×

จับตาฟินแลนด์และสวีเดน จะเปลี่ยนสถานะจากชาติเป็นกลาง ไปเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
12.05.2022
  • LOADING...
สวีเดน ฟินแลนด์

ฟินแลนด์และสวีเดนอาจสมัครเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ภายในอีกไม่กี่วันนี้ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับ 2 ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นกลางในภาวะสงครามมาอย่างยาวนาน 

 

รัสเซีย ซึ่งใช้การขยายอิทธิพลของ NATO เป็นข้ออ้างในการทำสงครามกับยูเครน คัดค้านอย่างหัวชนฝาไม่ให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทางทหารของตะวันตก 

 

ทั้งนี้ สวีเดนดำรงสถานะประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมานานมากว่า 200 ปี ด้านฟินแลนด์มีสถานะชาติเป็นกลางในสภาวะจำยอม หลังพ่ายแพ้อย่างขมขื่นต่อสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ที่ผ่านมาประชาชนชาวฟินแลนด์ที่สนับสนุนให้ประเทศเข้าร่วม NATO มีอยู่เพียงประมาณ 20-25% แต่นับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกยูเครน ตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 76% จากผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ส่วนในสวีเดน 57% ของประชากรต้องการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทางทหารของตะวันตก ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนมาก

  • เวลาตัดสินใจ

ประธานาธิบดีเซาลี นีนิสเตอ แห่งฟินแลนด์ จะแถลงจุดยืนของเขาต่อ NATO ในวันพฤหัสบดีนี้ ตามด้วยพรรครัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงสุดสัปดาห์

 

หากคำตอบคือเห็นชอบ รัฐสภาทั้ง 2 ประเทศจะมีเสียงข้างมากที่ชัดเจนในการสนับสนุนการเข้าร่วม NATO และจะเริ่มต้นกระบวนการสมัครสมาชิกได้

 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้ ดูเหมือนบรรดา ส.ส. กลุ่มสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลของฟินแลนด์ มีแนวโน้มที่จะเห็นชอบ แต่ในส่วนของสวีเดนนั้นยังคงเสียงแตกและอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกันภายใน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ไม่เอา NATO เริ่มเอนเอียงไปทางเข้าร่วมแล้ว “ทุกอย่างดูเหมือนจะไปในทิศทางนั้น” จากการเปิดเผยของ มาร์กอต วอลล์สตรอม อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน 

 

สหรัฐฯ ออกโรงสร้างความมั่นใจให้กับฟินแลนด์และสวีเดน ที่กังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศในช่วงระหว่างการสมัครเข้าร่วม NATO รวมไปถึงเมื่อเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของสหราชอาณาจักร มีกำหนดเดินทางเยือนทั้ง 2 ประเทศในวันพุธนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงที่กว้างขึ้น

  • ทำไมต้องเข้าร่วมในตอนนี้

การรุกรานยูเครนของรัสเซียตามใบสั่งของวลาดิเมียร์ ปูติน ทำลายความรู้สึกมั่นคงที่มีมายาวนานในยุโรปเหนือ 

 

อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ กล่าวว่า ฟินแลนด์ตกลงใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตร NATO แล้ว นับตั้งแต่ที่ทหารรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 

 

ด้าน ปีเตอร์ ฮุล์ตควิสต์ รัฐมนตรีกลาโหมของสวีเดน กล่าวถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า เป็นช่วงเวลาที่ผู้นำรัสเซียพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่คาดเดาไม่ได้ ไว้ใจไม่ได้ และพร้อมที่จะทำสงครามอันโหดร้าย นองเลือด และอำมหิต โดยหลังจากที่กล่าวอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าสวีเดนจะไม่เข้าร่วมกับ NATO เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ล่าสุดท่าทีดังกล่าวเปลี่ยนไป ดังเห็นได้จากที่เขาออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การป้องกันตนเองของภูมิภาคนอร์ดิกจะเข้มแข็งขึ้นหากทั้ง 2 ประเทศเป็นสมาชิก NATO

 

ท้ายที่สุดคือประชาชนชาวฟินแลนด์และชาวสวีเดนจำนวนมากหวังพึ่ง NATO ด้วยความเชื่อว่าการเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรทางทหารจะทำให้พวกเขาปลอดภัยในยุโรปที่เริ่มไม่มั่นคง

 

สำหรับชาวฟินแลนด์ สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนทำให้เหตุการณ์ในอดีตของประเทศย้อนกลับมาหลอกหลอน โซเวียตบุกฟินแลนด์เมื่อปลายปี 1939 เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่กองทัพฟินแลนด์พยายามต้านทานด้วยกำลังพลที่มากกว่า ซึ่งแม้ว่าจะรอดพ้นจากการถูกยึดครองมาได้ แต่ประเทศก็ต้องสูญเสียดินแดนไป 10% 

 

อิโร ซาร์กกา นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ กล่าวว่า การมองดูสงครามในยูเครนก็เหมือนกับการหวนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ชาวฟินน์หันไปมองไปยังชายแดน 1,340 กม. ที่ติดกับรัสเซีย และคิดว่า “สิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับเราได้ไหม”

 

ขณะที่สวีเดนเองก็รู้สึกถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานการละเมิดน่านฟ้าหลายครั้งโดยเครื่องบินทหารของรัสเซีย และในปี 2014 ชาวสวีเดนต้องตกตะลึงที่ได้รู้ว่ามีเรือดำน้ำรัสเซียดักซุ่มเร้นกายอยู่ในน่านน้ำตื้นของหมู่เกาะสต็อกโฮล์ม จนทำให้ในอีก 2 ปีต่อมา กองทัพของสวีเดนต้องกลับไปสนใจเกาะก็อตแลนด์ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในทะเลบอลติก หลังจากละเลยมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษ

  • จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหากเข้าร่วม

สวีเดนและฟินแลนด์มีสถานะเป็นพันธมิตรของ NATO ในปี 1994 ผ่านการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และนับแต่นั้นมาทั้ง 2 ประเทศก็กลายเป็นผู้สนับสนุนหลักของ NATO โดยมีส่วนร่วมในหลายภารกิจของ NATO ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

 

หากเปลี่ยนสถานะเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับ 2 ประเทศคือ การได้รับการปกป้องจากกลุ่มพันธมิตรทางทหาร ภายใต้ ‘มาตรา 5’ ของ NATO ซึ่งบัญญัติว่า การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง เท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ 

 

นักประวัติศาสตร์ เฮนริก ไมแนนเดอร์ ชี้ว่า ฟินแลนด์เตรียมใจเรื่องการเข้าร่วม NATO มานานแล้ว โดยฟินแลนด์ค่อยๆ ขยับเข้าหา NATO นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

 

ในปี 1992 เฮลซิงกิซื้อเครื่องบินรบสหรัฐฯ 64 ลำ เข้าร่วมสหภาพยุโรปพร้อมกับสวีเดนในอีก 3 ปีถัดมา รัฐบาลฟินแลนด์ทุกรัฐบาลนับตั้งแต่นั้นพิจารณาทบทวนทางเลือกที่จะเข้าร่วม NATO มาตลอด เขากล่าวว่ากองทัพฟินแลนด์ซึ่งรับใช้ประชากร 5.5 ล้านคน มีกำลังทหาร 280,000 นายในยามสงคราม และมีกองหนุนทั้งหมด 900,000 นาย

 

ด้านสวีเดนเลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไปในช่วงทศวรรษ 1990 โดยลดขนาดกองทัพ และเปลี่ยนลำดับความสำคัญจากการป้องกันดินแดนเป็นภารกิจรักษาสันติภาพทั่วโลก แต่ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนไปในปี 2014 เมื่อรัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครน สวีเดนกลับมาเกณฑ์ทหารอีกครั้ง และเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม ในปี 2018 ทุกครัวเรือนได้รับแจกแผ่นพับจากกองทัพในหัวข้อ ‘หากวิกฤตหรือสงครามมาถึง’ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1991 ที่มีการแจกแผ่นพับลักษณะนี้ 

 

ปัจจุบันฟินแลนด์บรรลุเป้าหมายด้านงบป้องกันประเทศที่ 2% ของ GDP ตามข้อตกลงของ NATO ขณะที่สวีเดนวางแผนที่จะทำเช่นเดียวกัน

  • เสี่ยงหรือไม่หากเข้าร่วม

ประธานาธิบดีปูตินอ้างเรื่องที่ NATO แผ่ขยายอิทธิพลเป็นเหตุผลในการรุกรานยูเครน ดังนั้นการเข้าร่วม NATO ของสวีเดนและฟินแลนด์อาจถูกมองว่าเป็นการยั่วยุในสายตาของรัสเซีย

 

กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียได้ออกมาเตือนทั้ง 2 ประเทศถึงผลที่จะตามมาหากเข้าร่วม NATO ขณะที่ ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ผู้ใกล้ชิดของปูติน ขู่ว่าการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทางทหารตะวันตกอาจกระตุ้นให้มอสโกส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในคาลินินกราด ซึ่งเป็นเขตปกครองของรัสเซียที่ตั้งอยู่ระหว่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย

 

แม้ไม่ได้มองข้ามการคุกคามเหล่านี้ แต่อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ ชี้ว่าความเสี่ยงที่เป็นจริงมากกว่าคือการโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย การสร้างข่าวเท็จหรือบิดเบือนข้อมูล และการละเมิดน่านฟ้าเป็นครั้งคราว

  • สวีเดนและฟินแลนด์จะปลอดภัยขึ้นจริงหรือ

ยังมีคนกลุ่มหนึ่งในสวีเดนที่ไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

 

เดโบราห์ โซโลมอน จากสมาคมสันติภาพและอนุญาโตตุลาการแห่งสวีเดน ให้เหตุผลว่าการป้องปรามนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrence) ของ NATO เพิ่มความตึงเครียดและความเสี่ยงให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธกับรัสเซีย ซึ่งทำให้ภารกิจเพื่อสันติภาพของสวีเดนประสบความยุ่งยาก และทำให้สวีเดนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยน้อยลง

 

ความกลัวอีกประการหนึ่งคือ สวีเดนอาจสูญเสียบทบาทผู้นำในความพยายามลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก มาร์กอต วอลล์สตรอม อดีต รมว.ต่างประเทศ อ้างถึงกรณีที่รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิก NATO บางประเทศ ถูกสหรัฐฯ กดดันอย่างหนักไม่ให้เข้าร่วมการเจรจาลดอาวุธของสหประชาชาติในปี 2019

 

แต่ฮุล์ตควิสต์ รมว.กลาโหมคนปัจจุบัน ยืนยันว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ไม่ขัดขวางความพยายามของสวีเดนในการลดอาวุธทั่วโลก

 

กลุ่มที่ไม่เอา NATO ในสวีเดนมองย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960-1980 เมื่อสวีเดนใช้สถานะชาติเป็นกลาง เพื่อรับบทผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ และเป็นพันธมิตรกับโลกอาณานิคม โดยช่วงหนึ่งในทศวรรษ 1970 สวีเดนเป็นประเทศตะวันตกเพียงประเทศเดียวที่สนับสนุนขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้ 

 

โซโลมอนกล่าวว่า หากสวีเดนเข้าร่วม NATO มันจะเป็น “การละทิ้งความฝัน” ในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

 

อย่างไรก็ดี ความเป็นกลางของฟินแลนด์มีที่มาที่ไปแตกต่างกับสวีเดนมาก ในเคสของฟินแลนด์นั้น ต้องยอมรับสถานะชาติเป็นกลางเพื่อความอยู่รอด และเพื่อรักษาเอกราชของประเทศ ตามเงื่อนไขที่สหภาพโซเวียตกำหนดไว้ใน ‘ข้อตกลงมิตรภาพ’ เมื่อปี 1948 

 

นักประวัติศาสตร์ไมแนนเดอร์กล่าวว่า ความเป็นกลางของสวีเดนเป็นเรื่องของอัตลักษณ์และอุดมการณ์ ในขณะที่ในฟินแลนด์เป็นเรื่องของความอยู่รอด ฟินแลนด์ค่อยๆ หันหลังให้กับความเป็นกลางหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย เริ่มมองไปทางตะวันตก และพยายามปลดปล่อยตัวเองจากอิทธิพลของโซเวียต การเข้าร่วมสหภาพยุโรปไม่เพียงให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์ด้านความมั่นคงด้วย

 

ซาร์กกา นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ กล่าวว่า การเข้าร่วมกับ NATO เป็นการคิดการใหญ่เกินไปสำหรับฟินแลนด์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่ตอนนี้ชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่เชื่อว่า พวกเขาพร้อมแล้ว

 

ภาพ: Hannibal Hanschke / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising