×

จากคำประกาศ ‘บัลโฟร์’ ถึง ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ ส่องแผนสันติภาพทรัมป์ที่อาจเขย่าสันติภาพตะวันออกกลาง

13.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 MINS. READ
  • หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declaration) ของอังกฤษมีเนื้อหาเห็นชอบให้ชาวยิวตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ตามความต้องการขององค์กรไซออนิสต์ จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์เจ้าของดินแดน อาจกล่าวได้ว่าคำประกาศดังกล่าวที่มีความยาวเพียงหนึ่งหน้ากระดาษหรือ 67 คำ กลายเป็นเชื้อเพลิงความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์มายาวนานนับศตวรรษ
  • เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2020 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งระบุว่าเป็น ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ โดยยืนยันว่าแผนนี้ตั้งอยู่บนสูตรการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (Two-state Solutions) ที่ใช้ได้จริงและสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
  • แต่แผนนี้ยังยืนยันว่าเยรูซาเลมคือเมืองหลวงของอิสราเอลที่แบ่งแยกไม่ได้ แน่นอนว่าถูกปฏิเสธโดยประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ โดยเขาระบุว่า “เป็นแผนการสมรู้ร่วมคิดที่เกิดขึ้นมาจากความอคติของผู้นำสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล” พร้อมยืนยันว่าตนจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่าตัวเขาเป็นผู้ยกกรุงเยรูซาเลมที่ถูกยึดครองให้กับอิสราเอล 

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สัญญาไว้ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งคือการสนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส เคยให้สัมภาษณ์ CNN ก่อนปราศรัยหาเสียงต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอล (American Israel Public Affairs Committee – AIPAC) ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ ว่า “ตัวเขามีความรักและสนับสนุนอิสราเอลมาตลอดชีวิต ไม่มีใครสนับสนุนอิสราเอลมากเท่าเขาอีกแล้ว เราต้องปกป้องอิสราเอล เพราะอิสราเอลสำคัญกับเรามาก” 

 

หลังชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ทรัมป์ไม่เพียงแต่ได้ทำตามที่สัญญาไว้กับอิสราเอล นั่นคือการย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังนครเยรูซาเลมเท่านั้น แต่ยังดำเนินนโยบายอื่นๆ อีกมากมายที่แสดงถึงการสนับสนุนอิสราเอลอย่างที่สุด 

 

ทรัมป์กล่าวในระหว่างต้อนรับการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2017 ว่า “สหรัฐฯ กับอิสราเอลจะไม่มีวันแยกออกจากกัน และให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะไม่มีวันปล่อยให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด” 

 

ต่อมาสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ทำในสมัย บารัก โอบามา นอกจากนี้ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลในอีกหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (UNHRC) และจะจับตาพฤติกรรมของ UNHRC เพราะมองว่าพยายามผ่านร่างมติที่ต่อต้านอิสราเอล 

 

การประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกยูเนสโก (UNESCO) ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง เพราะองค์การดังกล่าวเคยประณามอิสราเอลที่ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออก ยิ่งไปกว่านั้นยูเนสโกยังได้กำหนดให้พื้นที่เมืองเก่าเฮบรอนเป็นแหล่งมรดกโลกของปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลอ้างว่าเท่ากับปฏิเสธประวัติศาสตร์ของชาวยิว สำคัญที่สุดคือการที่ยูเนสโกโหวตรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกลำดับที่ 195 ตั้งแต่ปี 2011 

 

แม้สหรัฐฯ จะถูกวิจารณ์และถูกมองว่าหมดความน่าเชื่อถือในฐานะตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ไปแล้ว หลังจากรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ หรือข้อตกลงในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ผ่านๆ มาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยเฉพาะข้อตกลงออสโล ปี 1993 และ 1995 แต่ทรัมป์ก็ยังคงแสดงบทบาทในกระบวนการแก้ไขข้อพิพาทนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวปาเลสไตน์

 

หลังทรัมป์ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นของอิสราเอล ซึ่งเป็นมาตรการฝ่ายเดียวและไม่ต่างจากการปิดประตูของการกลับมาสานต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง (หลังจากหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2014) มีกระแสข่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าทรัมป์เตรียมเปิดตัว ‘แผนสันติภาพใหม่’ หรือที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ (Deal of the Century) แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุที่ทรัมป์ต้องเลื่อนการเปิดเผยแผนการดังกล่าวมาเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะปัญหาการเลือกตั้งของอิสราเอลที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้งในปี 2109 ซึ่งปรากฏว่ายังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ จนต้องมีการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

 

จนกระทั่งวันที่ 28 มกราคม 2020 ที่ทำเนียบขาว ทรัมป์ได้แถลงเปิดเผยแผนการดังกล่าว โดยยืนยันว่า “แผนของเขาตั้งอยู่บนสูตรการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (Two-state Solutions) ที่ใช้ได้จริงและสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และนี่เป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับชาวปาเลสไตน์แล้ว” ที่สำคัญคือทรัมป์ระบุชัดว่าในแผนนี้ “เยรูซาเลมคือเมืองหลวงของอิสราเอลที่แบ่งแยกไม่ได้” 

 

ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ปฏิเสธแผนสันติภาพครั้งใหม่นี้และกล่าวว่า “เป็นแผนการสมรู้ร่วมคิดที่เกิดขึ้นมาจากความอคติของผู้นำสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล” โดยยืนยันว่าเขาจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่าตัวเขาเป็นผู้ยกกรุงเยรูซาเลมที่ถูกยึดครองให้กับอิสราเอล

 

ก่อนจะดูรายละเอียดของข้อตกลงแห่งศตวรรษ ผู้เขียนขอกล่าวถึงที่มาที่ไปของปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอลและกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา ตลอดจนบทบาทของสหรัฐฯ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดกระแสต่อต้านข้อตกลงดังกล่าว

 

 

 

คำประกาศบัลโฟร์ อังกฤษผิดสัญญาอาหรับ ยกดินแดนปาเลสไตน์ให้ชาวยิวและขบวนการไซออนิสต์ตั้งรัฐใหม่
หากจะย้อนรอยรากเหง้าปัญหาการตั้งรัฐอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ อาจต้องกล่าวย้อนไปถึงข้อสัญญาหนึ่งในปี 1915 ระหว่าง เซอร์ เฮนรี แม็กมาฮอน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอียิปต์ กับชารีฟ ฮุสเซน ซึ่งเป็นผู้ครองแคว้นฮิญาซ (ซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน) และเป็นตัวแทนของชาวอาหรับในขณะนั้น ทั้งสองมีการส่งจดหมายถึงกันที่เรียกว่า ‘McMahon–Hussein Correspondence’ โดยแม็กมาฮอนขอให้ชาวอาหรับร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อสู้กับฝ่ายอักษะที่มีอาณาจักรออตโตมันปกครองตะวันออกกลางในขณะนั้นร่วมอยู่ด้วย อังกฤษสัญญาว่าถ้าสงครามสิ้นสุดจะให้เอกราชกับชาวอาหรับในดินแดนต่างๆ รวมทั้งปาเลสไตน์ด้วย จึงเป็นที่มาของข้อตกลงแองโกล-อาหรับที่ทำขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ปี 1915 

 

แต่สุดท้ายเมื่ออาหรับให้ความร่วมมือกับอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยการก่อกบฏต่อต้านอาณาจักรออตโตมันจนล่มสลาย อังกฤษในขณะนั้นกลับไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้ โดยเฉพาะกรณีของปาเลสไตน์ เพราะก่อนหน้าที่อังกฤษจะทำข้อตกลงกับฮุสเซน อังกฤษก็ไปทำข้อตกลงหรือข้อแลกเปลี่ยนกับนายทุนและแกนนำขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) ในยุโรปไว้ด้วย เพื่อให้กลุ่มชาวยิวและนักเคมีที่เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดสนับสนุนอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสัญญาจะยกดินแดนบางส่วนของปาเลสไตน์เพื่อให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานสำหรับชาวยิว ทั้งนี้อังกฤษได้ขอให้ ไฮม์ ไวซ์มันน์ ซึ่งเป็นนักเคมีชาวยิวผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด และเป็นผู้คิดค้นดินระเบิดประสิทธิภาพสูงที่หาได้ง่ายและสามารถผลิตได้เองมาช่วยอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไวซ์มันน์ถือเป็นสมาชิกกลุ่มไซออนิสต์คนสำคัญ เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานไซออนิสต์โลก 2 สมัย เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกระทรวงทหารเรือของอังกฤษ (ปี 1916-1919) ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอล

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษเรียกว่า ‘ปาเลสไตน์ในอาณัติ’ (Mandatory Palestine) ในปี 1917 รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ ได้ทำจดหมายถึง ลอร์ด รอธส์ไชล์ด ผู้นำชาวยิวและนายทุนคนสำคัญของอังกฤษ โดยความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์และคณะรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งเรียกว่าบัลโฟร์ (Balfour Declaration) มีสาระสำคัญคือการที่อังกฤษเห็นชอบในการตั้งถิ่นฐานสำหรับชาวยิวขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ตามความต้องการขององค์กรไซออนิสต์ จากนั้นอังกฤษก็สนับสนุนให้ชาวยิวในยุโรปอพยพเข้าไปอยู่ในปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์เจ้าของดินแดน คำประกาศบัลโฟร์ที่มีความยาวเพียงหนึ่งหน้ากระดาษหรือ 67 คำ กลายเป็นเชื้อเพลิงความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์มายาวนานนับศตวรรษ

 

จนถึงปี 1947 ท่ามกลางความโกรธแค้นของชาวปาเลสไตน์และโลกมุสลิม ปรากฏว่ามีประชากรยิวในปาเลสไตน์แล้ว 6 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด ซึ่งในปีเดียวกันนี้ องค์การสหประชาชาติมีมติแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้เป็น 2 ส่วน กล่าวคือเป็นรัฐอาหรับและรัฐอิสราเอล โดยให้เยรูซาเลมเป็นเมืองสากล (International City) ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพิเศษ โดยไม่ถามความยินยอมจากชาวปาเลสไตน์เลย ซึ่งถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับหลักการกำหนดใจตนเอง 

 

ต่อมาในปี 1948 ซึ่งเป็นปีแห่งการสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ก็เกิดสงครามขึ้นระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ทำให้เยรูซาเลมถูกแยกเป็นสองส่วนภายใต้เส้นพักรบ (Armistice Border) โดยเยรูซาเลมฝั่งตะวันตกอยู่ในเขตของอิสราเอล ส่วนเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกรวมทั้งเขตเมืองเก่าอยู่ในความดูแลของจอร์แดน 

 

แนวเส้นเขตแดนถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังสงคราม 6 วันในปี 1967 ระหว่างอาหรับ-อิสราเอล ทำให้อิสราเอลเข้ายึดครองเยรูซาเลมตะวันออกด้วยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ชาวปาเลสไตน์และหลายประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับ แม้ตอนนั้นหลายประเทศจะมีสถานทูตอยู่ในเยรูซาเลมก็ตาม โดยมองว่าเยรูซาเลมตะวันออกควรเป็นเมืองหลวงในอนาคตของรัฐปาเลสไตน์

 

อิสราเอลและสหรัฐฯ กับเส้นทางครอบครองเยรูซาเลม
ปี 1980 อิสราเอลพยายามยกระดับสถานะเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลด้วยการผ่านกฎหมาย ‘Jerusalem Law’ มีสาระสำคัญคือประกาศให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ต่อมาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ตอบโต้ด้วยการออกมติประณามการควบรวมเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ จากนั้นทุกประเทศก็ทยอยย้ายสถานทูตของตัวเองออกจากเยรูซาเลมไปยังกรุงเทลอาวีฟหรือพื้นที่ใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม บางประเทศยังคงมีสถานกงสุลในเยรูซาเลมตะวันตก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีสถานกงสุลในเยรูซาเลมตะวันออก ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีประเทศใดยอมรับให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

 

สถานทูตสหรัฐฯในอิสราเอลตั้งอยู่ที่กรุงเทลอาวีฟมาตั้งแต่แรก ไม่เคยอยู่ในเยรูซาเลมมาก่อน แม้อิสราเอลต้องการให้สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตมายังเยรูซาเลมก็ตาม จนกระทั่งในปี 1989 อิสราเอลได้ให้สหรัฐฯ เช่าที่ดินแห่งหนึ่งในเยรูซาเลมเพื่อให้เป็นที่ตั้งสถานทูตแห่งใหม่ในอนาคต โดยทำสัญญาเช่า 99 ปี คิดค่าเช่าเพียงปีละ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง

 

ในปี 1995 อิสราเอลรู้สึกมีความหวังมากขึ้นเมื่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้สหรัฐฯ ต้องย้ายสถานทูตจากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม เรียกว่า ‘Jerusalem Embassy Act 1995’ โดยผู้ที่สนับสนุนกฎหมายนี้ชี้ว่าสหรัฐฯ ควรเคารพการตัดสินใจของอิสราเอลที่เลือกเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนตั้งแต่ บิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช, และบารัก โอบามา ต่างลงนามคำสั่งงดเว้นกฎหมายนี้มาทุกๆ 6 เดือนเพื่อเลื่อนดำเนินการย้ายสถานทูตมาตลอด โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ

 

พอมาในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งว่าจะย้ายสถานทูตไปยังเยรูซาเลม ในที่สุดเขาก็ทำตามสัญญาโดยประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2017 พร้อมกับสั่งให้เริ่มดำเนินการย้ายสถานทูตเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายปี 1995 โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2018 ตรงกับวันก่อตั้งรัฐอิสราเอลบนแผ่นดินปาเลสไตน์ (14 พฤษภาคม 1948) ซึ่งเป็นวันที่ชาวปาเลสไตน์กว่า 7.5 แสนคนถูกขับออกจากแผ่นดินของตัวเอง พวกเขาเรียกวันนี้ว่าวันหายนะหรือ ‘วันนักบา’ (Nakba Day) การเลือกพิธีเปิดในวันนี้ยิ่งสร้างความไม่พอใจและความโกรธแค้นให้กับชาวปาเลสไตน์เป็นอย่างมาก และเป็นการท้าทายประชาคมโลกรวมถึงองค์การสหประชาชาติที่คัดค้านการดำเนินการดังกล่าว 

 

ทรัมป์ยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำ “เป็นแนวทางเชิงรุกแบบใหม่ เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯ หลายคนต่างประวิงเวลาและเลื่อนการย้ายสถานทูตมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้กระบวนการสันติภาพคืบหน้าไปได้ แต่จนถึงขณะนี้ข้อตกลงสันติภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย เขาจึงต้องใช้วิธีการใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ” แน่นอนว่ามีกระแสต่อต้านมากมายจากประชาคมโลก โดยเฉพาะ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่ย้ำว่า “แถลงการณ์ของทรัมป์เป็นอันตรายต่อสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และสถานะสุดท้ายของเยรูซาเลมต้องแก้ไขผ่านการเจรจาโดยตรงระหว่างคู่กรณีเท่านั้น”

 

เมื่อประเด็นปัญหาถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยมีการร่างมติที่เสนอโดยอียิปต์ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญว่า “การตัดสินใจหรือการกระทำใดๆ ที่เปลี่ยนแปลงสถานะ ลักษณะ หรือองค์ประกอบของประชากรแห่งนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลม ถือว่าไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นโมฆะ และจะต้องถูกยกเลิก” และ “ขอเรียกร้องให้ทุกชาติงดเว้นไม่ประจำการคณะทูตในนครเยรูซาเลมตามมติที่ 478 ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งออกมาเมื่อปี 1980” ผลปรากฏว่าคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 14 ชาติต่างออกเสียงสนับสนุน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถผ่านร่างนี้ได้ เพราะสหรัฐฯ ใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) 

 

เรื่องนี้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติอีกครั้ง โดยมีวาระเพื่อสนับสนุนร่างมติเรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิกถอนการรับรองกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ทำให้การตัดสินใจของสหรัฐฯ เป็นโมฆะ ทั้งนี้เป็นมติที่ไม่มีผลผูกพัน 

 

แม้ทรัมป์จะขู่ตัดความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่ออกเสียงหนุนร่างมตินี้ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะมติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก 128 ประเทศ รวมทั้งเสียงจากประเทศไทยด้วย ในขณะที่ 35 ประเทศงดออกเสียง มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่คัดค้าน ได้แก่ สหรัฐฯ, อิสราเอล, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, หมู่เกาะมาร์แชลล์, ไมโครนีเซีย, นาอูรู, ปาเลา และโตโก

 

 

 

ข้อตกลงออสโลและแผนสันติภาพตะวันออกกลาง
การทำความเข้าใจข้อตกลงและกระบวนการสันติภาพที่ผ่านๆ มา รวมทั้งบทบาทของสหรัฐฯ อาจช่วยทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดชาวปาเลสไตน์และประชาคมระหว่างประเทศจึงคัดค้านข้อตกลงแห่งศตวรรษของทรัมป์ ทั้งนี้หนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญในการพยายามแก้ไขปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์คือข้อตกลงออสโลปี 1993 และ 1995 (Oslo Accords) ระหว่างองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) และรัฐบาลอิสราเอล โดยมีหลายประเทศที่มีส่วนในการผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย นอร์เวย์ รวมทั้งสหประชาชาติ

 

ข้อตกลงออสโลถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทำให้เกิดความหวังว่าปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ในข้อตกลงนี้มีรายละเอียดมากมาย แต่โดยหลักๆ แล้วคือการสร้างการยอมรับสถานะของแต่ละฝ่าย กล่าวคือกลุ่ม PLO ยอมรับสิทธิการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอล ในขณะที่อิสราเอลยอมรับกลุ่ม PLO ในฐานะตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ และเป็นคู่เจรจาในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางที่จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ขึ้นในอนาคต โดยตั้งให้มี ‘คณะปกครองตนเองชั่วคราวของชาวปาเลสไตน์’ (Palestinian Authority) เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านที่มีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 5 ปีในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามมติ 242 (ปี 1967) และ 338 (ปี 1973) ของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้อิสราเอลถอนกำลังออกจากพื้นที่ยึดครองจากสงคราม ปี 1967 และให้ชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และกาซาได้สิทธิในการปกครองตนเอง  

 

ในข้อตกลงระบุด้วยว่าการเจรจาขั้นสุดท้ายหรือสถานะถาวรจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระบวนการเจรจาจะต้องพูดคุยหาทางออกในประเด็นสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานะสุดท้ายของกรุงเยรูซาเลมที่ต้องมาจากความตกลงระหว่างกัน หรือปัญหาพรมแดน ปัญหาสิทธิในการคืนถิ่นของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ และประเด็นอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาประเด็นเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาพูดคุยแก้ไขเลย

 

กระนั้นก็ตาม ภายใต้ความตกลงระหว่างกันในหลายเรื่องทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่ลี้ภัยและคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยึดครองยังคงมีความหวังหรือสนับสนุนกระบวนการสันติภาพมาเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างกลุ่มฮามาส (Hamas) ที่มองว่าทำให้ปาเลสไตน์เสียเปรียบโดยไม่ต่างอะไรกับการขายชาติ

 

แม้จะมีการพูดคุยหรือความพยายามในการเจรจากันเรื่อยมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยิ่งเจรจายิ่งทำให้สันติภาพดูห่างไกลออกไป เพราะอิสราเอลได้ละเมิดข้อตกลงมากมาย รวมทั้งไม่ได้ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือปฏิบัติตามข้อมติขององค์การสหประชาชาติเลย แม้จะถูกวิจารณ์จากประชาคมโลก แต่อิสราเอลก็ไม่ได้ให้ความสนใจนัก เพราะมีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนตลอดมาทั้งในและนอกองค์การสหประชาชาติ สหรัฐฯ ก็ไม่ได้แสดงออกถึงความจริงจังในดำเนินการตามข้อตกลงออสโล ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหลังทำข้อตกลงไม่นาน หรือในปี 1995 สหรัฐฯ ก็ผ่านกฎหมายรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลแล้ว 

 

ดังนั้นในกระบวนการเจรจาที่ผ่านๆ มา หากดูจากนโยบายของอิสราเอลและท่าทีของสหรัฐฯ จึงไม่แปลกว่าจนถึงวันนี้เหตุใดปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์จึงไม่สามารถหาทางออกได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือนับตั้งแต่ทำข้อตกลงออสโล ปรากฏว่าสำหรับฝั่งปาเลสไตน์ยิ่งเจรจายิ่งถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ ไปเรื่อยๆ รวมถึงเสียสิทธิในดินแดนหรือเสียดินแดนไปเรื่อยๆ เสียสิทธิทางการเมือง เสียสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของตน ถูกปิดล้อมและกีดกันด้วยมาตรการต่างๆ 

 

นอกจากนั้นอิสราเอลยังได้สร้างและขยายถิ่นฐานสำหรับชาวยิวเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ปัจจุบันมีชาวยิวที่ไปสร้างนิคมในเขตปาเลสไตน์มากกว่า 4 แสนคน และยังมีอีกจำนวนหนึ่งเข้าไปอยู่อาศัยในเยรูซาเลมด้วย หากดูจากแผนที่จะเห็นว่าดินแดนของปาเลสไตน์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการตั้งรัฐอิสราเอลมาจนถึงปัจจุบันจะพบว่าลดน้อยลงมากหรือแทบจะไม่เหลือแล้ว แต่ในส่วนของอิสราเอลได้ขยายออกไปกินพื้นที่เกือบทั้งหมด 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชาวปาเลสไตน์ส่วนหนึ่งยังคงคาดหวังว่ากระบวนการเจรจา รวมทั้งบทบาทของประชาคมโลกที่สนับสนุนปาเลสไตน์ หรือแม้แต่บทบาทของสหรัฐฯ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในขั้นสุดท้ายด้วยสูตรแนวทางสองรัฐได้ รวมถึงสถานะสุดท้ายของเยรูซาเลม แต่เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินมาตรการฝ่ายเดียวรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลและย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปที่นั่น จึงทำให้ชาวปาเลสไตน์รู้สึกสิ้นหวังและถูกหักหลังจากกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นทรัมป์ยังเสนอ ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ ที่สะท้อนความเสียเปรียบทุกทางสำหรับฝ่ายปาเลสไตน์ จึงเป็นไปได้ยากที่ชาวปาเลสไตน์จะรับข้อเสนอนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข 

 

ข้อตกลงแห่งศตวรรษ “เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงที่แบ่งแยกไม่ได้ของอิสราเอล”

วันที่ 28 มกราคม 2020 ประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยแผนสันติภาพฉบับใหม่เพื่อแก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีชื่อที่เป็นทางการว่า ‘แผนสันติภาพสู่ความเจริญรุ่งเรือง’ (Peace to Prosperity Plan) หรือที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ (Deal of the Century) มีรายละเอียดในเอกสาร 181 หน้า โดยในระหว่างการแถลงข่าว ณ ทำเนียบขาว มีนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูของอิสราเอลยืนเคียงข้างด้วย ซึ่งเป็นไปตามคาดว่านอกจากเนื้อหาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายปาเลสไตน์แล้ว ยังขัดกับข้อกฎหมายระหว่างประเทศและมติขององค์การสหประชาชาติที่ผ่านๆ มา ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งโลกมุสลิมส่วนใหญ่ก็คัดค้าน แม้แต่อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ของสหรัฐฯ ยังชี้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

 

แต่กระนั้นทรัมป์ยืนยันว่าแผนของเขาตั้งอยู่บนสูตรการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (Two-state Solutions) ที่ใช้ได้จริงและสมประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และนี่เป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับชาวปาเลสไตน์แล้ว ประโยคหนึ่งของทรัมป์ที่สร้างความฮือฮาหรือเรียกเสียงปรบมือดังสนั่นลั่นในห้องแถลงที่เต็มไปด้วยสื่อมวลชนและผู้สนับสนุนอิสราเอล คือประโยคที่ว่า “เยรูซาเลมยังคงเมืองหลวงที่แบ่งแยกไม่ได้ของอิสราเอลต่อไป” (Jerusalem will remain Israel’s undivided capital) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลถึงกับชื่นชมทรัมป์ว่าเป็น ‘มหามิตรแห่งทำเนียบขาวที่ดีที่สุดของอิสราเอล’

 

ในเอกสาร 181 หน้าของแผนสันติภาพฉบับใหม่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย โดยอาจสรุปเฉพาะบางประเด็นที่สำคัญ พร้อมกับข้อสังเกตดังนี้ 

  • “ให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงที่แบ่งแยกไม่ได้ของอิสราเอล ส่วนปาเลสไตน์ ในอนาคตให้ไปตั้งเมืองหลวงบริเวณรอบนอกหรือชานกรุงเยรูซาเลมตะวันออก” ทั้งนี้ขัดต่อมติองค์การสหประชาชาติหลายข้อด้วยกัน เช่น มติ 194, 181, 303, 478 ฯลฯ โดยมติเหล่านี้ระบุให้เยรูซาเลมเป็นพื้นที่สากลภายใต้การดูแลขององค์การสหประชาชาติ และการกำหนดสถานะสุดท้ายต้องมาจากการเจรจาระหว่างกัน รวมทั้งการคัดค้านความพยายามของอิสราเอลในการยึดครองเยรูซาเลม 
  • “ประชาชนทุกศาสนามีอิสระที่จะเดินทางไปยังมัสยิดอัลอักศอ (หรืออัลกุดส์) และพื้นที่นี้ยังอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจอร์แดน” ชาวปาเลสไตน์คงไม่สามารถรับข้อเสนอนี้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาอิสราเอลได้กีดกันการเข้าถึงมัสยิดแห่งนี้หลายครั้ง อีกทั้งภายใต้ข้อเสนอนี้ มัสยิดอัลอักศอจะตกอยู่ภายใต้อธิปไตยของอิสราเอล
  • “ปาเลสไตน์ต้องยอมรับประเทศอิสราเอลในฐานะที่เป็นรัฐชาติของชาวยิว” ข้อเสนอนี้ถูกวิจารณ์โดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาเตอร์ ที่มองว่า “การเรียกประเทศอิสราเอลว่ารัฐชาติของชาวยิว (The Nation-state of the Jewish People) แสดงให้เห็นว่าแผนดังกล่าวปฏิเสธสิทธิความเท่าเทียมสำหรับประชาชนชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลด้วย
  • “นิคมชาวยิวซึ่งสร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมายในเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์จะถูกผนวกเป็นเขตปกครองของอิสราเอลอย่างชอบธรรม อิสราเอลจะได้ครองพื้นที่ 30% ของเวสต์แบงก์ ปาเลสไตน์ 70% ปาเลสไตน์ได้พื้นที่เพิ่มบริเวณทะเลทรายนักบ์” แต่หลายพื้นที่ของทะเลทรายตรงนี้ไม่ได้มีเขตเชื่อมต่อกับรัฐปาเลสไตน์ ส่วนอิสราเอลยังได้สิทธิในการผนวกพื้นที่หุบเขาจอร์แดนซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ด้วย โดยรวมแล้วรัฐปาเลสไตน์ตามข้อเสนอใหม่มีพื้นที่ลดลงจากข้อตกลงต่างๆ ก่อนหน้านี้
  • “จะต้องไม่มีการขับไล่ชาวยิวออกจากนิคมยิวในปาเลสไตน์” ซึ่งในประเด็นนี้ก็จะไปขัดแย้งกับข้อตกลงที่ทำร่วมกันภายใต้แผนที่สันติภาพหรือโรดแมปปี 2003 ที่มีทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย องค์การสหประชาชาติ และสหภาพยุโรปเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยหนึ่งในขั้นตอนของโรดแมปกำหนดให้อิสราเอลต้องยุติและรื้อถอนนิคมชาวยิวที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ปี 2001
  • ข้อเสนอของทรัมป์ในการตั้งรัฐปาเลสไตน์ในอนาคตยังผูกโยงกับเงื่อนต่างๆ ให้ปาเลสไตน์ต้องยอมรับก่อนที่จะมีรัฐบาลปกครองตนเอง ที่สำคัญคือข้อสรุปที่ยังไม่แน่ชัดเรื่องอธิปไตยของรัฐว่าจะมีได้จริงหรือไม่ นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่ารัฐปาเลสไตน์จะมีอธิปไตยอย่างจำกัดเท่านั้น บางส่วนมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่อิสราเอลจะปล่อยให้ปาเลสไตน์มีอธิปไตยเป็นของตนเอง ส่วนนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูกล่าวว่าข้อเสนอนี้ได้เปิดโอกาสให้ปาเลสไตน์ได้มีอธิปไตยที่จำกัดและแบบมีเงื่อนไข ในขณะที่รายงานของ The Jerusalem Post ชี้ว่ารัฐปาเลสไตน์จะมีอธิปไตยที่จำกัด เพราะอิสราเอลจะยังคงควบคุมความมั่นคงอย่างเบ็ดเสร็จ รวมถึงการควบคุมชายแดนและน่านฟ้าของปาเลสไตน์ด้วย 
  • “รัฐปาเลสไตน์ในอนาคตต้องปลอดอาวุธ” ซึ่งเท่ากับว่าต้องทำการปลดอาวุธกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์ “ปาเลสไตน์จะไม่มีกองกำลังป้องกันตนเองจากภัยคุกคามภายนอก แต่จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐอิสราเอล รวมทั้งการควบคุมน่านฟ้าและสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Spectrum) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน กองทัพเรืออิสราเอลมีอำนาจสกัดกั้นการนำอาวุธและอุปกรณ์การผลิตอาวุธเข้ามาในรัฐปาเลสไตน์ รวมทั้งในกาซา โดยมีสิทธิ์ในการเข้ารื้อถอนทำลายแหล่งผลิตอาวุธในปาเลสไตน์”
  • “ปาเลสไตน์ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำความร่วมมือด้านข่าวกรองและข้อตกลงทางความมั่นคงกับรัฐอื่นหรือองค์กรใดๆ ที่ส่งผลต่ออิสราเอล โดยอิสราเอลเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขหรือนิยามความมั่นคงเอง”
  • “ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ไม่มีสิทธิ์กลับมายังถิ่นฐานตัวเองที่กลายเป็นพื้นที่ยึดครองของอิสราเอล ปัญหาผู้ลี้ภัยต้องแก้ด้วยวิธีการต่างๆ 1.ผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์สามารถเข้าไปอาศัยในเขตรัฐปาเลสไตน์ภายใต้เงื่อนไขหลายประการ เช่น ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศที่มีสงคราม อย่างกรณีซีเรียและเลบานอนที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออิสราเอล ในกรณีนี้จะมีคณะกรรมการร่วมอิสราเอล-ปาเลสไตน์ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะให้กลับเข้ามาหรือไม่อย่างไร และไปอยู่ที่ไหนในเขตของปาเลสไตน์ 2.จำนวนผู้ลี้ภัยที่จะเคลื่อนย้ายเข้ามาในรัฐปาเลสไตน์ต้องสอดคล้องกับปัจจัยกำลังทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับได้ รวมทั้งไม่กระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอล 3.สิทธิของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่อพยพเข้ามาในรัฐปาเลสไตน์จะถูกจำกัดเพื่อให้สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงของอิสราเอลตามตกลงไว้ 4.ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่ทำข้อตกลงเข้าร่วมโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์รับไปอยู่ในประเทศของตนปีละ 5,000 คน โดยคำนวณแล้ว 10 ปี หนึ่งประเทศจะรับผู้ลี้ภัย 50,000 คน และ 5.ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในขณะนี้อาจพิจารณารับเป็นพลเมืองของตน” ทั้งนี้ข้อสังเกตคือเมื่ออิสราเอลเชื่อมโยงปัญหาผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์เข้ากับปัญหาความมั่นคงของตน ประกอบกับเงื่อนไขที่ไม่อนุญาตให้ปาเลสไตน์ทำความร่วมมือกับองค์กรภายนอกหรือประเทศอื่นที่จะกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลดังที่กล่าวไปแล้วนั้น จึงเท่ากับว่าอำนาจการตัดสินใจใดๆ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจึงอยู่ที่อิสราเอล
  • “อิสราเอลจะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการสร้างอุโมงค์ถนนใต้ดินที่เชื่อมระหว่างเขตเวสต์แบงก์กับกาซา” 
  • “จะมีการระดมเงินเพื่อการลงทุนทางเศรษฐกิจเป็นเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศอาหรับและจากภาคธุรกิจเอกชนอีกบางส่วน เงินลงทุนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่จะลงไปยังพื้นที่เวสต์แบงก์และกาซา บางส่วนนำไปพัฒนาในอียิปต์ จอร์แดน และเลบานอน เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศเหล่านี้ 

 

หากมองจากข้อเสนอในแผนของทรัมป์จะเห็นได้ว่าปาเลสไตน์จะเป็นฝ่ายที่ค่อนข้างเสียเปรียบและเสียดินแดนมากกว่า แม้สหรัฐฯ จะบอกว่าใช้เวลากว่า 2 ปีในการทำแผนนี้ออกมา หรือที่ จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยเชื้อสายยิวของทรัมป์และที่ปรึกษาอาวุโสประจำทำเนียบขาว บอกว่าเขาต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ถึง 25 เล่มกว่าจะทำแผนนี้ออกมาได้ แต่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าแผนนี้ได้ถูกนำมาใช้ก่อนที่จะมีการเปิดเผยออกมาด้วยซ้ำ หรือตั้งแต่ที่ทรัมป์ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นของอิสราเอลและย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปที่นั่น รวมทั้งในมิติทางเศรษฐกิจก็ได้มีความพยายามผลักดันให้กลุ่มประเทศอาหรับร่วมกันระดมทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับอิสราเอล โดยเห็นได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจที่บาห์เรนเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมให้อาหรับร่วมมือกับอิสราเอลในแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจปาเลสไตน์ 

 

ท่าทีโลกมุสลิม: ทั้งปฏิเสธรุนแรงและแบ่งรับแบ่งสู้อย่างมีเงื่อนไข
โลกมุสลิมส่วนใหญ่ต่อต้านข้อตกลงแห่งศตวรรษของทรัมป์ ทั้งองค์การ OIC และสันนิบาตอาหรับต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว เพราะมองว่าไม่ตอบสนองความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งความหวังของชาวปาเลสไตน์ อีกทั้งยังขัดกับข้อตกลงในกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมติองค์การสหประชาชาติ โดยเรียกร้องประเทศสมาชิกไม่ให้ร่วมมือใดๆ กับสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันแผนข้อตกลงสู่การนำไปปฏิบัติ  

 

ผู้นำมุสลิมหลายประเทศคัดค้านข้อตกลงแห่งศตวรรษและวิจารณ์อย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น มาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ เรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็น ‘ข้อตกลงสมคบคิด’ ที่จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะกลายเป็นแค่ขยะทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง… เยรูซาเลมไม่ได้มีไว้ขาย” อับบาสยังประกาศตัดการติดต่อสัมพันธ์ใดๆ กับอิสราเอลและสหรัฐฯ 

 

ส่วนประธานาธิบดีตูนิเซีย กัยส์ ซาอีด เรียกข้อเสนอของทรัมป์ว่าเป็น “ความอยุติธรรมแห่งศตวรรษ… แผนการที่ไม่ยอมให้อัลกุดส์หรือเยรูซาเลมเป็นของปาเลสไตน์จะต้องล้มเหลว” 

 

ขณะที่ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ประณามข้อตกลงแห่งศตวรรษของทรัมป์และชี้ว่า “เป็นข้อตกลงที่ห่างไกลจากสันติภาพมาก เป็นแต่เพียงแค่คำโกหกหลอกลวงเท่านั้นเอง ตุรกีจะไม่ยอมนิ่งเฉยเป็นอันขาด” 

 

เช่นเดียวนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาเธร์ มูฮัมมัด ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงของทรัมป์และมองว่า “เป็นเพียงแค่ความต้องการที่จะทำให้การยึดครองที่ผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องชอบธรรม” 

 

อย่างไรก็ตาม อาหรับบางประเทศมีท่าทีที่อาจจะต่างไปจากกลุ่มข้างต้นในลักษณะที่แบ่งรับแบ่งสู้อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของสหรัฐฯ ในการนำเสนอแผนฯ เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ แต่ก็ไม่ได้เรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ยอมรับแผนนั้นเสียทีเดียว 

 

กลุ่มนี้จะเรียกร้องให้นำข้อเสนอไปศึกษาและกลับสู่โต๊ะเจรจา โดยส่วนใหญ่ยังสนับสนุนเงื่อนไขเดิมที่ขัดกับข้อเสนอใหม่ เช่น ยังให้ยึดหลักดินแดนแดนปาเลสไตน์เดิมก่อนสงครามปี 1967 หรือตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 242 ที่กำหนดให้อิสราเอลถอนกำลังออกไปจากเขตยึดครอง จำเป็นต้องมีรัฐปาเลสไตน์ที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง โดยมีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง รวมทั้งสิทธิในการกลับคืนถิ่นของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ กลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, อียิปต์, จอร์แดน, คูเวต, โมร็อกโก, กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (แม้ว่าจะร่วมงานแถลงเปิดเผยแผนข้อตกลงของทรัมป์ก็ตาม)   

 

จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีจุดยืนแบบนี้คือกลุ่มที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางมายาวนาน ในขณะเดียวกันกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มหลักในการผลักดันการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจปาเลสไตน์ที่ระบุในข้อเสนอของทรัมป์ 

 

ข้อตกลงแห่งศตวรรษของทรัมป์ถือเป็นการดำเนินการจัดทำโดยฝ่ายเดียวหรือไม่ได้มีการหารือร่วมกับตัวแทนฝ่ายปาเลสไตน์เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันของคู่ขัดแย้ง ยิ่งไปกว่านั้นในงานแถลง ณ ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2020 ยังเชิญนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญมาร่วมยืนเคียงข้าง สะท้อนว่าสหรัฐฯ ไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์ในแง่ของการวางตัวเป็นกลางอย่างชัดเจน และไม่ได้คาดหวังให้ปาเลสไตน์ยอมรับข้อเสนอนี้แต่โดยดี ในขณะที่อิสราเอลมีความพอใจกับข้อเสนอนี้ทั้งหมด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าข้อตกลงแห่งศตวรรษนี้เป็นมาตรการฝ่ายเดียวที่ออกแบบมาอย่างลงตัวบนฐานของความพอใจสำหรับอิสราเอลและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ 

 

แต่สำหรับปาเลสไตน์แล้วคงยากที่จะยอมรับแผนสันติภาพของทรัมป์ เพราะ ‘Deal of the Century’ ไม่ต่างอะไรกับ Balfore Declaration (หรืออาจเรียกว่าบัลโฟร์แห่งศตวรรษที่ 21) ที่ครั้งหนึ่งคำประกาศนี้คือเครื่องหมายของการผิดคำสัญญาที่อังกฤษให้ไว้กับ ชารีฟ ฮุสเซน และยกดินแดนปาเลสไตน์ส่วนหนึ่งให้ชาวยิวจากยุโรปมาตั้งถิ่นฐาน การรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและการเสนอข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ในสายตาชาวปาเลสไตน์ก็เท่ากับการล้มล้างมติองค์การสหประชาชาติ ล้มล้างข้อตกลงออสโล (ปี 1993, 1995) ล้มล้างกระบวนการเจรจาสันติภาพ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปาเลสไตน์ที่ผ่านมา 

 

ชาวปาเลสไตน์จึงรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกหักหลังและสิ้นหวังในกระบวนการเจรจาสันติภาพใดๆ ที่มีสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถ้าคำประกาศบัลโฟร์คือการที่อังกฤษยกดินแดนปาเลสไตน์บางส่วนให้กับชาวยิวจากยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้ว ข้อตกลงแห่งศตวรรษของทรัมป์ก็คือการที่สหรัฐฯ มาสานต่อภารกิจยกดินแดนเกือบทั้งหมดของปาเลสไตน์ให้กับอิสราเอล ดังนั้นแผนสันติภาพของทรัมป์คงเขย่าสันติภาพตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising