×

ณัฏฐ์ กิจจริต พระเอก APPWAR กับชีวิตที่ไม่ฟิตอินกับผู้คนและสังคมรอบตัว

09.07.2018
  • LOADING...

นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต คือหนุ่มเซอร์ จบสถาปัตย์ ที่กำลังจะมีผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก APPWAR แอปชนแอป แต่ถ้าได้ลองลูบเคราอ่อนๆ บุคลิกเรียบนิ่ง แววตาขี้เล่นของเขา แล้วย้อนกลับไปดูผลงานก่อนหน้า โดยเฉพาะภาพยนตร์โฆษณาหลายต่อหลายชิ้นอย่าง Heartbeat…จังหวะจะรัก ครบรอบ 70 ปีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, RiAeDo ของ Eversense Thailand และ CAN The Series ของ KTC เชื่อว่าหลายคนจะรู้สึกตรงกันว่าเขาคือ ‘พระเอก’ ที่เปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ในงานแสดงแต่ละเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

 

ระหว่างนั่งคุยเพื่อทำความรู้จักกับ ‘บอมบ์’ ตัวละครล่าสุดที่เพิ่งสวมบทบาทจบไปใน APPWAR เขาได้เล่าถึงเงื่อนปมบางอย่างที่ดูเหมือนว่าระหว่าง ‘บอมบ์’ และตัวจริงของ ‘นัท’ ต่างก็เคยเจอกับประสบการณ์ ‘ชีวิตที่ไม่ฟิตอินกับผู้คนและสังคมรอบตัว’ มาเหมือนกัน ตรงจุดนี้นี่เองที่ทำให้ THE STANDARD รู้สึกว่าผู้ชายคนนี้มีมุมน่าสนใจ ควรจะทำความรู้จักกับเขาไว้ ก่อนที่หนังเรื่องแรกในชีวิตของเขาจะเข้าฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

 

ภาพยนตร์โฆษณา Heartbeat…จังหวะจะรัก ครบรอบ 70 ปีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

 

บอมบ์คือกระจกที่สะท้อนตัวละครทุกคน เพราะคนส่วนใหญ่พยายามจะปรับความชอบของตัวเองเพื่อให้เข้ากับคนในสังคม แต่ทางที่บอมบ์เลือกคือ กูมีหลายสังคมได้ ไม่ซีเรียส

ตอนนี้ APPWAR แอปชนแอป การแสดงชิ้นล่าสุดของคุณกำลังมีคนจับตารอชมเยอะมาก เล่าให้ฟังหน่อยว่าสำหรับคุณมันคือหนังแบบไหน และต้องการจะสื่อสารอะไร  

APPWAR เป็นหนัง Coming of Age ของคน 7 คนที่แบกปมในใจอยู่คนละปม บางคนหนัก บางคนเบา แต่ทุกคนจะมีปมของตัวเอง ในเรื่องทั้ง 7 คนจะแยกกันเป็น 2 ทีม พวกเขาอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งหนังจะพูดถึง ‘การประสบความสำเร็จ’ ในมุมที่แตกต่างกันคนละแบบ คนบางคนมองอะไรที่มันเป็นรูปธรรมหน่อย อย่างเงินหรือชื่อเสียง แต่บางคนอาจจะมองแค่เรื่องเล็กๆ อย่างการมีที่ยืนในกลุ่มเพื่อน การมีที่ยืนในสังคม ซึ่งเรื่องพวกนี้อาจจะไม่ได้เล่าโดยตรงผ่านไดอะล็อก แต่มันจะถูกเล่าผ่านเรื่องราวในหนัง”  

 

ถ้าตัวละคร ‘บอมบ์’ ที่คุณแสดงคือเพื่อน ช่วยเล่าถึงเพื่อนคนนี้หน่อย

“สำหรับผม บอมบ์ก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่ความชอบของเขาหลายๆ อย่างมันไม่ฟิตอินกับคนในสังคมรอบตัว ยกตัวอย่างเราอยู่ในกลุ่มเพื่อนเดียวกัน แต่ผมชอบเล่นบันจี้จัมป์อยู่คนเดียว  

 

“การที่บอมบ์มีปัญหาอย่างนี้ มันทำให้บอมบ์ต้องมีหลายสังคม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแปลกหรือไม่ดีนะครับ เพราะถ้าได้ติดตามทั้งเรื่อง บอมบ์คือกระจกที่สะท้อนตัวละครทุกคน เพราะคนส่วนใหญ่พยายามจะปรับความชอบของตัวเองเพื่อให้เข้ากับคนในสังคม แต่ทางที่บอมบ์เลือกคือ กูมีหลายสังคมได้ ไม่ซีเรียส”

 

คิดว่า ‘บอมบ์’ กับตัวจริงของคุณ เหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง

“ความคล้ายอย่างเดียวของผมกับบอมบ์คือตั้งแต่เรียนมัธยมต้น ผมรู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้นว่าชอบวาดรูป แต่ด้วยความที่เป็นสังคมโรงเรียนชายล้วน เพื่อนเขาก็จะเล่นกีฬา ดนตรี เตะบอล ฯลฯ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มแบ่งสังคมของผม คือทั้งวันเราก็เล่นกับเพื่อนตามปกติ แต่ตอนเย็นแทนที่พ่อแม่จะมารับลูกตอนบ่ายสาม ก็กลายเป็นต้องมารับตอน 5 โมงเย็น เพราะเราต้องนั่งติวศิลปะเพิ่ม นั่นคือการแบ่งสังคม

 

“พอเข้ามหาวิทยาลัย เราเรียนคณะสถาปัตยกรรม คนในคณะจะ value กับงานอีกแบบหนึ่ง ชอบเสพงาน ชอบงานศิลป์ แต่เราดันมีโลกของการแสดงอีก ซึ่งถามว่าเพื่อนเขาอินไหม เขาก็อิน แต่อินบางๆ ไม่ได้มีความสุขกับการแสดงเหมือนเรา ฉะนั้นทางเลือกในการใช้ชีวิตของผมเลยคล้ายกับบอมบ์ (คาแรกเตอร์ใน APPWAR) นั่นคือการที่เรามีอีกสังคม ไปพร้อมกับอีกสังคมซึ่งจะชอบอะไรเหมือนกัน เพราะเรามีหลายบทบาทในชีวิต…มันไม่ใช่ว่าเราใส่หน้ากากนะครับ แต่มันคือเหลี่ยมที่เราต้องการจะหันเข้าไปเฉยๆ”

 

ภาพยนตร์โฆษณา RiAeDo ของ Eversense Thailand

 

พอเข้ามหาวิทยาลัย เราเรียนคณะสถาปัตยกรรม คนในคณะจะ value กับงานอีกแบบหนึ่ง ชอบเสพงาน ชอบงานศิลป์ แต่เราดันมีโลกของการแสดงอีก ซึ่งถามว่าเพื่อนเขาอินไหม เขาก็อิน แต่อินบางๆ ไม่ได้มีความสุขกับการแสดงเหมือนเรา

ถ้าทุกตัวละครใน APPWAR มีปม แสดงว่าปมของบอมบ์คือการไม่ฟิตอินกับสังคมรอบตัว…

“ผมว่าบอมบ์ไม่ได้คิดว่ามันเป็นปม แต่บอมบ์คือตัวแทนของคนที่เป็นแบบนี้ เขารู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียความชอบด้านใดด้านหนึ่งไป เพราะเขาหาที่อยู่ให้กับความชอบทุกอย่างของตัวเองได้”  

 

ตัวคุณเองล่ะ ในชีวิตจริงมองว่ามันเป็นปมหรือเปล่า

“มองนะครับ มันเป็นปมสำหรับผม เพราะย้อนกลับไปเรื่องที่ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป เราจะโดนอาจารย์ศิลปะส่งไปแข่งขันที่โน่นที่นี่ สมมติไปแข่งแล้วได้รางวัล มันไม่มีใคร value ศิลปะชิ้นนี้ร่วมกับเรา ฉะนั้นเราทำดีแค่ไหนเราก็รู้สึกคนเดียว มันไม่เหมือนกับถ้าไปเตะบอลชนะมาคือมึงเก่ง ด้วยความที่สังคมชอบอะไรแบบนั้น

 

“เช่นกันกับพาร์ตการแสดงของผม มันไม่ใช่ว่าเพื่อนดูถูกหรืออะไรนะครับ แค่เขาไม่อิน อย่างสมมติผมไปถ่ายงานกลับมาตีสอง ตีสาม เราทำงานเหนื่อยมาก รอจนถึงวันที่งานจะออนแอร์ ฟีดแบ็กทางโซเชียลเน็ตเวิร์กดีมาก แต่เพื่อนผมจะเฉยๆ ทั้งที่คนที่ผมอยากให้อินไปกับผมมากที่สุดคือเพื่อนพวกนี้ พอเป็นแบบนั้นความรู้สึกมันเลยแบบ ถ้ามันอินสักนิด เฮ้ย กูได้ดูงานโฆษณาเซ็นทรัลของมึงแล้วว่ะ (Heartbeat…จังหวะจะรัก ครบรอบ 70 ปีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล) ผมจะแฮปปี้มากเลย คือผมไม่ได้นอยด์นะครับ ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันหนักหนามาก เพียงแต่ถ้าวันหนึ่งงานของเราถูกยอมรับสักนิดหนึ่งจากคนที่เราต้องการให้เขายอมรับ มันจะทวีคูณความดีใจ”

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ App War แอปชนแอป

 

ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป เราจะโดนอาจารย์ศิลปะส่งไปแข่งขันที่โน่นที่นี่ สมมติไปแข่งแล้วได้รางวัล มันไม่มีใคร value ศิลปะชิ้นนี้ร่วมกับเรา ฉะนั้นเราทำดีแค่ไหนเราก็รู้สึกคนเดียว มันไม่เหมือนกับถ้าไปเตะบอลชนะมาคือมึงเก่ง ด้วยความที่สังคมชอบอะไรแบบนั้น

ยังมีความไม่ฟิตอินอื่นๆ อีกไหมที่คุณเจอในชีวิตจริง  

“ยังมีอีกนะครับ ย้อนกลับไปผมเคยเป็นศิลปินฝึกหัดของบริษัทหนึ่ง ซึ่งสเตอริโอไทป์ของศิลปินที่เขาต้องการมันไม่ฟิตอินกับเรา แล้วพอไปอยู่ตรงนั้น บวกกับความที่เราใหม่ มันเลยกลายเป็นปมทางการแสดงของผม เพราะเราจะถูกแหย่ตลอดว่า ‘เตี้ย’ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจ  

 

“จนกระทั่งวันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าอยู่ตรงนั้นแล้วไม่แฮปปี้ ผมก็เลยขอเขายกเลิกสัญญา แล้วหลังจากนั้นมาหนึ่งปีผมไม่มีงานเลย แต่ผมก็ยังไม่ลงเรียนการแสดง  ผมโชคดีมากเพราะตลอดปีนั้นผมได้เจอกับเพื่อนร่วมคลาสที่พลังงานดีมาก และมันทำให้ความเข้าใจเรื่องแอ็กติ้งของผมมันเปลี่ยน ผมเริ่มซื่อสัตย์กับตัวเองได้มากขึ้น ชิลกับตัวเองมากขึ้น

 

“เรามีทรัพยากรทางกายภาพแค่นี้ แต่ถ้าเราถูกนำเสนอเฉพาะเรื่องแอ็กติ้ง เราจะใส่เต็ม สิ่งเหล่านี้มันเริ่มพิสูจน์ตัวเอง เพราะหลังจากนั้นเริ่มกลับมาได้งาน เราเริ่มได้ร่วมงานกับผู้กำกับเก่งๆ อย่าง พี่โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ได้เจอกับ พี่อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ได้เจอ พี่เสือ-ยรรยง คุรุอังกูร (ผู้กำกับ APPWAR แอปชนแอป)

 

“เรามีโอกาสทำงานกับคนที่มีแพชชันด้านการแสดงล้วนๆ คนเหล่านี้เขามองข้ามเรื่องกายภาพไปเลยนะ เพราะทุกครั้งผมจะโดนคอมเมนต์แต่เรื่องแอ็กติ้ง โดนคอมเมนต์แต่เรื่องงาน ลงท้ายฟีดแบ็กของผลงานไม่ว่าจะหนังสั้นหรือหนังโฆษณาหลายชิ้นก็เริ่มดี มันช่วยเสริมความมั่นใจของเราให้กลับมาว่า ต้องโฟกัสให้ถูกที่ เราเป็นนักแสดง เราควรโฟกัสที่แอ็กติ้ง แล้วพอเราโฟกัสกับมันชัดขึ้น ทุกอย่างก็เริ่มชิล ผมเริ่มชอบตัวเองมากขึ้น ซื่อสัตย์มากขึ้น

 

“นึกภาพชีวิตคือวงกลมใหญ่ๆ ผมเริ่มชัดแล้วว่าใครควรอยู่ในวงกลม ผมรู้แล้วว่าใครคือคนที่ผมต้องแคร์ และใครคือคนที่ควรอยู่วงกลมรอบนอก ซึ่งมันต้องจัดลำดับให้ถูก”

 

พูดได้ไหมว่าเราเรียนรู้เรื่องพวกนี้จากการแสดง

“พูดได้เลยครับว่าเป็นเพราะการแสดงจริงๆ”

 

ได้ยินคุณพุดเรื่องแวดวงนักเรียนสถาปัตย์ น่าสนใจเหมือนกันว่าการเรียนออกแบบตึกหรืออาคาร มันสามารถนำมาปรับใช้กับการแสดงได้บ้างไหม  

“สิ่งที่ดีที่สุดเลยนะของการเรียนสถาปัตย์ ในความคิดผมคือเรื่องของความละเอียด สอง เราสามารถทำงานได้ทน สาม คือหลักการวิเคราะห์

 

“สถาปนิกหนึ่งคนจะทำสักหนึ่งโปรเจกต์ นั่นหมายความว่าเขาต้องเรียนรู้ใหม่ทุกโปรเจกต์ เพราะไซต์งานในการออกแบบแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เหมือนกัน ลักษณะตึกไม่เหมือนกัน บริบทในการสร้างและออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมย่อมไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกันการแสดงที่แต่ละตัวละครก็มีความตื้น ลึก หนา บางของตัวละครที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเวลาที่เราได้รับโจทย์การแสดงมา เราจะรู้แล้วว่าเดี๋ยวเราต้องเริ่มต้นใหม่ นั่นคือกลับไปทำความเข้าใจตัวละคร และเวิร์กไปข้างหน้าพร้อมกับตัวละครนั้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising