×

รู้จักกับ WELL Building Standard เทรนด์มาตรฐานอาคารใหม่ที่เป็นห่วงสุขภาพของผู้อาศัยอย่างแท้จริง

16.09.2019
  • LOADING...
WELL Building Standard

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สุขภาวะที่ดีจากการใช้อาคารคือเทรนด์ใหม่ที่โลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต และนั่นเป็นที่มาของมาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาพอย่าง WELL Building Standard 
  • WELL Building Standard คือมาตรฐานทางสุขภาวะระดับสากลที่ประเมินอาคารภายใต้แนวคิดสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ อากาศ น้ำ สาธารณูปโภค แสง การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อม และจิตใจ
  • โครงการ ANIL Sathorn 12 คือโครงการที่พักอาศัยแห่งแรกของไทยที่ผ่านการรับรอง WELL Precertified for Multifamily Residential Project, Gold Level ซึ่งการนำร่องพัฒนาอาคารโดยใช้มาตรฐาน WELL คือความตั้งใจที่จะยกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยของ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน)

จากสถานการณ์ฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนน่าใจหายในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพการณ์ของภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน และยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันโดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเลยแม้แต่น้อย 

 

วงการอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรโลกในปริมาณที่สูงมาก และบ่อยครั้งที่การก่อสร้างอาคารจะสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมาตรฐานระดับโลกซึ่งประเมินประสิทธิภาพการใช้งานทรัพยากรของอาคารเพื่อให้การออกแบบอาคารคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ก็เข้ามาทำให้หลายๆ อาคารในประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีในเชิงของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

 

แต่เพียงแค่การออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป THE STANDARD ขอชวนผู้อ่านมาร่วมทำความรู้จักกับ WELL Building Standard อีกหนึ่งมาตรฐานระดับสากล เทรนด์ของอาคารยุคใหม่ที่จะยกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยให้หันมาใส่ใจสุขภาพของผู้ใช้อาคารกันอย่างจริงจัง

 

WELL Building Standard

 

WELL Building Standard มาตรฐานใหม่ที่จะตอบโจทย์สุขภาพในปัจจุบัน

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเสวนา WELL BUILDING STANDARD The Next Chapter of ECO-Living’s Revolution เพื่อเผยถึงเทรนด์ของอาคารยุคใหม่ที่จะตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัยซึ่งคำนึงถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น 

 

WELL Building Standard คือมาตรฐานทางสุขภาวะที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศแคนาดา โดยภายหลังทางผู้จัดตั้งได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้พัฒนามาตรฐาน LEED จากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งสถาบัน IWBI (International WELL Building Institute) เป็นมาตรฐานแรกของโลกที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพการอยู่อาศัยของผู้ใช้อาคาร เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในปัจจุบันได้ 

 

โดยก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้ง IWBI มาตรฐานด้านสุขภาพเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ในมาตรฐานอื่นๆ อย่าง LEED หรือ ISO ซึ่งมักจะเน้นไปที่การบริหารทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของอาคาร เพื่อให้เป็นอาคารที่สามารถลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมได้ และเพื่อให้อาคารที่ออกแบบภายใต้มาตรฐานเหล่านั้นเป็นอาคารที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ หรือที่เราเรียกว่า ‘อาคารเขียว’ กันได้เป็นส่วนใหญ่ 

 

“ความจริงคือโลกเปลี่ยนไปแล้ว ถึงวันนี้เราหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ มลพิษบนโลกก็ไม่ได้จะหายไปทันที เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เป็นอยู่ด้วย สิ่งที่เราต้องทำคือการทำสองสิ่งนี้ควบคู่กันไป ทั้งเพิ่มคุณภาพการอยู่อาศัยและลดปริมาณของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือก็คือการออกแบบโดยใช้มาตรฐาน WELL และ LEED ผสานกัน” 

 

รศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองประธานสถาบันอาคารเขียวไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอฟริคัส จำกัด อธิบายว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการออกแบบอาคารเขียวยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่การเป็นอาคารเขียวอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องคำนึงถึงสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยอย่างจริงจังด้วย

 

WELL Building Standard

 

มาตรฐาน 7 ด้านเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารทุกคน

WELL Building Standard มีรูปแบบการประเมินอาคารอย่างชัดเจน ภายใต้แนวคิดที่สำคัญ 7 ข้อ อันมีองค์ประกอบเบื้องต้นดังนี้

 

1. Air (อากาศ) คุณภาพของอากาศต้องบริสุทธิ์ ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่น PM2.5 และมีความชื้นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย

 

2. Water (น้ำ) น้ำที่ใช้ในอาคารต้องสะอาด ปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์การคัดกรองที่ดี ไม่มีสารตะกั่วหรือสารพิษอื่นๆ เจือปนในระบบ

 

3. Nourishment (สาธารณูปโภค) คือการมีอาหารสดใหม่ ไร้สารพิษ มีการปรุงอย่างถูกสุขลักษณะและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย 

 

4. Light (แสง) การมีแสงที่ดีต้องไม่ใช่แค่มีความสว่างในเชิงปริมาณ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ การแยงตา และการมองเห็นสีด้วย

 

5. Fitness (การออกกำลังกาย) คือการมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้อาคาร

 

6. Comfort (สภาพแวดล้อม) สร้างสภาพแวดล้อมของการใช้งานอาคารให้มีเสียง แสง และอุณหภูมิที่ทำให้อยู่สบาย ปราศจากสิ่งรบกวน

 

7. Mind (จิตใจ) คือการเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายสบายใจ อาจใกล้ชิดธรรมชาติหรือทำให้มีบรรยากาศที่ร่มรื่น

 

“สิ่งหนึ่งที่ดีมากของ WELL คือ Post Construction Measurements หรือการประเมินหลังการก่อสร้างที่จะเข้ามาตรวจหลังอาคารสร้างเสร็จแล้วว่าอากาศดีจริงไหม น้ำสะอาดจริงไหม แสงสว่างถูกต้องไหม เสียงดังเกินไปไหม อุณหภูมิความชื้นถูกต้องไหม ได้มาตรฐานการอยู่อาศัยหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับอาคาร” รศ.ดร.อรรจน์ เล่าถึงข้อดีของ WELL ในการประเมินทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง ไปจนถึงหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ

 

อีกหนึ่งจุดเด่นของมาตรฐานนี้คือการมีตัวแปรที่สามารถวัดในเชิงปริมาณไม่ได้อย่างสภาพแวดล้อมและจิตใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์การประเมินหลัก โดยการประเมินจะใช้วิธีการให้ผู้ออกแบบเขียนอธิบายที่มาที่ไปของตัวโครงการตั้งแต่จุดเริ่มต้น ความตั้งใจของผู้ออกแบบ ความพยายามในการดำเนินโครงการ พร้อมกับอธิบายแนวทางการออกแบบที่สอดคล้องกับการใช้งานอาคาร ซึ่งเป็นตัวแปรอื่นๆ ที่สามารถวัดได้จากการใช้งาน

 

WELL Building Standard

 

เพิ่มคุณค่าให้กับการอยู่อาศัย ยกระดับมาตรฐานอาคารไทยไปสู่ระดับโลก 

ในมุมของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วรวรรต ศรีสอ้าน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงการตีความอาคารประเภท Luxury Condo ในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นว่า คำว่า Luxury หรือความหรูหรานี้ไม่ใช่ราคาขายแต่อย่างใด แต่คือการได้ใช้อากาศบริสุทธิ์ การได้ใช้น้ำสะอาด หรือการได้พักผ่อนอย่างเพียงพอภายใต้สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมลพิษ สิ่งเหล่านี้คือความหรูหรารูปแบบใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Luxury Redefined หรือการมองความหรูหราในมุมมองใหม่

 

“เมื่อเราหันมามองการให้ความสำคัญกับผู้อยู่อาศัย เราจึงตีความคำว่า Luxury ใหม่ให้เป็นความหรูหราจากข้างใน เราต้องการให้ผู้พักอาศัยมองความหรูหราเป็นสิ่งที่เขาให้เป็นของขวัญแก่ตัวเขาเอง และ WELL Building Standard คือของขวัญนั้นที่จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น” 

 

นอกจากนี้การสร้างอาคารที่พักอาศัยระดับ WELL Building Standard ยังเป็นความตั้งใจที่จะใช้มาตรฐานนี้ในการยกระดับมาตรฐานของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยต้องการเห็นพัฒนาการของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยที่สามารถไปถึงในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งหมดเพื่อที่ในปลายทาง คนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากจุดนั้นจะไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือผู้ใช้อาคารในประเทศไทยนั่นเอง

 

WELL Building Standard

 

ANIL Sathorn 12 อาคารแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก WELL

จากประสบการณ์ที่ยาวนานในการสร้างอาคารโดยคำนึงถึงมาตรฐานที่จะมอบประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างที่อาจเห็นได้ในโครงการ Park Ventures อาคารประเภทอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานอาคารแรกและอาคารเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์พลังงานชั้นดีเลิศ The first LEED® Platinum Mixed-use Building in Thailand ในปี 2554 บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับมาตรฐาน WELL และส่งต่อไปยังบริษัทในเครืออย่าง บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด จนทำให้ในที่สุดสามารถสร้างโครงการนำร่องที่นำมาตรฐาน WELL Building Standard เข้ามาใช้จริงได้อย่างโครงการ ANIL Sathorn 12

 

รชฏ วรรณกนก อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบี สตูดิโอ จำกัด ผู้ออกแบบอาคารนี้ ได้ร่วมอธิบายถึงแนวทางการออกแบบที่ประกอบไปด้วยความยากมากมายเมื่อเทียบกับการออกแบบและสร้างอาคารในสมัยก่อน ทั้งการออกแบบเพื่อตอบสนองมาตรฐาน WELL Building Standard ทั้งพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด และทั้งข้อจำกัดในเชิงของงบประมาณ

 

“เราต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องงบประมาณ ฟังก์ชัน ไปจนถึงเรื่องมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น LEED, WELL หรือ ADA ซึ่งคือการคำนึงถึงการใช้งานของทุกๆ คน ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชราและคนพิการ สิ่งเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถ้าไม่ได้เจ้าของที่เอาด้วยก็ไม่มีทางทำเรื่องพวกนี้ได้ ซึ่งอาคารที่ออกแบบตามมาตรฐาน WELL อย่าง ANIL Sathorn 12 คืออาคารที่มีความตั้งใจเริ่มต้นที่ดี โดยที่มีเจ้าของคอยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดโปรเจกต์นี้ขึ้นได้”

 

WELL Building Standard

 

โครงการ ANIL Sathorn 12 คือโครงการที่พักอาศัยแห่งแรกของไทยที่ผ่านการรับรอง WELL Precertified for Multifamily Residential Project, Gold Level ออกแบบโดยยึดแนวคิดสำคัญทั้ง 7 ข้อของ WELL Building Standard และนำมาทำให้เกิดขึ้นจริงในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันฝุ่นโดยใช้ประตูสองชั้นบริเวณทางเข้าเพื่อดักฝุ่นก่อนที่จะเข้าอาคาร การออกแบบให้เป็นอาคารที่หายใจได้ (Breathable Building) โดยใช้ช่องเปิดแบบ Full Height Glazing ที่เป็นหน้าต่างสูงโปร่งทั้งในส่วนล็อบบี้และห้องพัก การใช้ครีบอาคารที่สอดคล้องกับแนวคิดรีมกระดาษของโรงงานกระดาษซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมในการให้ร่มเงาและเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการใช้วัสดุธรรมชาติที่ไม่เป็นมลพิษต่อผู้อยู่อาศัย 

 

การออกแบบทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย เพื่อให้เกิดความหรูหราจากภายในที่เป็นแก่นแท้ เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้อาศัยที่เปลี่ยนไป และเพื่อให้ผู้ใช้ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising