อาจพูดได้ว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่ธุรกิจร้านอาหารต่างๆ จะหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับ ‘ของเหลือทิ้ง’ มากขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้วในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และนับว่าเป็นก้าวสำคัญของแนวคิดเรื่องการจัดการอาหารที่น่าสนใจ
ออสติน เมืองหลวงของรัฐเท็กซัส เพิ่งจะประกาศข้อกำหนดใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งข้อกฎหมายใหม่ต้องการให้ร้านอาหารและธุรกิจอาหารทุกประเภทมองหาทางเลือกในการกำจัดอาหารและวัตถุดิบเหลือใช้หรือเหลือทิ้งที่ไม่ใช่แค่การกลบฝังในดิน ทั้งยังต้องมีการอบรมพนักงานในเรื่องการกำจัดอาหารเหลือทิ้งอีกด้วย
“ทางการต้องการช่วยเหลือผู้ค้าเล็กและใหญ่ในการหาหนทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าใช้จ่ายที่สุด ทั้งยังตั้งเป้าวางแผนให้ทุกๆ ภาคส่วนมีแนวคิดของการนำอาหารที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” แซม อังกูรี รักษาการผู้อำนวยการของ Austin Resource Recovery องค์กรที่ช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ ในการแปลงอาหารเหลือทิ้งให้มีประโยชน์สูงสุดกล่าว
ข้อกำหนดใหม่ล่าสุดนี้มุ่งเน้นบังคับใช้กับร้านอาหารในเมืองทั้งหมด ขณะเดียวกัน จากผลการศึกษาเรื่องขยะในเมืองออสตินพบว่ากว่า 85% ของขยะในเมือง (ทั้งที่รีไซเคิลได้และไม่ได้) มักมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคารชุดที่มีครอบครัวอยู่จำนวนมาก และธุรกิจให้บริการอาหาร และมีขยะเพียง 37% เท่านั้นที่จบด้วยการกลบฝังดิน ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ โดยแผนต่อไปของเมืองออสตินคือการทำให้กลายเป็นเมือง Zero Waste ไร้ขยะเหลือทิ้งโดยสมบูรณ์ภายในปี 2040
“การฝังอาหารลงดินก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนั้นอาหารเหลือทิ้งยังเป็นการสูญเสียทรัพยากรอื่นๆ ทั้งน้ำ พื้นดิน พลังงาน เงิน แรงงาน ที่ผ่านมาในกระบวนการเพาะปลูกโดยเปล่าประโยชน์” ดาร์บี ฮูเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสทางด้านทรัพยากรจาก Natural Resources Defense Council ระบุ
นอกจากนั้นทางเมืองออสตินเองยังได้ออกมาประกาศว่าการจัดกิจกรรมฝึกอบรมการรีไซเคิลและแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์นับเป็นก้าวใหม่ของข้อกฎหมายที่เน้นย้ำและให้ความสำคัญของเรื่องทรัพยากรอาหารอย่างแท้จริง
มาจับตามองดูกันบ้างไหมว่าองค์กรไหนในประเทศไทยของเราจะเริ่มมีนโยบายเช่นนี้สักที
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: