×

ธปท. เคาะมาตรการรวมหนี้เข้ากับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลดความกดดันจาก NPL หนุนหุ้นแบงก์บวกวันนี้

โดย SCB WEALTH
28.08.2020
  • LOADING...
หุ้นแบงค์ มาตรการรวมหนี้เข้ากับสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวานนี้ (27 สิงหาคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม โดยให้สามารถนำสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อ (ทั้ง NPL และ Non-NPL) ที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจการเงินเดียวกันมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เฉพาะ Non-NPL) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) โดยลูกหนี้สามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (28 สิงหาคม) ราคาหุ้นธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวขึ้น 1.55%DoD ดีกว่า SET Index ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 0.18%DoD หรือ 2.39 จุด สู่ระดับ 1,329.20 จุด (ข้อมูลราคาปิด ณ เวลา 12.30 น.)

 

  • ราคาหุ้น บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เพิ่มขึ้น 3.17%DoD สู่ระดับ 32.50 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกสิกร (KBANK) เพิ่มขึ้น 2.63%DoD สู่ระดับ 87.75 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) เพิ่มขึ้น 2.15%DoD สู่ระดับ 0.95 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้น 2.06%DoD สู่ระดับ 74.25 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) เพิ่มขึ้น 1.55%DoD สู่ระดับ 9.80 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เพิ่มขึ้น 1.26%DoD สู่ระดับ 40.25 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เพิ่มขึ้น 1.12%DoD สู่ระดับ 68.00 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้น 0.93%DoD สู่ระดับ 108 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 21.50 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 0.59 บาท
  • ราคาหุ้น บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 0.97 บาท

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่ามาตรการนี้จะช่วยลดแรงกดดันต่อทิศทาง NPL ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของกลุ่มธนาคาร 

 

โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของสินเชื่อรวม และสินเชื่อเช่าซื้อคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของสินเชื่อรวม ซึ่งระยะถัดไปคาดว่าจะเห็นการรวมสินเชื่อดังกล่าวเข้ากับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากมาตรการนี้สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้มากขึ้น 

 

โดยสินเชื่อบัตรเครดิตมีเพดานดอกเบี้ยที่ 16% และสินเชื่อส่วนบุคคลมีเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ 24-25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ของ 6 ธนาคารขนาดใหญ่อยู่ที่ 5.75-6.28%

 

ภายหลังจากการรวมสินเชื่อแล้ว SCBS คาดว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อ NIM ราว 35 bps แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ซึ่งจะส่งผลทำให้มูลค่าปัจจุบันของรายได้ดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงมากนักตลอดอายุสัญญา โดย BAY จะเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ต่อ NIM มากสุด เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุดที่ 10% และสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ 23%

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาว SCBS ยังคงมีมุมมองว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-Shape โดยคาดว่ากำไรในปี 2563 จะหดตัวลง 35% เนื่องจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อซึมซับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์แย่ลง 

 

ขณะที่กำไรในปี 2564 จะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2563 และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกำไรในปี 2565 จากการลดการตั้งสำรอง แต่จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลง เพราะอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะปรับขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2566 ที่ทิศทางกำไรจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 (ปี 2562) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการตั้งสำรองที่ลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising