×

ธนาคารไทยไปตลาดจีน เพื่อโอกาสหรือความอยู่รอด?

04.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • ลืมภาพเมืองของปลอมที่คุณรู้จัก เพราะ ‘เซินเจิ้น’ วันนี้คือว่าที่ซิลิคอน วัลเลย์ ที่รัฐบาลจีนผลักดันธุรกิจไฮเทคแบบสุดตัว
  • ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าเปิดสำนักงานใหญ่ในประเทศจีน หลังจากที่ได้รับอนุญาตเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น ให้บริการเฉพาะลูกค้าองค์กร ตั้งเป้าทำตลาดลูกค้ารายย่อยอีก 2 ปี
  • ผู้บุกเบิกตลาดจีนแห่งแรกคือธนาคารกรุงเทพ โดยเปิดสำนักงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2552 ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 2 หมื่นล้านบาท

เราเคยนึกถึงประเทศจีนในฐานะดินแดนกว้างใหญ่ ประชากรเยอะ ผลิตสินค้าราคาถูก บางส่วนยังมีภาพจำของการปกครองแบบเผด็จการ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือกระทั่งเรื่องกลยุทธ์การเลียนแบบและพัฒนา (Copy & Development) อยู่บ้าง

 

ความคิดนี้เป็นเรื่องเก่าไปแล้วสำหรับดินแดนพญามังกรที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ แต่เศรษฐกิจเปิดกว้างแบบเสรีนิยม (สไตล์จีน) เรารู้ว่าจีนวันนี้พัฒนาไปมากเพียงใด และทุกสื่อทุกช่องทางต่างก็นำเสนอสิ่งใหม่ๆ จากประเทศนี้ไม่เว้นแต่ละวัน

 

ภาคการเงินมักเคลื่อนไหวเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นเสมอ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยถึง 2 แบรนด์เข้าไปทำธุรกิจในจีนด้วยฐานะธนาคารท้องถิ่นที่ให้บริการครบวงจร ประเด็นคือตลาดนี้ใหญ่และยาก ทำไมถึงยังพยายามเข้าไปให้ได้?

 

 

กสิกรไทยขึ้นแท่นแบงก์ท้องถิ่นจีน จับตลาดลูกค้าองค์กร

ธนาคารกสิกรไทยเปิดบริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งได้รับอนุมัติจากทางการจีนให้เปิดดำเนินการเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารจีน (CBRC) ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนเต็มรูปแบบและแจ้งกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

จุดประสงค์สำคัญคือการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในจีน ด้วยทุนจดทะเบียน 3 พันล้านหยวน หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยถือเองทั้งหมด 100% กรรมการของบริษัทมี 11 คน เป็นคนไทย 7 คน และคนจีน 4 คน มีสาขาที่อยู่ในบริษัทใหม่นี้ คือ สาขาเซินเจิ้น, เฉิงตู, เซี่ยงไฮ้ และสาขาย่อย หลงกั่ง ซึ่งจะให้บริการเฉพาะลูกค้าองค์กรเท่านั้น โดยสัดส่วนเป็นลูกค้าจีน 60% ลูกค้าไทย 30% และลูกค้าชาติอื่นอีก 10%

 

ธนาคารกสิกรไทยจะให้บริการทางการเงินครบวงจรกับทั้งนักลงทุนไทยและจีนเป็นสำคัญ ซึ่งจะจัดการจับคู่ธุรกิจไทย-จีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับลูกค้า และตอกย้ำบทบาทของการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมูลค่าเพิ่มและรายได้จะมากกว่าการเป็นธนาคารแต่เพียงอย่างเดียว

 

สำหรับแผนการต่อยอดธุรกิจสำหรับลูกค้าบุคคลหรือลูกค้ารายย่อย ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าว่าจะเริ่มต้นได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2563 ซึ่งต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติมและอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในขณะนี้

 

 

20 ปียังไม่สาย อีก 2 ปีรุกตลาดรายย่อย ใช้ระบบไอทีเชื่อมการค้า

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มต้นแนวคิดขยายธุรกิจมาในประเทศจีนตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แม้จะใช้เวลาถึง 20 ปีในการดำเนินการกว่าจะได้ ‘Master License’ นี้ ก็ยังมองว่าไม่ได้ช้าจนเกินไป เพราะเดิมไม่ได้คิดเอาไว้แต่แรกว่าการขยายธุรกิจจะใหญ่ในระดับนี้ สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญของธนาคาร คือ การขยายธุรกิจในพื้นที่ AEC+3 นั่นคือประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การรุกตลาดในประเทศจีนจึงถือเป็นก้าวสำคัญและท้าทาย

 

นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนถือว่ามีเสถียรภาพ แม้จะไม่ได้เติบโตอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ถือว่าชะลอตัว และด้วยนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ One Belt, One Road ของจีนที่รุกคืบเข้ามาในพื้นที่อาเซียน จึงมองว่าเป็นจังหวะที่ดีของธนาคารกสิกรไทยที่เชื่อมโยงการค้าในภูมิภาคไว้ด้วยกัน

 

หากพิจารณาภาพรวมการค้าไทย-จีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 นี้ มูลค่าสูงถึง 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาท หากพิจารณาพื้นที่ที่ค้าขายกันนั้นพบว่า มณฑลกวางตุ้งครองสัดส่วนการค้าถึง 25% ที่ 1.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาท พื้นที่จีนตอนใต้นี้จึงมีนัยสำคัญ และที่ผ่านมาทางการไทยก็พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ในจุดนี้ให้เข้มข้นขึ้น

 

ขณะที่เมืองเซินเจิ้นเอง ทางการจีนพยายามผลักดันให้เป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ แห่งเอเชีย ซึ่งเน้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสำคัญ ปัจจุบันมีบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Huawei หรือผู้นำตลาดโดรนของโลกอย่าง DJI ก็ตั้งสำนักงานใหญ่ในเมืองนี้ด้วย จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ธนาคารกสิกรไทยเลือกปักหมุดที่เมืองนี้

 

สำหรับตลาดลูกค้าบุคคลหรือลูกค้ารายย่อย ธนาคารกสิกรไทยมองว่า ไม่จำเป็นต้องขยายสาขาไปทุกพื้นที่ของประเทศจีนซึ่งมีขนาดใหญ่มาก และปัจจุบันระบบไอทีของประเทศจีนนั้นครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เป็นสังคมไร้เงินสดที่ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลักของระบบชำระเงิน จึงไม่จำเป็นต้องติดต่อธนาคารผ่านสาขาเหมือนเมื่อก่อน

 

สิ่งที่สำคัญคือประเทศจีนได้พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและภาคการเงินของประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ระบบของธนาคารจะต้องเชื่อมโยงกับส่วนนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก

 

 

ธนาคารกรุงเทพทำแต้มล่วงหน้าในจีนก่อน 8 ปีแล้ว

แม้จะเป็นก้าวที่ใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยในการรุกประเทศจีน แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยรายแรกที่เปิดเกมนี้ก่อนคือ ธนาคารกรุงเทพ โดยเริ่มต้นเปิดสาขาในประเทศจีนเมื่อปี 2529 และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในฐานะธนาคารท้องถิ่นในชื่อ ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ในเดือนธันวาคม 2552 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และมีสาขาทั้งในเซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เซียะเหมิน, เซินเจิ้น และฉงชิ่ง โดยถือหุ้นสัดส่วน 100% เช่นเดียวกัน

 

บริบทในการเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพเมื่อ 10 ปีก่อนจะแตกต่างออกไป ซึ่งในช่วงเริ่มเปิดเสรีทางการเงินปี 2550 ทางการจีนให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจการเงินในช่วงแรก ธนาคารกรุงเทพจึงรีบเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีลูกค้ากลุ่มไต้หวันของธนาคารเดิมอยู่แล้ว และเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของจีนที่มีเขตการค้าเสรีด้วย โดยสถานะของการเป็นธนาคารท้องถิ่นที่เซี่ยงไฮ้จะทำให้การขยายสาขาไปจุดอื่นในฐานะสาขาย่อยก็ทำได้ง่ายขึ้น

 

หากเปรียบเทียบธุรกิจของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้ดังนี้

 

 

การขยายธุรกิจของแบงก์ยักษ์ใหญ่สัญชาติไทยทั้ง 2 แห่งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของภาคการเงินไทยที่ไม่อาจต้านทานกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการเคลื่อนตัวครั้งใหญ่ของพญามังกรจีนที่รุกคืบโลกทั้งใบผ่านกลยุทธ์เส้นทางสายไหมใหม่ และไม่อาจให้ข้อสรุปได้ว่านี่เป็นการต่อยอดธุรกิจหรือเตรียมตัวตั้งรับเพื่อความอยู่รอดในอนาคตกันแน่ สิ่งที่ชัดเจน คือ ประเทศจีน คนจีน เงินจากจีน จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้ทั้งมิติของเศรษฐกิจและสังคม

 

คำถามที่ถามกันมานานและยังไม่มีคำตอบ คือ เราพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแล้วใช่หรือไม่?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising