×

ภูมิใจไทยยื่น กกต. สอบยุบพรรคก้าวไกล ชี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง หลังพบกระบวนการขับปดิพัทธ์อาจไม่ถูกต้อง

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2023
  • LOADING...
ศุภชัย ใจสมุทร

วันนี้ (8 พฤศจิกายน) ศุภชัย ใจสมุทร อดีต สส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลขับ 2 สส. พรรคก้าวไกล ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม. และ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี กรณีการคุกคามทางเพศ ออกจากสมาชิกภาพของพรรค ซึ่งมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลและกฎหมาย โดยการดำเนินการนั้นมีการเปิดเผยทุกกระบวนการ 

 

ศุภชัยระบุว่า กรณีดังกล่าวแตกต่างจากการขับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากพรรคก้าวไกล ดังนั้น ตนจึงได้ยื่นเรื่องถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบการพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลของปดิพัทธ์ว่า พรรคก้าวไกลได้ดำเนินกระบวนการทางวินัยกับปดิพัทธ์ตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลและตามกฎหมายถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ 

 

ทำไมภูมิใจไทยต้องยื่นสอบปมขับปดิพัทธ์

 

ศุภชัยกล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากคำแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล คณะกรรมการบริหารชุดใหม่และผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลได้ประชุมร่วมกัน โดยให้ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคคนใหม่ รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และมีข้อความในแถลงการณ์ว่า ให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล โดยมิได้มีการแถลงว่ามีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 119 วงเล็บใด หรือมีการดำเนินการทางวินัยสมาชิกตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลอย่างไร 

 

ศุภชัยตั้งข้อสังเกต ดังนี้

 

  • ได้มีการริเริ่มกระบวนการพิจารณาทางวินัยสมาชิกพรรคตามข้อ 122 หรือไม่
  • มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบขึ้นเป็นสำนวนคำกล่าวโทษตามข้อ 123 หรือไม่ 
  • ได้เรียกปดิพัทธ์มาให้ถ้อยคำหรือโต้แย้งคำกล่าวโทษตามข้อ 124 หรือไม่ 
  • มีการสรุปข้อเท็จจริงการพิจารณาและเหตุผลในการวินิจฉัยประกอบการทำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินัยสมาชิกพรรคตามข้อ 129-131 หรือไม่ 

 

อีกทั้งยังไม่ปรากฏมติของพรรคก้าวไกลด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (9) 

 

“หากยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวตามข้อบังคับ การดำเนินการของพรรคก้าวไกลยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ปดิพัทธ์ยังคงสภาพเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่อาจไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ และจากแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลชี้แจงในทำนองว่า ปดิพัทธ์ลาออกโดยที่พรรคไม่ได้มีมติขับออกจากพรรคเพราะทำผิดวินัยร้ายแรง จะส่งผลให้สมาชิกภาพความเป็น สส. ของปดิพัทธ์สิ้นสุดลงในทันที” ศุภชัยกล่าว

 

“เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ให้ศาลสั่งยุบพรรค”

 

ศุภชัยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากพรรคก้าวไกลมิได้มีการดำเนินการตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลและกฎหมาย ดังนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการสมคบคิดหรือแสดงเจตนาลวงระหว่างพรรคก้าวไกลกับปดิพัทธ์ อันเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยว่าเพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเจตนา ประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นจริงเสียก่อน

 

“กรณีเป็นความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว ขอท่านได้โปรดยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกลต่อไป” ศุภชัยกล่าว

 

ย้อนปมก้าวไกลขับปดิพัทธ์

 

ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. พิษณุโลก เขต 1 อดีตสังกัดพรรคก้าวไกล ถูกวางตัวเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรภายหลังพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งกว่า 14 ล้านเสียงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทว่าเกมแย่งชิงประธานสภาทำให้เขาตกอยู่ในที่นั่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 

 

ต่อมาหลังพรรคเพื่อไทยปล่อยมือพรรคก้าวไกล จับมือพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อตั้งรัฐบาลสลายขั้ว ทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน และนำมาซึ่งโจทย์ใหม่คือการได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีเงื่อนไขหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือ ต้องไม่มี สส. ของพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา ซึ่งในขณะนั้นพรรคก้าวไกลยังไม่สามารถทำตามเงื่อนไขนี้ได้

 

ในที่สุดวันที่ 28 กันยายน 2566 การประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลและ สส. พรรคก้าวไกล มีมติขับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากสมาชิกพรรค หลังเจ้าตัวยืนยันการนั่งเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ต่อ ส่วนพรรคก้าวไกลก็ระบุว่าจะเป็นได้เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์

 

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ขับปดิพัทธ์ระบุว่า “ที่ประชุมร่วมฯ จึงมีมติว่า ในเมื่อปดิพัทธ์ยังคงยืนยันความประสงค์จะทำงานในฐานะรองประธานสภาต่อ พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของพรรคก้าวไกล ตามบทบัญญัติแห่งข้อบังคับพรรคก้าวไกลและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ได้ อันเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของพรรคหลังจากนี้” ภายหลังการถูกขับออก ปดิพัทธ์จึงเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม ซึ่งจำเป็นต้องหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนด นับจากวันที่ถูกขับออกจากพรรคเดิม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising