×

งานวิจัยชี้คนวัยชราที่แข็งแรงไม่ควรทานแอสไพรินเป็นประจำ เสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหาร

17.09.2018
  • LOADING...

เมื่อมีอาการปวด อักเสบ หรือเป็นไข้ เรามักนึกถึงยาแอสไพรินก่อนเสมอ ยาดังกล่าวยังผ่านการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ในการป้องกันหัวใจวายและการอุดตันของเส้นเลือด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine พบว่า คนวัยชราที่ไม่มีปัญหาสุขภาพไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำทุกวัน เพราะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต

 

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นโรคหัวใจอายุ 70 ปีขึ้นไปจำนวน 19,114 คน ในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย โดยนักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งรับประทานแอสไพรินปริมาณต่ำเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่อง

 

ผลปรากฏว่ายาดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจแต่อย่างใด ทั้งยังไม่เกิดประโยชน์อื่นๆ ต่อสุขภาพด้วย แต่กลับทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น

 

ศาสตราจารย์จอห์น แม็กนีล จากมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าวว่า “งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าคนวัยชราสุขภาพดีหลายล้านคนทั่วโลกซึ่งรับประทานยาแอสไพรินปริมาณต่ำโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ อาจทำโดยไร้ความจำเป็น เพราะผลการศึกษาบ่งชี้ว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อสุขภาพ มิหนำซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะอีกด้วย”

 

ถึงแม้แพทย์จะสั่งจ่ายยาแอสไพรินให้กับคนที่เป็นโรคหัวใจกำเริบหรือเส้นเลือดสมองตีบ เพราะยาดังกล่าวสามารถลดการเกิดลิ่มเลือดเพื่อไม่ให้เส้นเลือดอุดตันได้ แต่ก็มีคนสุขภาพดีจำนวนมากที่เลือกใช้ยาแอสไพรินเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นว่าผลการวิจัยนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจคนที่พยายามหายามารับประทานเอง

 

แต่กระนั้นงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า แอสไพรินจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงวัยกลางคน โดยนอกจากจะช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดแล้ว ยังมีงานวิจัยที่พยายามค้นหาคำตอบว่าเราสามารถใช้แอสไพรินเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่ด้วย

 

ด้านศาสตราจารย์ปีเตอร์ โรธเวลล์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญยาแอสไพริน ระบุว่า การรับประทานยาแอสไพรินจะมีประโยชน์น้อยมากหากคุณอายุเกิน 70 ปีและไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจหรือเส้นเลือดตีบมาก่อน นอกจากนี้เขายังไม่แนะนำให้หายาแอสไพรินมารับประทานเองหากไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X