ไหม

ต้องไปปลูกป่าหัวโล้น หรือต้องไปสะพายย่ามประท้วงเขื่อนแม่โจน อะไรอย่างนี้ อันนั้นก็เป็นวิธีการสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทุ่มเทขนาดนั้น เราเลยเลือกวิธีสื่อสารกับคนที่อยู่ในเมือง คนที่มีงานประจำ คนที่ยังอยู่กับรถยนต์ รถไฟฟ้า โซเชียลมีเดีย พยายามให้เขาซึมซับว่าตัวเขาเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร จะชำนาญเรื่องอะไร ถ้าถึงจุดที่เขามีความเข้าใจว่า ธรรมชาติเป็นเรื่องซีเรียส แต่เราจะสื่อสารแบบไม่ซีเรียสค่ะ และสื่อสารให้เขาเกิดความรู้สึกว่า คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ว่า ชีวิตปกติก็ดำเนินไป อาชีพก็ทำต่อไป แต่ในยามว่าง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กดไลก์จนถึงการร่วมกิจกรรมด้วยกัน หรืออาจจะตั้งกลุ่มแล้วออกไปสร้างกิจกรรมหรือสร้างเครือข่าย

 

วิธีสื่อสารส่วนใหญ่เราจะใช้เรื่องราวที่มันง่าย สั้น และใช้ภาพ อาจสื่อด้วยรูปเด็กน่ารักๆ หรือต้นไม้ใหญ่ที่มันเก่าแก่จังเลยอย่างนี้ ไม่ใช้สาระเยอะค่ะ แต่เขาอ่านประโยคเดียว เขาดูรูปกับประโยคแรกแค่นั้นค่ะ เพราะฉะนั้นมันไม่มีเวลาว่า งานวิจัยประเทศนี้เขาว่าอย่างนี้ หรือป่าเมืองไทยลดลงด้วยสาเหตุอะไรตามงานวิจัยของสำนักโน้นนี้ ไม่มีใครอ่านค่ะ

ตอนแรกที่ตั้งใจเนี่ย คือตั้งใจแค่เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่จะเน้นเรื่องการสื่อสาร รวมกลุ่มทำเฟซบุ๊กเรื่องการสร้างความตระหนัก กิจกรรมต่างๆ ให้คนในเมืองได้ไปสัมผัสธรรมชาติใกล้ตัวง่ายๆ เป็นกิจกรรมง่ายๆ วันเดียวจบ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นกิจกรรมเฉพาะทาง เป็นอาชีพที่สุดท้ายมันต้องมีใบอนุญาต คือไม่คิดว่าเราต้องมาขนาดนี้ เช่น การฝึกอบรม สร้างทีมรุกขกร แล้วกลายเป็นว่า เหมือนกับเป็นหนึ่งในคนที่เผยแพร่ และสร้างทีมอาชีพขึ้นมา

 

เราย่อยให้มันเสพได้ง่ายขึ้น

ใช่ เราเลยใช้มุมมองแบบกราฟิกผสมโฆษณาค่ะ แบบเอาเร็วๆ ย่อๆ สั้นๆ นั่นคือเป็นความตั้งใจเดิม ทีนี้พอทำงานมา รณรงค์กันมาเรื่อยๆ ก็เจอจุดตันว่า เรื่องหนึ่งที่ผู้คนอาจจะจำ Big Trees ได้ก็คือ เรื่องการพยายามทำอย่างไรไม่ให้ต้นไม้ใหญ่โดนตัด ทุกวันนี้ก็รายงานกันมาทุกวัน ทุกจังหวัด ทุกหัวระแหงเลยค่ะว่า ต้นไม้ที่โน่นที่นี่โดนตัด แต่ว่าตัดแย่มาก ตัดหัวกุด

 

ทีนี้ถ้าเราแค่ช่วยกระพือข่าวเฉยๆ หรือร่วมด่าไปกับเขาด้วย แต่มันไม่มีการแก้ปัญหาหรือไม่รู้จะแก้อย่างไร เราก็เริ่มที่จะมารู้จักคนอย่าง อาจารย์เดชา บุญค้ำ และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ หรือพวกสถาปนิกที่เขาเป็นคนควบคุมสถาปนิก เขาเป็นพวกรักสิ่งแวดล้อม และสนใจเรื่องธรรมชาติ ก็เลยมาถึงจุดที่ได้ข้อสรุปว่า เพราะเมืองไทยไม่มีคนที่มีความรู้เรื่องการดูแลตำแหน่งจัดการต้นไม้ใหญ่ คือไม้พุ่มพวกนี้ยังง่าย ยังมีคนทำเป็น เป็นชาวสวนมา แต่พอเป็นต้นไม้ใหญ่มันใช้วิธีดูแลหรือตัดแต่งแบบเดียวกันไม่ได้

 

เลยเริ่มการอบรม เปิดหลักสูตร แต่ถ้าเราทำแบบเล็กๆ เงียบๆ ผลิตคนออกมาทีละ 10 คน สุดท้ายคนพวกนี้เขาอาจจะหายไป ไม่ได้รับการติดต่อกันอีกใช่ไหมคะ เราก็เลยทำ 2 อย่าง คือโปรโมตคำว่า ‘รุกขกร’ ใช้สื่อทุกประเภทนะคะ เรียกง่ายๆ คือสร้างกระแสว่าให้คนรู้จักว่า ‘รุกขกร’ คืออะไร ทำหน้าที่อะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์เดชาทำมา 20 ปีแล้ว แกอบรมหลายที่เลย

 

แต่มันไม่ได้กระจายสื่อในวงกว้างใช่ไหม

มันไม่ได้ออกไปข้างนอกค่ะ เพราะฉะนั้นอันหนึ่งคือ เราพยายามสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ ให้คนเห็นว่า เฮ้ย เราอบรมคนแล้วนะ พอเริ่มออกข่าวสื่อหนึ่ง สื่ออื่นก็ตามมา น้องบางคนออกโทรทัศน์ไปไม่รู้กี่ช่อง ขณะเดียวกันเราก็มาคิดกันว่า ถ้าสมมติเวลาเด็กจบจากมหาวิทยาลัยปีละ 5,000 คน แต่จริงๆ มหาวิทยาลัยเขาไม่ค่อยสนใจหรอกว่า ทั้ง 5,000 คน จะมีงานทำหรือเปล่า แต่สำหรับเราคิดว่า เราอุตส่าห์ปั้นคนพวกนี้ออกมา แต่ถ้าปล่อยให้เขาไปทำอาชีพอื่น จบหลักสูตรที่ทำกับจุฬาฯ กับ อ. เดชา ปรากฏว่าไปทำอาชีพเดิม หรือไม่ได้ใช้งาน มันก็ลืมหมด ก็เลยตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม คือดึงน้องๆ ที่จบมาแต่ละรุ่นเท่าที่เขาสมัครใจตั้งขึ้นมาเป็นบริษัท แต่เป็นบริษัทโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์

 

คือ Urban Tree Care ในความดูแลของ Big Trees อีกทีหนึ่ง

ใช่ค่ะ แต่เหมือนว่าแยกส่วนไปเป็นบริษัทที่รับบริการคือ ให้บริการและมีค่าตอบแทน แล้วคนที่อยู่ในทีมนี้ทำประจำเลย มีเงินเดือนประจำ คือจะไม่ใช่จิตอาสา หรือไม่ใช่เฉพาะวันที่มาทำงานถึงจะได้งาน ตอนนี้ก็มี 10 กว่าคน ทีมนี้ก็เลยเหมือนสายด่วนช่วยเหลือต้นไม้ใหญ่ ทุกวันนี้คือ มีทั้งงานได้ค่าจ้าง กับงานที่เขาขอความช่วยเหลือมา

 

 

จากจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กระจายไปสู่วงกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้เราเดินมาถึงจุดที่มีการก่อตั้งเป็นวิสาหกิจ และดำเนินการสร้างอาชีพรุกขกรเป็นเรื่องเป็นราวในเมืองไทย ผ่านมากี่ปีแล้ว

 

ขึ้นปีที่ 3 สำหรับวิสาหกิจนะคะ และคนที่เป็นรุกขกรในวงการของเมืองไทยก็พูดได้ว่าจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการมันก็เพิ่มตาม ก่อนนี้อาจมีสักไม่เกิน 3 บริษัท หรือ 3 ทีมทั่วประเทศที่รับงานแบบนี้ ตอนนี้น่าจะเพิ่มเป็นสัก 10 แต่ฝั่งคนที่ต้องการ ลูกค้าก็เพิ่มตามค่ะ ตอนนี้ถ้าไปถามทุกทีม เพื่อขอนัดหมายกันวันนี้ ลูกค้าติดต่อมาให้ไปดูและตกลงราคากัน ต้องรอประมาณ 4-5 เดือน ทุกทีมค่ะ

 

ตอนนี้บทบาทของเราเหมือนกลายเป็นหน่วยงานองครักษ์พิทักษ์พื้นที่สีเขียวในเมืองไปในตัว

ตอนนี้เราทำแทนกรมป่าไม้อยู่ค่ะ กรมป่าไม้เขาก็มีทีมนะคะ มีทีมหมอต้นไม้ ทีมรุกขกร แต่เขาก็คนน้อย แล้วเขาก็ต้องเลือกทำงานให้กับพวกอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ คือเขาต้องเน้นของราชการก่อน ฉะนั้นจะติดระเบียบเรื่องไปรับทำตามบ้านไม่ได้ เหมือนเป็นการรับเงินนอก ตอนนี้เรียกว่าแบ่งกัน ถ้าเป็นของราชการที่ต้องติดระเบียบก็จะเป็นกรมป่าไม้ทำ ส่วนเราจะคล้ายๆ ฮอตไลน์ เวลามีทั้งปัญหาและคนที่ต้องการให้ไปบริการหรือช่วยเขา ถ้าทีมเราทำไม่ไหว เราก็จะมีดาต้าเบสว่า มีทีมใครอีก แล้วน้องๆ จะมีไลน์กลุ่มองค์กร ก็จะโยนเข้ากลุ่ม ตอนนี้มีงานนี้นะ ใครว่างบ้าง ก็ช่วยหารายได้ให้กัน

 

ตอนนี้เครือข่ายที่ว่าเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน

ยังไม่เข้มแข็งมากนะคะ แต่ก็มีในเชิงปริมาณเยอะ ก็เพิ่มขึ้นมาพอสมควร อย่างที่เห็นในเฟซบุ๊ก เวลาเขาคุยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเทคนิค ประสบการณ์ หรือเคสที่น่าสนใจ เขาก็จะโพสต์ ฝั่งผู้ปฏิบัติก็มีความเข้าใจมากขึ้น มีเหมือนกับเป็นชุมชนใช่ไหมคะ และคนที่อยากให้ไปช่วยดูแล เขาก็ได้ความรู้ มีความเข้าใจมากขึ้นเยอะ

เราคิดว่า เราอุตส่าห์ปั้นคนพวกนี้ออกมา แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาไปทำอาชีพอื่น หรือไม่ได้ใช้งานมันก็ลืมหมดอย่างนี้ ก็เลยตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม คือดึงน้องๆ แต่ละรุ่นที่จบมาเท่าที่เขาสมัครใจตั้งขึ้นมาเป็นบริษัท แต่เป็นบริษัทโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์

 

นอกจากการให้ความรู้สำหรับบุคคลภายนอกที่สนใจมาเรียนรุกขกรแล้ว กับหน่วยงานอย่างการไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร เราได้ร่วมมือทำความเข้าใจกับตรงนี้อย่างไร

จริงๆ แล้วดีขึ้นเยอะค่ะ กลุ่มแรกนี่คงเป็นกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับความร่วมมือดีขึ้นเยอะ อาจไม่ใช่ 100% คือไม่ใช่ทั้งองค์กร แต่โดยมากแล้วคนที่เข้าใจจะเป็นผู้บริหารที่หัวสมัยใหม่ อายุยังไม่ค่อยเยอะ เปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ในกทม. โดยตรง อย่างคราวนี้ก็มี กทม. มาร่วม 3 คน แล้วทุกครั้งที่มีจัดอบรมก็จะมีคนกทม. มา บางครั้งก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่เขากลับไปทำงานที่เขตเขา หลังจากเขาเรียนเสร็จแล้ว ก็มีโทร.มาตามกันว่า อยากให้เรากลับไปดูว่า ที่เราเปลี่ยนแปลงวิธีผ่าตัดที่เคยสอนมามันโอเคไหม เราก็ไปดูนะคะ แบบดีขึ้นเยอะจริงๆ

 

เรามักพูดกันว่า พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

จริงค่ะ คือเราต่ำที่สุดในอาเซียน รวมถึงเอเชียด้วย ตัวเลขของเรานี่มันประมาณสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร เราประมาณเท่าตะวันออกกลาง น้อยกว่าจีน

 

ถ้าวัดเมืองใหญ่ด้วยกัน กรุงเทพฯ คือต่ำที่สุดเมืองหนึ่งในโลกเลยค่ะ

 

แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ที่จะผลักดันให้ภาครัฐเปิดพื้นที่สวนสาธารณะเพิ่ม เป็นไปได้อย่างไร เพราะในเขตกรุงเทพฯ ที่ดินก็ราคาแพง

อันหนึ่งที่ กทม. เขาทำอยู่และไม่เลวคือ เขาไปหาที่นอกเมือง บางที่เคยเป็นหลุมฝังกลบขยะก็มี บางที่เป็นแก้มลิง พื้นที่รับน้ำ เขาก็ไปออกแบบบริเวณรอบๆ ให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย พวกนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเขาก็ได้กระแสกดดันมาจากประชาชน

 

Big Trees ผ่านมาเป็นปีที่ 7 แล้ว มีแนวคิดอะไรเกี่ยวกับการตัดต้นไม้ที่เราคิดว่าเป็นความเข้าใจผิดที่สุด

คงจะเป็นเรื่องการตัดที่เรียกว่า บั่นยอด คือตัดให้เท่ากันทุกกิ่งมันเสมอกัน ต้นไม้ใหญ่ถ้าตัดบางส่วนทิ้ง มันคือตัดแหล่งอาหารอย่างมหาศาลของต้นไม้ออกไป แล้วในเมื่อมันไม่มีโอกาสอีกแล้วที่ต้นไม้จะแตกกิ่งใหม่ได้ขนาดเท่านั้น คือเป็นการเอาของดีๆ ไปทิ้ง ในขณะเดียวกันพอตัดแบบนั้นต้นไม้มันก็อ่อนไหว วิธีการหาอาหารของมันน้อยลง รากมันก็จะพานหดไปด้วย นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ล้ม

 

คนจะคิดว่า กลัวต้นไม้หัก กลัวกิ่งหัก ดังนั้นต้องเอากิ่งออกให้หมด จริงๆ คือถ้าจะตัดให้ตัดเฉพาะกิ่งที่มีปัญหา เช่น กิ่งมันหนักมาก เหมือนเราแขนใหญ่ไปข้างหนึ่ง เราก็ต้องทำอย่างไรให้มันสมดุลกัน หรือเห็นชัดๆ ว่ากิ่งนี้ผุ พร้อมจะหล่นลงมาทุกเมื่อก็ต้องตัด อย่างที่สามคือ มีโพรงอยู่ที่กิ่งนี้นะ เราก็ตัดเฉพาะจุดที่มันมีโพรง แล้วก็ปิดเสีย แต่ไม่ใช่ว่าตัดให้มันน้อยๆ กิ่งไว้จะได้ไม่ล้ม ซึ่งอันนี้มันจะทำให้ล้มต่อไป

 

เราจัดกิจกรรมฝึกอบรมคนที่อยากเป็นรุกขกรบ่อยแค่ไหน

จัดอบรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ปีหนึ่งก็เกือบสิบครั้ง อย่างอบรมต่อเนื่องยาววันเสาร์-วันอาทิตย์ 6 ครั้ง เป็นการปูพื้นให้เขารู้จักอุปกรณ์ ปีนเป็น ให้เขารู้ตำแหน่งที่ตัด แต่จะยังไม่ชำนาญมาก ต้องยอมเป็นลูกมือไปอีกสักระยะหนึ่ง ค่อยไปตั้งกิจการเอง เดี๋ยวปลายปีเราจะจัดแบบโกอินเตอร์ ใช้วิทยากรจากนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ มาอบรมระดับแนวหน้าของเมืองไทยค่ะ

 

ทุกครั้งเวลาเราเปิดอบรม มันก็พิสูจน์อย่างหนึ่งว่า คนสนใจมากันเต็มจำนวน

ใช่ค่ะ หลักสูตร 20 วัน ตอนนั้นคิดเท่าไร 10,000 บาท กว่าจะหาคนได้ นานมาก เพราะหนึ่งคนก็ไม่อยากจ่าย สอง 20 วันต่อเนื่องวันธรรมดา เขาทำงานประจำมาไม่ได้ ราคาสูงด้วย แต่อย่างหลักสูตรวันนี้ เราคิด 500 บาท เรียน 6 วัน เพราะได้งบสนับสนุน อันนี้เปิด 2 วันเต็มเลย แล้วตอนที่บรรยายตอนเช้าเนี่ยรู้เลยว่า เขาสนใจจริงๆ แทบไม่มีใครหลับ มีแอบสัปหงกนิดหนึ่ง แต่ทั้งห้องนี่คือฟัง ตั้งใจ ถาม มาจากแพร่ กระบี่ ชัยภูมิ ขึ้นรถไฟมา ฉะนั้นมีคนจำนวนมากที่พอเขาเริ่มรู้จักรุกขกร เขารู้แล้วว่ารุกขกรทำอะไร ถ้าเขาไม่อยากเป็นเอง แต่อยากใช้บริการก็มี หรือไม่ก็ส่งคนที่ตัวเองรู้จักมาฝึกอบรม

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising