×

ถอดบทเรียนน้ำท่วมปี 2560 กรุงเทพฯ น้ำท่วม 512 ครั้ง 14 ถนน 31 เขตเสี่ยงท่วมซ้ำซาก

23.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จากข้อมูลปี 2560 กทม. มีน้ำท่วมขังทั้งสิ้น 512 ครั้ง ใน 59 ถนน โดยมี 14 ถนน และ 31 เขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
  • รองผู้ว่า กทม. มอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตเร่งจัดทำแผนรับมือน้ำท่วมให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ จากนั้นจะเรียกสำนักงานเขตแต่ละเขตชี้แจงแผนที่เตรียมไว้ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยเฉพาะ 31 เขตที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

 

วันนี้ (23 พ.ย.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแผนเตรียมการป้องกันน้ำท่วม ปี 2561 โดยระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของ กทม. ร่วมวางแผนเตรียมรับมือปัญหาน้ำท่วมปีหน้า โดยถอดบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมในปีนี้เพื่อจัดทำแผนสื่อสารช่วยเหลือประชาชน

 

 

รองผู้ว่า กทม. ยอมรับว่า ปริมาณน้ำฝนที่ กทม. สามารถรองรับได้อยู่ที่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่หากฝนตกมาเกินกว่านี้ต้องยอมรับตามตรงว่าต้องมีพื้นที่ใน กทม. ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังแน่นอน

 

แต่สิ่งที่ต้องทำคือต้องมีแผนรับมือปัญหาน้ำท่วมที่ชัดเจนและทำได้จริงเพื่อแจ้งประชาชนก่อนฝนตก ปัญหาที่ผ่านมาคือประชาชนจะทราบก็ต่อเมื่อฝนตกแล้วเกิดเหตุน้ำท่วม

 

 

แต่แผนบริหารจัดการในปีหน้าที่กำลังจัดทำขึ้น คือ ให้สำนักการระบายน้ำ กทม. และสำนักงานเขตอัพเดตข้อมูลพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เช่น ต้องมีข้อมูลในแต่ละพื้นที่ว่าสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้เท่าไร ระดับน้ำในคลองต่างๆ แต่ละพื้นที่ควรมีเท่าไรจึงจะสามารถรองรับปริมาณฝนได้ รวมถึงสั่งเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งานจริง

 

“แผนต้องลงลึกในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อน จุดซ้ำซากอยู่ช่วงไหน ประชาชนต้องทราบก่อนหน้าฝน” รองผู้ว่า กทม. กล่าว

 

 

จากข้อมูลปี 2560 กทม. มีน้ำท่วมขังทั้งสิ้น 512 ครั้ง ใน 59 ถนน โดยมี 14 ถนนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ได้แก่

  • ถนนพหลโยธิน (เขตบางเขน)
  • ถนนประชาราษฎร์สาย 2 (เขตบางซื่อ)
  • ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงเปรมประชากร ถึงคลองประปา
  • ถนนงามวงศ์วาน ช่วงปากซอยชินเขต
  • ถนนงามวงศ์วาน ช่วงหน้าตลาดอมรพันธุ์และแยกเกษตรศาสตร์
  • ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ จตุจักร
  • ถนนสุวินทวงศ์ บริเวณแยกไปรษณีย์
  • ถนนนครไชยศรี บริเวณหน้าตลาดศรีย่าน
  • ถนนสนามไชย จากซอยเศรษฐการถึงท้ายวัง และรอบสนามหลวง
  • ถนนเจริญกรุง จากถนนแปลงนามถึงแยกหมอมี และถนนเยาวราชถึงถนนราชวงศ์
  • ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่
  • ถนนฉิมพลี-ทุ่งมังกร
  • ถนนเพชรเกษม จากคลองทวีวัฒนาถึงคลองราชมนตรี
  • ถนนบางขุนเทียนชายทะเล จากถนนพระราม 2 ถึง ถนนสะแกงาม

 

 

นอกจากนี้ยังมี 31 เขตที่มีปัญหาน้ำท่วมขังทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ได้แก่ ดินแดง, ภาษีเจริญ, พญาไท, บางแค, บางนา, ห้วยขวาง, คลองเตย, วัฒนา, ราชเทวี, บางเขน, บางกะปิ, บึงกุ่ม, ประเวศ, สัมพันธวงศ์, ตลิ่งชัน, สะพานสูง, สวนหลวง, วังทองหลาง, มีนบุรี, บางซื่อ, จตุจักร, หลักสี่, จอมทอง, บางขุนเทียน, พระนคร, บางกอกน้อย, บางบอน, คลองสาน, สาทร, ดุสิต และลาดพร้าว

 

ทั้งนี้ รองผู้ว่า กทม. มอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตเร่งจัดทำแผนรับมือน้ำท่วมให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ จากนั้นจะเรียกสำนักงานเขตแต่ละเขตชี้แจงแผนที่เตรียมไว้รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยเฉพาะ 31 เขตที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนั้นจะเรียกมาชี้แจงก่อนเป็นรายเขต ส่วนแผนรวมทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์กับประชาชนเตรียมรับมือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน

 

 

นอกจากนี้ กทม. จะทำการลอกคลองทั้ง 83 คลอง ความยาวรวม 1.2 แสนเมตร และลอกท่อในพื้นที่ 3,285 ซอย รวม 2.9 ล้านเมตรให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 ด้วย

 

ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ด้านการระบายน้ำของ กทม. ระหว่างนี้จะทำการบำรุงรักษาให้มีสภาพพร้อมใช้งาน โดย กทม. มีอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหมด 7 แห่ง ส่วนอุโมงค์แห่งที่ 8 คือ อุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อนั้น กทม. ยังไม่ตรวจรับงาน เพราะอยู่ระหว่างให้บริษัทเอกชนผู้ก่อสร้างทดสอบระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าต้องพร้อมใช้งานมากที่สุดก่อนการส่งมอบ ส่วนโครงการ Pipe Jacking ทั้ง 11 โครงการขณะนี้ได้ผู้ดำเนินการแล้ว แต่คาดว่าโครงการจะเสร็จไม่ทันใช้งานในปีหน้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising