×

รู้จัก ‘บาหลี’ ที่มากกว่าทะเล มนตร์เสน่ห์เกาะเล็กๆ กำลังเป็นประตูบานสำคัญต้อนรับนักลงทุน EV จากทุกมุมโลกสู่ ‘อินโดนีเซีย’

25.06.2023
  • LOADING...
บาหลี EV

HIGHLIGHTS

  • ก่อนหน้านี้ ‘บาหลี’ ทำให้นึกถึงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาน แต่บาหลีในวันนี้เป็นจังหวัดเดียวของประเทศอินโดนีเซียที่มุ่งเน้นเปลี่ยนเมืองให้เป็นนครที่ขับเคลื่อนด้วย​​ EV หรือ E-Mobility และจะเป็นโมเดลพิมพ์เขียวที่เมืองอื่นๆ ใช้เป็นต้นแบบ รวมถึงประเทศอาเซียนด้วย
  • จากความสำเร็จของเวทีประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำ G20 เมื่อปลายปี 2565 บรรดาผู้นำประเทศมหาอำนาจลงนามสัตยาบันแผนปฏิบัติการ E-Mobility ทำให้อินโดนีเซียเริ่มขยายผลการลงทุน สร้างแรงจูงใจดึงดูดผู้เล่นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่รายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยจุดเด่นความพร้อมด้านทรัพยากรแร่นิกเกิล
  • และล่าสุด องค์กรชั้นนำ 6 แห่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงนามสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกของอาเซียน

ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา THE STANDARD WEALTH มีโอกาสเดินทางไปร่วมการประชุมด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในงาน 1st ASEAN Battery and Electric Vehicle Technology Conference ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

 

ทันทีที่ถึงสนามบิน Ngurah Rai International Airport ก็มองเห็นบรรยากาศรายล้อมไปด้วยธรรมชาติสีเขียว สลับกับรถรา กลุ่มนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เช็กอินที่เกาะบาหลีกันอย่างคึกคัก

 

รู้จักบาหลีที่มากกว่าทะเล

บาหลี (Bali) 1 ใน 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย และอาจเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ว่ากันว่าก่อนถึงอินโดนีเซียต้องผ่านเกาะบาหลี ถือเป็นเกาะในฝันที่ไม่ได้มีดีแค่ทะเลอย่างเดียว แต่ยังรายล้อมไปด้วยประชากร 3 ล้านคน ศิลปะ วัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิต ศาสนา อาหาร ทะเลสาบ ภูเขาไฟ นาขั้นบันได ระบำบารอง ผ้าบาติก ธรรมชาติโอบล้อมเมืองสีเขียว ซึ่งเป็นไฮไลต์ของเกาะบาหลีที่กำลังพัฒนาให้เป็นเมืองที่ใช้พลังงานสะอาด

 

โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้า ​​(EV) และที่น่าสนใจคือ บาหลีเป็นจังหวัดเดียวในอินโดนีเซียที่มีการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า E-Mobility โดยยกเป็นโมเดลและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค เพราะฉะนั้นไม่ว่านักท่องเที่ยวจะมากขึ้นเท่าไร รัฐบาลก็ต้องทำให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

บาหลีในวันนี้จึงเป็นมากกว่าทะเล โดยขยับสถานะขึ้นมาเป็นประตูบานใหญ่เปิดรับนักลงทุนเข้าสู่ประเทศ ทั้งเพื่อพักผ่อนและประชุม-สัมมนาในเวลาเดียวกัน นับจากที่โควิดระบาด เกาะแห่งนี้ก็มีโปรเจกต์ดึงดูดเศรษฐกิจด้วย Work from Bali ที่กระตุ้นให้ทุกคนมาทำงานในเมืองธรรมชาติ ตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยววิถีใหม่ ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองอื่นๆ และอาจหมายรวมไปถึงการดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาอินโดนีเซียมากขึ้น

 

Samsi Gunarta หัวหน้าส่วนราชการสำนักงานขนส่งท้องถิ่นของบาหลี อธิบายถึงที่มาที่ไปของแผนพัฒนาเมืองกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หนึ่งโมเดลความสำเร็จที่ภาคภูมิใจในการยกระดับยานยนต์ EV คือบาหลีมีแผนปฏิบัติการ E-Mobility ที่เริ่มกระตุ้นให้คนตระหนักจากในระดับภูมิภาคไปสู่ระดับประเทศ

 

“เราใช้ระบบการติดตามตรวจสอบเพื่อกระตุ้นประชาชนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และออกแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้ทุน ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ และผู้มีบทบาทอื่นที่ไม่ใช่รัฐ ในการผลักดัน” Samsi กล่าว

 

ปัจจุบันจำนวนยานพาหนะในบาหลีแบ่งออกเป็นรถจักรยานยนต์ 4,460,158 คัน รถยนต์ 482,372 คัน ซึ่งการพึ่งพายานพาหนะส่วนตัวทำให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น สิ่งแวดล้อมและความแออัด ที่ในขณะนี้จำนวนยานพาหนะส่วนตัว (รถจักรยานยนต์และรถยนต์) มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของบาหลี

 

ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้รถจักรยานยนต์จากในประเทศที่มีทั้งหมดกว่า 120 ล้านคัน โดยมากกว่า 4 ล้านคัน กระจุกอยู่ที่บาหลี และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ EV

 

หลังจากที่แผนปฏิบัติการ E-Mobility ขยายวงกว้าง ทำให้แนวโน้มรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในบาหลีเติบโต เพราะจำนวนยานพาหนะไฟฟ้าในบาหลีมีค่าเฉลี่ยเป็นรายไตรมาส ด้วยอัตราการเติบโต 30.12% ขณะที่อัตราการเติบโตสูงสุดเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โดยจำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศทั้งหมดกว่า 120 ล้านคัน มากกว่า 4 ล้านคันที่เป็น EV กระจุกอยู่ที่บาหลี

 

แผนปฏิบัติการ E-Mobility จังหวัดบาหลี ใช้ระบบการติดตามเพื่อกระตุ้นเริ่มต้นจากคนในท้องถิ่นให้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และออกแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้ทุน ภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ และผู้มีบทบาทอื่นที่ไม่ใช่รัฐ ร่วมกันผลักดัน

 

บาหลีโดดเด่นด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้อย่างไร

ทราบกันดีว่ากลางปี 2565 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อร่วมประชุมผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียนสมัยพิเศษ ในครั้งนั้นเขาได้พบกับ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Tesla จึงได้เชิญมาเยือนอินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากนั้นอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจใหญ่สุด 20 ประเทศ (G20) ที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565

 

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ต้อนรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ G20 ซึ่งการมาเยือนบาหลีของไบเดนครั้งนั้นได้พบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน เป็นครั้งแรก ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลก

 

การประชุมดังกล่าวถือเป็นเวทีที่สปอตไลต์ส่องไปยังประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ทำให้เนื้อหอมขึ้นมาทันตา เพราะเขาได้หารือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย เพื่อการจัดหาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แน่นอนว่าแร่นิกเกิลเป็นทรัพยากรที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างมองหา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายค่ายรถเริ่มเข้ามาตั้งฐานผลิตในอินโดนีเซีย และสัญญาณการย้ายฐานผลิตของข่าวลือ Isuzu ที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นข้อเตือนใจว่าใครก็ตามที่ต้องการสร้างจุดยืนในอุตสาหกรรม EV ไม่สามารถประมาทอินโดนีเซียได้

 

ในการต้อนรับผู้นำ G20 ที่บาหลี โจโก วิโดโด พยายามแสดงเชิงสัญลักษณ์ใหม่ของ ‘อินโดนีเซีย’ ที่พร้อมจะเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลก ผ่านการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถจากจีน Wuling Air EV และ Ioniq 5 แบรนด์ลูก Hyundai จากเกาหลีใต้ ใช้เป็นพาหนะที่ใช้เดินทางของผู้นำ G20 ตลอดการประชุม และบาหลีก็ได้สร้างจุดชาร์จมากกว่า 25 จุด เพื่อรองรับการขนส่ง โดยแบ่งออกเป็นสถานีชาร์จขนาดกลาง 25 กิโลวัตต์ สถานีชาร์จขนาดกลาง 50 กิโลวัตต์ และ Ultra Fast Charging การชาร์จแบบเร็ว 200 กิโลวัตต์ รอบเมือง

 

อินโดนีเซียขนทัพรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 6,000 คัน นำโดย Wuling Air EV ออกมาต้อนรับผู้นำ G20 เรียกได้ว่าเป็นการประกาศศักดาเชิงสัญลักษณ์ในการพร้อมเป็น ‘ฮับ EV ของอาเซียน’  

 

บาหลีจึงใช้โอกาสของแผนพัฒนา E-Mobility นำไปสู่แผนระดับชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียที่มุ่งสู่การขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า โดยบรรจุเป็นกฎหมายผ่านกฤษฎีกาผู้ว่าการ ฉบับที่ 787 ปี 2565 ตามแผนของประธานาธิบดี เป็นข้อบังคับที่มีชื่อว่า ‘Bali E-Mobility’ ในที่สุด ขณะเดียวกันบาหลีตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการประกาศนโยบายต่างๆ เช่น การห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่ไปด้วย

 

กลยุทธ์นี้จะทำหน้าที่เร่งความเร็วของการเติบโตของระบบนิเวศอุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้าของบาหลีและของประเทศ

 

บริษัทระดับโลกรายใดบ้างปักธงอินโดนีเซีย

จากแผน E-Mobility บาหลี ทำให้อินโดนีเซียเริ่มเนื้อหอมและเข้าสู่บรรยากาศการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้จึงเห็นการลงทุนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโตโยต้า จากญี่ปุ่น บริษัทแอมเพอเร็กซ์ ประกาศแผนลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ต่อเนื่อง รวมถึง LG Energy Solutions ของเกาหลีใต้ กำลังสร้างโรงงานแบตเตอรี่ร่วมกับ Hyundai Motor โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 นอกจากนี้ยังมี CATL จากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV รายใหญ่ที่สุดในโลก ก็วางแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ ภายหลังจาก SAIC, GM และ Wuling ของจีนเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียในปี 2565 รวมถึง Tesla และ BYD ที่ต้องรอลุ้น

 

ด้วยมาตรการดึงดูดที่อินโดนีเซียมี การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายของรัฐบาล ทั้งการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในบางรุ่นจาก 11% เป็น 1% ซึ่งเริ่มในเดือนเมษายน และรัฐบาลตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการผลิตในประเทศพร้อมกับการขายไปด้วย โดยจำกัดสิทธิ์ไว้ที่รถยนต์ 1 คันที่ทำจากส่วนประกอบในประเทศอย่างน้อย 40%

 

อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เริ่มแบนการส่งออกนิกเกิลดิบเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนแปรรูปและผลิตนิกเกิลในอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่ากฎเหล็กที่อินโดนีเซียมีไว้ต่อรองนั้นก็เพื่อดึงเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศ และมุ่งเน้นการลงทุนสร้างเม็ดเงินเพื่อคนในท้องถิ่นที่มีค่าแรงค่อนข้างถูกกว่าแรงงานไทย บวกกับประชากรที่มาก ทำให้ตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่ แม้ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศก็ตาม

 

ขณะที่ยอดขาย EV ในอินโดนีเซีย ปี 2565 ยังอยู่ที่ 15,437 คัน จากภาพรวมรถยนต์ในอินโดนีเซีย 120 ล้านคัน และเป็นสองล้อ 20 กว่าล้านคัน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 (เดือนมกราคม-มีนาคม) ปี 2566 มียอดขายสูงถึง 1,800 คัน (เพิ่มขึ้นประมาณ 2,700% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565) โดย ‘รถยนต์ไฟฟ้า BEV’ ที่ขายดีที่สุดคือ Hyundai Ioniq 5 Signature Extended ด้วยจำนวนขายส่ง 886 คัน แซงหน้า Wuling Air EV Long Range ซึ่งเคยครองตลาดในปี 2565

 

อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบแหล่งแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลกถึง 22 ล้านตัน ขุมทรัพยากรธรรมชาติชิ้นนี้คิดเป็น 52% ของแหล่งแร่นิกเกิลทั่วโลก

 

อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบเป็นแหล่งแร่นิกเกิลสำหรับแบตเตอรี่

ยศพงษ์ ลออนวล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ฉายภาพให้ THE STANDARD WEALTH เห็นถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระหว่างไทยและอินโดนีเซียว่า ณ วันนี้ยังมีความเเตกต่างเรื่องของตลาด โดยอินโดนีเซียเน้นมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนกว่า 120 ล้านคัน มีบริษัทนำเข้ามาทำแบรนด์ของตัวเองกว่า 30 บริษัท เช่น Gojek ที่เหลือจะเน้นการลงทุนจากท้องถิ่น ส่วนประเทศไทยเน้นทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ และอย่างที่ทุกคนทราบ อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบเป็นแหล่งแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลกถึง 22 ล้านตัน ขุมทรัพยากรธรรมชาติชิ้นนี้คิดเป็น 52% ของแหล่งแร่นิกเกิลทั่วโลก และถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นในบรรดาประเทศอาเซียน อินโดนีเซียจึงกำลังเนื้อหอมมากเป็นพิเศษ

 

ขณะที่นโยบายไทยจะเน้น 3 เรื่องหลัก คือ เพื่อลดมลพิษ ลดการปล่อยคาร์บอน และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve

 

อย่างไรก็ตาม ที่น่าจับตามองสเต็ปถัดไปคือแนวทางการกำหนดมาตรฐานแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้นการหารือร่วมกันในกลุ่มอาเซียนก็เพื่อสร้างโมเดลเปลี่ยนแบต (Swapping) นำไปสู่การผลักดันอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันเชิงวิชาการ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับใช้ ในเชิงประเทศก็เป็นเรื่องของการแข่งขันด้วยในคราวเดียวกัน

 

6 สมาคมอาเซียนลงนามความร่วมมือในการประชุมคอนเฟอเรนซ์ครั้งใหญ่ด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน ครั้งที่ 1 (ABEVTC) ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

 

เพราะอาเซียนเป็นตลาดยานยนต์ EV ขนาดใหญ่

Kenneth Soh หัวหน้าหน่วยพัฒนาธุรกิจระดับโลก Hioki E.E Corporation เล่าถึงความสำคัญถึงการประชุมครั้งนี้ว่า นอกจากจะบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 6 สมาคม ได้แก่ กลุ่มความร่วมมือด้านแบตเตอรี่แห่งสิงคโปร์ (SBC), ศูนย์เทคโนโลยีการขนส่งที่ยั่งยืนแห่งชาติ ประเทศอินโดนีเซีย (NCSTT), สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA), สถาบันวิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติ ประเทศอินโดนีเซีย (NBRI), องค์กรนาโนมาเลเซีย เบอร์แฮด และสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งฟิลิปปินส์ (EVAP) ยังให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อขยายความสามารถด้าน EV การวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แห่งภูมิภาค และมุ่งมั่นต่อการพัฒนาการประสานความร่วมมือระหว่างผู้เล่นต่างๆ ในอุตสาหกรรมให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นต่อไป

 

“การพบกันทั้ง 6 สมาคม ไม่ใช่เรื่องง่าย อนาคตเราจะเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม EV และแบตเตอรี่ มาร่วมกันส่งเสริม ผลักดัน ระหว่างประเทศอาเซียน เพราะอาเซียนเป็นตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ํามันขับเคลื่อนคิดเป็น 40% ของยานพาหนะทั้งหมดทั่วโลก”

 

ด้าน Rer. Nat. Evvy Kartini ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติ (NBRI) กล่าวว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สูง ด้วยการมีแหล่งแร่นิกเกิล แมงกานีส และแร่อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ ดังนั้นสถาบันวิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติ (NBRI) จะประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในอาเซียน ยกระดับอินโดนีเซียในฐานะของผู้เล่นหลักในตลาดแบตเตอรี่ในภูมิภาคนี้ให้มีการขยับขับเคลื่อนไปมากยิ่งขึ้น

 

ขณะที่ Hirotaka Uchida ผู้อำนวยการใหญ่ด้านยานยนต์และโรงปฏิบัติการบริษัท Arthur D. Little ประจำประเทศไทย มองว่าอาเซียนมีความเหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางด้าน EV จากปัจจัยทั้ง 3 ด้าน คือ

  1. อาเซียนไม่มีปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์
  2. อาเซียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูง
  3. อาเซียนเป็นตลาดรถสองล้อที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซีย ที่สามารถสร้างแบรนด์รถ EV ของตัวเองได้ประสบความสำเร็จ

 

“นโยบายการลงทุนของอินโดนีเซียค่อนข้างโดดเด่น ที่ตั้งเงื่อนไขให้บริษัทต่างชาติต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นเท่านั้น ตรงนี้อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อเทียบกับไทยที่มีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า บางรายจึงเลือกไปอินโดนีเซียและบางรายก็เลือกที่จะลงทุนในประเทศไทย”

 

จากข้อมูลข้างต้น นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมไทยไม่ควรชะล่าใจกับอินโดนีเซีย และไทยจะยึดจุดแข็งอะไรต่อไปบนสมรภูมิ EV

 

แม้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์มานานหลายทศวรรษ จนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ แต่ไทยอาจกำลังจะเสียตำแหน่งนี้ให้อินโดนีเซียในไม่ช้า เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า

 

การปั้นเมือง EV ของบาหลี และแรงจูงใจต่างๆ เหล่านี้ กำลังเป็นกลยุทธ์ที่ผลักดันให้อินโดนีเซียกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในเวลานี้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising