×

Avatar: The Way of Water (2022) วิถีแห่งสายน้ำและวาระแอบแฝงซ่อนเร้น

19.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เราจะจำกัดความภาพและเสียงที่ทั้งขับเคลื่อนและห่อหุ้มอารมณ์ความรู้สึกของคนดูอย่างท่วมท้นล้นทะลักตลอดความยาวกว่าสามชั่วโมงของภาพยนตร์เรื่อง Avatar: The Way of Water ผลงานล่าสุดของ James Cameron ว่าอย่างไรดี จินตนาการที่ไร้ขอบเขต วิสัยทัศน์อันสุดแสนบรรเจิด หรือจริงๆ แล้ว มันอาจเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นความบ้าดีเดือดของคนทำ
  • ตัวละครที่น่าพูดถึงและถูกสร้างสรรค์ได้อย่างมีเสน่ห์ดึงดูดก็คือ Kiri (Sigourney Weaver) ลูกเลี้ยงของ Jake และ Neytiri ซึ่งเกิดจากร่างอวตารของ Dr.Grace Augustine (ซึ่งรับบทโดย Sigourney Weaver เหมือนกัน) นักชีววิทยาที่เป็นเสมือนเมนเทอร์ของ Jake ในภาคแรก ว่าไปแล้วเธอเป็นคาแรกเตอร์ที่ดูแปลกแยกและเป็นคนนอกยิ่งกว่าลูกชายของ Jake ทั้งความสามารถในการดำน้ำอึดกว่าคนอื่น และเชื่อมโยงตัวเองกับวิถีของมหาสมุทรได้อย่างแนบแน่นกว่าทุกคน หรืออีกนัยหนึ่ง มีญาณวิเศษบางอย่างในตัว อีกทั้งปริศนาเกี่ยวกับพ่อจริงๆ ของเธอ ซึ่งเจ้าตัวไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเป็นใครกันแน่ ก็กลายเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย และนั่นยิ่งทำให้ภูมิหลังของบุคลิกนี้ดูน่าฉงนสนเท่ห์เป็นทวีคูณ

 

เราจะจำกัดความภาพและเสียงที่ทั้งขับเคลื่อนและห่อหุ้มอารมณ์ความรู้สึกของคนดูอย่างท่วมท้นล้นทะลักตลอดความยาวกว่าสามชั่วโมงของภาพยนตร์เรื่อง Avatar: The Way of Water ผลงานล่าสุดของ James Cameron ว่าอย่างไรดี

 

จินตนาการที่ไร้ขอบเขต วิสัยทัศน์อันสุดแสนบรรเจิด หรือจริงๆ แล้ว มันอาจเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นความบ้าดีเดือดของคนทำ

 

แต่ไม่ว่าจะนิยามยังไง อย่างหนึ่งที่แน่ๆ James Cameron ไม่ใช่คนแรกที่ผลงานตั้งแต่ไหนแต่ไรของเขาสะท้อนถึงความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ความประณีตและพิถีพิถัน หรือแม้กระทั่งความหมกมุ่นลุ่มหลงในระดับเสียสติ (ข้อมูลระบุว่าด้วยงบสร้างที่สูงลิบลิ่ว ภาพยนตร์เรื่อง Avatar: The Way of Water จึงจะต้องเก็บกวาดรายได้สองพันล้านดอลลาร์ถึงจะคุ้มทุน ซึ่ง James Cameron เรียกว่านี่เป็นเคสการลงทุนทำธุรกิจที่ห่วยแตกที่สุด) และว่าไปแล้ว ประเพณีของการทำหนังในแบบยอมฉิบหายขายตัว ทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณ ก็ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ (D. W. Griffith, Howard Hughes, Abel Gance จนถึงรุ่นหลังอย่าง Francis Ford Coppola, Michael Cimino ฯลฯ) และบางทีประโยคอันลือลั่นของ David Lean คนทำหนังบรมครู ผู้ซึ่งความ ‘หน้ามืดตามัว’ ของเขาไม่เคยเป็นสองรองใคร ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการทำหนังของ James Cameron ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนั่นก็คือ “หนังดีจะสำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยการอุทิศทุ่มเทของเหล่าคนบ้า (Good films can be made only by a crew of dedicated maniacs)”

 

 

และน่าเชื่อว่าผู้ชมคงเห็นพ้องว่าเหตุการณ์น้อยใหญ่ที่ปรากฏเบื้องหน้าของพวกเราในภาพยนตร์ทุกเรื่องของ Cameron ย้อนกลับไปตั้งแต่ Terminator (ทั้งสองภาค), The Abyss, Titanic, Avatar และแน่นอน รวมถึง Avatar: The Way of Water ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาในการฟูมฟักโปรเจกต์เนิ่นนานถึงสิบกว่าปี และดังที่กล่าว ใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลถึง 350 ล้านดอลลาร์ ก็เรียกอย่างอื่นไม่ได้นอกจากความน่าพิศวงงงงวย หรืออีกนัยหนึ่ง ผลพวงของการอุทิศทุ่มเทของ ‘หัวหน้าคนบ้า’

 

โดยแพลตฟอร์มเดียวที่ถูกออกแบบให้คนดูเข้าถึงฤทธิ์เดชหรือพิษสงของความเสียสติของคนทำหนังก็คือโรงภาพยนตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟอร์แมตไอแมกซ์สามมิติ ซึ่งต้องบอกว่ามันชวนให้ดำดิ่งในห้วงแห่งภวังค์ เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ และคนดูแยกแยะไม่ได้อีกแล้วว่าเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เรียกว่าถ่ายทำจริงๆ (Live Action) กับสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษอยู่ตรงไหน และผลพวงสืบเนื่องก็อย่างที่รู้กัน สตรีมมิงไม่มีวันถ่ายทอดความน่าอัศจรรย์ทางด้านภาพและเสียงได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นเวทีที่ไม่สมศักดิ์ศรีกับภาพยนตร์ที่งานสร้างโอฬารตระการตาแบบนี้ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ความเจ็บปวดของผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ส่งเสียงเชียร์การดูภาพยนตร์ในโรงก็คือ ทุกครั้งที่ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์แบบนี้เข้าฉาย หนังปลาซิวปลาสร้อยทั้งหลายล้วนต้องพลีชีพด้วยการถูกถอดออกโรงก่อนเวลาอันควร และสุดท้าย เครือโรงภาพยนตร์ที่มีอยู่แค่สองสามเจ้าก็ดูเหมือนไม่แคร์ผลประโยชน์ของคนดูสักเท่าไร)

 

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอภิปรายก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม ส่วนประกอบที่เรียกว่า Spectacle เป็นเพียงเสาเข็มต้นหนึ่ง ทว่ามันค้ำจุนให้หนังยืนหยัดอย่างมั่นคงแน่นหนาไม่ได้ (เพราะหนังไม่ใช่ศาลพระภูมิ ฮ่าๆ) และส่วนที่ไม่แข็งแรงทัดเทียม หรืออย่างน้อย ไม่ท้าทายจินตนาการคนดูเหมือนงานภาพและเสียง หรือจะว่าไปแล้ว เป็นตำบลกระสุนตกของหนัง James Cameron มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ก็คือกรอบการเล่าเรื่องที่อาจจะไม่ได้ถึงกับตื้นเขิน หรือปราศจากความซับซ้อน แต่มันก็เพลย์เซฟมากๆ ในแง่ของการทำตัวมันเองให้เข้าถึงได้ง่ายตามประสาหนังฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์ (เพื่อเป็นข้อมูล ภาพยนตร์เรื่อง Titanic และ Avatar ซึ่งกวาดรางวัลออสการ์เป็นกอบเป็นกำ ไม่ได้แม้แต่ถูกเสนอชื่อชิงสาขาบทภาพยนตร์ด้วยซ้ำ) ทั้งการวางปมขัดแย้งหลักและรอง การสร้างและพัฒนาบุคลิกตัวละครที่มีลักษณะสูตรสำเร็จมากๆ หรือจะเรียกว่าค่อนข้างเชยก็น่าจะได้ และไม่มีอะไรที่ไปไกลสุดกู่อย่างชนิดสวนความคาดหวังคนดูอย่างรุนแรงหรือปล่อยให้คนดูจับต้นชนปลายไม่ได้

 

ทั้งหลายทั้งปวง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความไม่ได้สัดส่วนระหว่างเรื่องที่บอกเล่ากับความยาวของหนังถึงสามชั่วโมง และมันยิ่งทำให้กลไกด้านภาพ (และเสียง) ต้องรับบทหนักมากขึ้น

 

 

บรรยายสรุปสั้นๆ Avatar: The Way of Water จับความต่อจากภาคแรกราวสิบกว่าปี ความยุ่งยากครั้งใหม่ของ Jake Sully (Sam Worthington) และครอบครัว รวมไปถึงชาวนาวีก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม อันได้แก่มนุษย์โลกย้อนกลับมาบุกแพนโดราเพื่อล่าอาณานิคมอีกครั้ง ทว่า Jake ผู้ซึ่งกลายร่างเป็นชาวนาวีเต็มภาคภูมิไม่ได้ตัวเปล่าเล่าเปลือยเหมือนตอนที่พวกเราได้พบและรู้จักเขาครั้งแรก นอกเหนือจากสถานะหัวหน้าเผ่าที่ต้องต่อกรกับผู้บุกรุกด้วยวิธีการรบแบบกองโจร เขายังต้องคอยปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพของสมาชิกครอบครัว Sully ซึ่งถ้านับตัวเขาด้วยก็มีทั้งหมดเจ็ดคน และทีละน้อย สถานการณ์ก็บีบบังคับให้เจ้าตัวต้องทบทวนหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ทำนองว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก และนั่นทำให้กรอบเนื้อหากว้างๆ ของ Avatar: The Way of Water ก็คือภาพยนตร์ผจญภัยครอบครัว

 

แต่ว่ากันตามจริง ภาคสองไม่ได้โฟกัสที่ตัว Jake เท่ากับเรื่องของลูกๆ โดยเฉพาะ Lo’ak (Britain Dalton) น้องชายคนรอง ผู้ซึ่งว่าไปแล้วพฤติกรรมดื้อรั้นชอบทำตัวแหกกฎและนอกกรอบของเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากพ่อในภาคแรก และปมของหนุ่มน้อยที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกและเป็นคนนอก รวมถึงไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งฝ่ายหลังก็ต้องเรียนรู้เรื่องการเว้นระยะห่างในการห่วงลูกๆ ก็มีบทสรุปที่ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของคนดูแต่อย่างใด

 

 

ตัวละครที่น่าพูดถึงและถูกสร้างสรรค์ได้อย่างมีเสน่ห์ดึงดูดก็คือ Kiri (Sigourney Weaver) ลูกเลี้ยงของ Jake และ Neytiri ซึ่งเกิดจากร่างอวตารของ Dr.Grace Augustine (ซึ่งรับโดย Sigourney Weaver เหมือนกัน) นักชีววิทยาที่เป็นเสมือนเมนเทอร์ของ Jake ในภาคแรก ว่าไปแล้วเธอเป็นคาแรกเตอร์ที่ดูแปลกแยกและเป็นคนนอกยิ่งกว่าลูกชายของ Jake ทั้งความสามารถในการดำน้ำอึดกว่าคนอื่น และเชื่อมโยงตัวเองกับวิถีของมหาสมุทรได้อย่างแนบแน่นกว่าทุกคน หรืออีกนัยหนึ่ง มีญาณวิเศษบางอย่างในตัว อีกทั้งปริศนาเกี่ยวกับพ่อจริงๆ ของเธอ ซึ่งเจ้าตัวไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเป็นใครกันแน่ ก็กลายเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย และนั่นยิ่งทำให้ภูมิหลังของบุคลิกนี้ดูน่าฉงนสนเท่ห์เป็นทวีคูณ

 

แต่ก็นั่นแหละ นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์แนวศึกษาบุคลิกหรือค้นหาตัวตน และแง่มุมเหล่านี้เป็นส่วนผสมในเชิงดรามาติกที่ช่วยให้หนังมีสัมผัสที่อ่อนโยน และก็อย่างที่แฟนๆ ของ Cameron รับรู้และเฝ้าคอย ตัวหนังขับเคลื่อนด้วยฉากแอ็กชันที่ทั้งโลดโผนโจนทะยานและวินาศสันตะโร และด้วยฝีไม้ลายมือในการถ่ายทอดที่เต็มเปี่ยมด้วยลูกล่อลูกชน ทักษะและชั้นเชิง และดังที่กล่าวข้างต้น มันผสมผสานเทคนิคพิเศษทางด้านภาพได้อย่างกลมกลืนและน่าตื่นตะลึง จึงเป็นเสมือนการยืนยันอีกครั้งว่า Cameron ยังคงเป็นคนทำหนังแอ็กชันมือวางอันดับหนึ่งของฮอลลีวูด และเวทมนตร์คาถาของเขาก็นำพาให้จนแล้วจนรอด ความยาวนานของหนังไม่ใช่ข้อขัดข้องหรือเงื่อนไขที่ต้องพร่ำบ่นสักเท่าใด

 

 

กล่าวในส่วนที่อาจนับเป็นความหมายเชื่อมโยง เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า Avatar ภาคแรกก็คือหนังบุกเบิกตะวันตกซ่อนรูป และมันสลับข้างให้ตัวเอกซึ่งครั้งหนึ่งได้แก่คนอเมริกันผิวขาวที่มาพร้อมกับวิถีอารยะกลายเป็นพวกล่าอาณานิคม และชนพื้นเมืองที่ป่าเถื่อนโหดเหี้ยมกลายเป็นผู้ถูกรังแก และภาคแรกจบลงที่ฝ่ายคนขาวล่าอาณานิคมถอยทัพไป ข้อที่น่าครุ่นคิดก็คือ ความหมายของ Colonialism หรือการล่าอาณานิคม ไม่ใช่เรื่องของการได้มาซึ่งพื้นที่หรือทรัพยากรเท่านั้น แต่มันรวมถึงการ ‘แฝงฝัง’ อุดมการณ์และความคิด ตลอดจนวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้รุกราน

 

มองอย่างงูๆ ปลาๆ ในแง่มุมนี้ ภาพยนตร์ของ Cameron ก็ไม่ได้ถ่ายทอดให้เห็นเพียงแค่ว่าครอบครัวของ Jake Sully เป็นชาวนาวีที่ยึดมั่นและศรัทธาในวิถีแห่งสายน้ำและการมีอยู่ของเอวา (Eywa) เทพเจ้าผู้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพชีวิตทั้งมวลแต่เพียงลำพัง ทว่าอีกด้านหนึ่ง ‘บ้าน Jake Sully’ ก็ดูจะยึดโยงกับวิถีและแก่นแกนของความเป็นอเมริกันสายลิเบอรัลเหมือนกัน ไล่เลียงตั้งแต่จิตวิญญาณของการเป็นผู้อพยพ (Immigrants) จากการที่พระเอกของเราโชว์สปิริตลาออกจากหัวหน้าเผ่าโอมาติคายาเพื่อหยุดยั้งความสูญเสีย และหอบหิ้วครอบครัวไปขออาศัยพักพิงอยู่กับชุมชน ‘ชาวเล’ ณ อีกฟากหนึ่งของดวงดาว หรือสถานะของการตกเป็นเบี้ยล่าง (Underdog) และนำไปสู่การสู้ไม่ถอยตามแบบฉบับของอเมริกันชนก็เป็นธีมที่คนทำหนังสอดแทรกมาต้ังแต่ภาคที่แล้ว

 

 

แล้วใครที่ได้เห็นครอบครัวขนาดค่อนข้างใหญ่ของ Jake ก็คงบอกได้ว่ามันมีลักษณะ Inclusive หรือเชื่อในความหลากหลายและผสมผสานทางเชื้อชาติเผ่าพันธ์ุ ว่ากันตามจริง มีเพียง Neytiri (Zoe Saldaña) คนเดียวที่เป็นนาวีเลือดแท้ ส่วนที่เหลือล้วนเป็นลูกครึ่ง หรือในกรณี Spider (Jack Champion) ก็เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของมนุษย์โดยตรงหรือ ‘เอเลี่ยน’

 

อีกอย่างหนึ่งที่ถูกขับเน้นผ่านตัวละครแต่ละคนก็คือความเป็นตัวเอง (Individualism) และคนดูได้เห็นคุณสมบัตินี้ชัดแจ้งที่สุดในตัว Lo’ak ผู้ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยวิญญาณขบถ และดังที่กล่าว กฎเกณฑ์หรือคำสั่งใดๆ ก็แทบจะใช้การกับเขาไม่ได้ กระนั้นก็ตาม คนดูน่าจะรู้สึกหรือสัมผัสได้ว่าคนทำหนังแอบถือหางตัวละครนี้ และผลลัพธ์บั้นปลายก็ตอกย้ำว่า ไม่ว่าความเป็นปัจเจกจะมีราคาที่ต้องจ่ายสูงลิบลิ่วเพียงใด นี่เป็นคุณค่าที่ต้องหวงแหนและทะนุถนอม

 

หรือสรุปอย่างรวบรัดตัดความ ชื่อหนัง Avatar ของทั้งเรื่องนี้และเรื่องก่อนหน้า ก็ไม่ได้หมายความเพียงแค่การแบ่งภาคหรือแยกร่างของเหล่าตัวละครในโลกเสมือนจริง และสุดท้ายแล้ว ตัวหนังทั้งเรื่องก็เป็นเสมือนร่างอวตารที่แอบปลูกฝังและบ่มเพาะแนวคิดและค่านิยมในแบบของอเมริกันชนอย่างเนียนๆ ให้กับคนดูทั้งโลก และโดยอัตโนมัติ นี่เป็นการล่าอาณานิคมที่เจ้าเล่ห์แสนกล

 

Avatar: The Way of Water (2022)

กำกับ: James Cameron 

ผู้แสดง: Sam Worthington, Zoe Saldaña, Sigourney Weaver, Stephen Lang, Kate Winslet

 

ภาพ: 20th Century Studios


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising