×

บังกลาเทศเร่งอพยพประชาชนกว่าครึ่งล้าน ก่อนไซโคลนโมคาพัดถล่ม

โดย THE STANDARD TEAM
14.05.2023
  • LOADING...
ไซโคลนโมคา

บังกลาเทศเร่งอพยพประชาชนกว่า 500,000 คนไปยังพื้นที่ปลอดภัยในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ก่อนการมาถึงของไซโคลนโมคา (Mocha) ซึ่งคาดว่าอาจเป็นพายุที่มีอานุภาพรุนแรงที่สุดที่พัดถล่มบังกลาเทศในรอบเกือบสองทศวรรษ 

 

ขณะนี้ไซโคลนโมคากำลังมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งบังกลาเทศ-เมียนมา และคาดการณ์ว่าจะพัดขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์ (14 พฤษภาคม) ด้วยกำลังลม 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคลื่นพายุซัดฝั่งสูง 3.6 เมตร 

 

รายงานระบุว่า สนามบินที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่พายุพาดผ่านประกาศปิดทำการ ขณะที่ชาวประมงได้รับคำเตือนให้งดออกจากฝั่ง และมีการตั้งศูนย์พักพิง 1,500 แห่ง 

 

นอกจากนี้ มีความกังวลว่าพายุไซโคลนอาจพัดถล่มค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ซึ่งมีประชากรเกือบล้านคนอาศัยอยู่ ท่ามกลางฝนที่เริ่มตกลงมาแล้วในบริเวณค่าย และมีการชักธงแดงขึ้นเสาเพื่อเตือนภัยพายุ

 

เจ้าหน้าที่ในค็อกซ์บาซาร์เปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัย 1,000 คนถูกพาออกจากพื้นที่หนึ่งในค่ายแล้ว และมีแผนจะเคลื่อนย้ายอีก 8,000 คนจากพื้นที่ใกล้ชายหาดหากสถานการณ์เลวร้ายลง

 

“เราไม่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว” วิภูชาน กันติ ดาส รองผู้บัญชาการของค็อกซ์บาซาร์ กล่าวกับ BBC

 

นักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรมริมชายหาดจะได้รับความปลอดภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินจะเคลื่อนย้ายคนในท้องถิ่น เช่น ชาวประมง และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านหรือที่พักอาศัยที่เปราะบาง 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกือบหนึ่งล้านคนที่หนีภัยมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ในที่พักซึ่งทำจากไม้ไผ่ที่พังง่าย ไม่มั่นคง และมีเพียงหลังคาผ้าใบกันน้ำ ซึ่งไม่น่าจะป้องกันลมแรงและฝนตกหนักได้มากนัก ด้านสหประชาชาติกล่าวว่า กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพื้นที่เหล่านี้

 

รัฐบาลบังกลาเทศไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยออกจากค่าย ผู้ลี้ภัยหลายคนบอกว่าพวกเขารู้สึกหวาดกลัวและไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากที่พักพิงของพวกเขาถูกพายุพัดถล่ม

 

โมฮัมหมัด ราฟิก วัย 40 ปี และครอบครัว อาศัยอยู่ในที่พักไม้ไผ่หลังเล็กๆ ที่สร้างขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัย

 

“สิ่งที่เราทำได้คือสวดอ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยเรา” โมฮัมหมัดกล่าว “เราไม่มีที่ไป และไม่มีใครให้หันไปหา”

 

เขากล่าวเสริมว่า “เราเคยเผชิญกับความยากลำบากมากมายมาก่อน และบ้านของเราเคยถูกทำลายมาแล้วในอดีต เราหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในครั้งนี้”

 

นักพยากรณ์อากาศคาดว่า ไซโคลนโมคาจะทำให้ฝนตกหนัก และอาจทำให้เกิดดินถล่ม ซึ่งจะเป็นอันตรายร้ายแรงสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายที่ตั้งอยู่บนเนินเขา โดยดินถล่มเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ดังกล่าว

 

นพ.ชัมซุล ดูซา จากสำนักงานรัฐบาลบังกลาเทศ ซึ่งดูแลผู้ลี้ภัยและค่ายผู้ลี้ภัย บอกกับ BBC ว่า ทางหน่วยงานกำลังทำงานร่วมกับเอ็นจีโอต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าค่ายผู้ลี้ภัยเตรียมพร้อมรับมือกับไซโคลนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การย้ายผู้ลี้ภัยหลายล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“แผนของเราคือการช่วยชีวิต นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับวันต่อๆ ไปหลังจากนั้น ซึ่งอาจเกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงเช่นกัน”

 

ขณะที่ในเมียนมา อิทธิพลของพายุทำให้เกิดฝนตกเมื่อคืนวันศุกร์ (12 พฤษภาคม) ในเมืองซิตตเว หรือชิตต่วย (Sittwe) เมืองหลวงของรัฐยะไข่ ถนนว่างเปล่า เนื่องจากผู้คนหลบภัยอยู่ในที่พักอาศัย นอกจากนี้มีรายงานว่า ปั๊มน้ำมันปิดให้บริการในวันเสาร์ ทำให้การขับรถออกจากเมืองเป็นเรื่องลำบาก

 

ภาพ: K M Asad / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising